“พายุฤดูร้อน” ทำฝนถล่มกรุง รอยล รับ ฝุ่น-มรสุมอ่าวไทย ตัวแปลคำนวณยาก วาฟยังเบลอ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า เมื่อเวลา 12.50 น. มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางในเขตบางพลัด ลาดพร้าว ดุสิต พญาไท ราชเทวี ห้วยขวาง วังทองหลาง บางกะปิ สะพานสูง สวนหลวง ประเวศ พระโขนง บางนา คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก ต่อเนื่องไปยังอ.บางน้ำเปรี้ยว กำลังเคลื่อนตัวไปยังทิศเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อย โดยมีฝนตกหนักปริมาณสูงสุดอยู่ที่เขตหนองจอก เฉลี่ย 16.5 มิลลิเมตร และในเวลา 13.15 น. ฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางปกคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระพระนครชั้นใน

นายสมพงศ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า ฝนที่ตกในพื้นที่รองกรุงเทพฯ วันนี้ส่วนมากเคลื่อนตัวไปทางทิศทางกรุงเทพฯตะวันออก ทางเขตมีนบุรี จตุจักร ทำให้ขณะนี้เกิดน้ำรอระบาย 1 จุด ได้แก่ ถนนประชาราษฎร์สาย 2 จากแยกเตาปูน-ประชาชื่น มีความสูงประมาณ 10-15 เซ็นติเมตร ซึ่งทางสำนักการระบายน้ำก็เร่งสูบน้ำในบริเวณดังกล่าวแล้ว คาดว่าภายใน 1 ชั่วโมงก็สามารถเร่งระบายน้่ำออกจากพื้นที่ได้ ส่วนพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมรอบกรุงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานน้ำรอระบาย ทั้งนี้ สาเหตุที่ฝนตกในวันนี้คาดว่าสืบเนื่องมาจากพายุฤดูร้อน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฝนอาจไม่ได้ตกหนักเหมือนต่างจังหวัดในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนดูแลตัวเองจากการอากาศแปรปรวนในครั้งนี้ด้วย

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) กล่าวว่า โดยสภาพขณะนี้ ยอมรับว่าค่อนข้างจะคาดการยาก โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพ เนื่องจากมีตัวแปลหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ความชื้นจากอ่าวไทยที่ก่อตัวค่อนข้างแรง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในวันนี้ รายงานผลจากแบบจำลองสภาพอากาศ บอกว่า ฝนจะกระจายบางๆทั่วกรุงเทพ ฝนจะตกเฉลี่ย 5 มิลลิเมตร แต่ความจริงที่พบคือ ฝนตกหนัก แรง ในบางพื้นที่แคบๆ บางพื้นที่เท่านั้น เช่น ที่ซ.รางน้ำ ฝนตกหนักมากประมาณ 10 นาที แล้วหยุดเลย ในขณะที่บางพื้นที่ฝนไม่ตกเลย

“สาเหตุมาจาก ข้อมูลที่ใส่ลงไปในวาฟนั้นไม่มีข้อมูล ความร้อนจากตัวเมือง ปริมาณฝุ่นที่กระจายอยู่ในเมือง ดังนั้น เพื่อให้การคำนวนเรื่องการเกิดฝนในเมืองให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น สสนก.ร่วมกับกทม.ได้ทำข้อมูลขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ข้อมูลเรด้า คือ การเอาเรด้า 2 มุมมาทับซ้อนกับการวิเคราะห์ฝนในแนวดิ่ง และเอาไปทำแบบจำลองแบบใหม่ ที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึง 3 ชั่วโมง เรียกว่า คอมเพอร์สิทเรด้า ซึ่งเพียงพอต่อการวางแผนการระบายน้ำ คาดว่าแบบจำลองนี้จะใช้ได้ประมาณเดือนมิถุนายน นี้”ผู้อำนวยการ สสนก.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image