กมธ.ปิโตรเลียมแจงยิบ ดันบรรษัทน้ำมันฯ รับเจอ”หม่อมอุ๋ย”จริง แต่มีพลเรือนด้วย

กมธ.ปิโตรเลี่ยม สนช. แจบยิบ ปม ม.10/1 รับเจอ “หม่อมอุ๋ย” จริง แต่มีพลเรือนด้วย ไม่กังวล คปพ.นัดม๊อบต้าน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่รัฐสภา พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน 6 สนช.ที่ผลักดันให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่การผลักดันไม่ใช่อยู่ดีจะทำ ไม่ได้สอดไส้ เพราะได้คุยกันหลายฝ่าย ทั้งในกมธ.ด้วยกันเอง ซึ่งก็มีทั้งอยากให้มีและไม่อยากให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่สุดท้ายก็สรุปให้มี ซึ่งเราก็เสนอไปยังรัฐบาล ทุกอย่างทำตามขั้นตอน ส่วนม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ออกคัดค้านและกล่าวว่ามี 6 สนช.ผลักดันเรื่องนี้จริงๆแล้วตนไม่เคยรู้จัก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไม่รู้กินยาอะไรมาจากไหนถึงได้ออกมาแบบนี้ อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมถือว่าจบในชั้นกมธ.แล้ว ต่อไปก็เรื่องของที่ประชุมใหญ่สนช.จะดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวไม่ได้กดดันอะไร และก็ไม่เคยกลัวใคร

ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกมธ.ฯ กล่าวถึงการบัญญัติมาตรา 10/1 ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 30 มีนาคมว่า ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยเคยหาแหล่งพลังงาน ได้เจอหลุมแก๊สในอ่าวไทย จึงหาบริษัทมาลงทุน แต่ไม่มีกฎหมายจึงได้ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เริ่มใช้บังคับมาเป็นเวลา 40 ปี มีพูดแค่เรื่อง “การให้สัมปทาน” เท่านั้น แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ทั่วโลกมีทั้งใช้วิธีสัมปทาน การแบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ โดยปีก่อนสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปิโตรเลียมดำเนินการศึกษาทางวิชาการ มีภาคประชาชน มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสปช. ซึ่งผลออกมามีทั้งการสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ นอกจากนั้น ผลการศึกษาบอกว่า ในการแบ่งปันผลผลิต จะต้องมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจ

พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวต่อว่า จากนั้น กมธ.ได้ศึกษาและได้ส่งไปยังรัฐบาล ขณะเดียวกัน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.ได้พาคณะที่มีทั้งทหารและพลเรือนไปพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ขณะนั้นจริง เพื่อชี้แจงผลการศึกษา จากนั้นรัฐบาลได้เสนอร่างมา โดยมี 3 วิธีการคือ การสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต จ้างบริการ อย่างที่ได้ศึกษา โดยกมธ.ได้ถามกลับไป 2 ครั้งแล้ว ครม.ก็ยังยืนยันแบบเดิม โดยให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อมแต่ให้มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาว่าลักษณะควรเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่ากฎหมายบังคับใช้แล้วตั้งได้ทันที จึงต้องเขียนไว้กลางๆ เพราะการปฏิบัติก็อยู่ที่รัฐบาลว่า จะไปทำอย่างไร เหมือนกับการปลูกบ้านที่ต้องออกแบบก่อน ส่วนที่มีมองว่ากรมพลังงานทหารจะเข้ามาร่วมบรรษัทด้วยนั้น คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายนี้รักษาการณ์โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนกรมพลังงานทหารขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหมมีไว้สำหรับป้องกันประเทศ ไม่ใช่ธุรกิจ เป็นคนละบทบาทหน้าที่กัน

Advertisement

เมื่อถามว่า มีความกังวลที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จะมาชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ไม่กังวล ความเห็นต่างหลากหลาย ถือว่าเป็นความงดงามในระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่เกรงว่า จะมีคนมีส่วนได้เสียมาร่วมบรรษัทฯในอนาคตนั้นก็อยากให้ดูรายชื่อคณะกรรมการพิจารณา อย่าง ตนก็ไม่ได้มีหุ้นในปตท. ไม่เคยคิดลงทุน จึงกล้ายืนยันแทน กมธ.ทั้ง 11 คนว่า ไม่มีส่วนได้เสีย ขณะเดียวกัน ตนก็ไม่กังวลว่า เมื่อกฏหมายบังคับใช้แล้วผลออกมาแล้วจะผิดเพี้ยนไป เพราะที่มาของมาตรา 10/1 มาจากการรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ต่อไปการเมืองจะมีการแทรกแซงหรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคตคาดการณ์ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image