ยางใต้เดือด! รวมตัวไล่ผู้ว่าการยางฯบริหารไม่เสถียร หวั่นกลับมา 3 โลร้อยอีก

วันที่ 29 มีนาคม 2560 บริเวณด้านหน้าสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 9 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (สคย) ภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง- ปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท) สภาเครือข่ายยางและชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท), วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูป, ผู้แปรรูปยางรายย่อย, ผู้ประกอบการค้ายางดิบ- ยางรมรายย่อย, ผู้ค้าเศษยางรายย่อย, เจ้าของสวนคนกรีดยางรายย่อย, ผู้ค้าน้ำยางสดรายย่อยตลาดกลาง กว่า 30 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์ และแสดงจุดยืนในการเตรียมพร้อมเคลื่อนไหวขับไล่ คณะผู้บริหาร กยท.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากบริหารงานยางล้มเหลว

นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (สคย) กล่าวว่า องค์คณะผู้บริหารการยางชุดนี้ ไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้กับเจ้าของภาษีอย่างพวกเราเลย แต่กลับไปเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กลุ่มพ่อค้า จนกลไกการตลาดวันนี้มันพิกลพิการแบบไม่เคยมีมาก่อน ราคายางไม่มีเสถียรภาพ ขึ้นถึงโลร้อย-แล้วกลับหล่นมาที่ห้าสิบกว่า เพียงแค่เวลาไม่ถึงสองเดือน ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีหลักประกันอะไรได้เลยว่า มหาวิกฤติสามโล-ร้อยจะไม่เกิดขึ้นอีกในเร็วๆนี้ เราจำเป็นต้องเชิญคณะผู้บริหารชุดนี้ ให้ท่านลาออก ออก ให้ออก หรือต้องไล่ออก

โดยเราขอยื่นข้อเรียกร้อง ให้ผู้ว่าการยางและบอร์ดบริหารทัังคณะ ลาออกและหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ไว้วางใจในการทำงาน, หยุดการประมูลยางที่เหลือของ กยท. โดยเอายางที่เหลือ ไปใช้ในหน่วยงานโครงการของภาครัฐ ตามวัตถุประสงค์เดิม, เช็กสต๊อกยางที่เหลือ โดยให้ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบ, ตรวจสอบการไปดูงานต่างประเทศ ของคณะกรรมการบริหาร กยท. ซึ่งขัดคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ห้ามหน่วยงานภาครัฐดูงานต่างประเทศ, เร่งรัดโครงการ การใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 8 กระทรวง ตามโครงการใช้ยางในประเทศ 1 แสนตัน

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท) ได้กล่าวผ่านทางไลน์กลุ่มเครือข่ายขับไล่ กยท.ว่า การรวมตัวของเครือข่ายยาง 9 องค์กร เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของราคายางที่ผันผวน และต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวให้ทั่วโลกรับรู้ว่า เกษตรกรชาวสวนยางเอาจริง และทันทีที่เกษตรกรเริ่มรวมตัวกัน ราคายางก็สูงขึ้นทันทีเช่นกัน หลังจากราคายางตกลงมาเกือบ 2 เดือนแล้ว จึงเป็นนิมิตที่ดีที่จะสู้เพื่อปากท้องของพวกเรา ในขณะนี้พ่อค้าเริ่มแย่งกันซื้อยางซึ่งเป็นปกติธรรมดาในการเก็งกำไรของพ่อค้าหลังจากเครือข่ายยางประชุมเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ในวันที่28-29 มีค. ยางแผ่นดิบขึ้น 1.84 บาท/กก.และยางแผ่นรมควันขึ้น 2.93 บาท/กก.นี่แสดงให้เห็นว่าราคายางไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินแทรกแซงอย่างเดียว เพียงแต่ใช้สมองบริหารงานราคายางก็จะขึ้นตามอุปสงค์อุปทานมากกว่า

Advertisement

“ กยท.ขายยาง 3.1 แสนตัน ถึง 5 ครั้ง ยางจะลดต่ำลงครั้งละประมาณ 10 บาท/กก. นี่คือข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ย้อนหลัง ซึ่งทาง สยยท.ขอร้อง กยท.ว่า ยางที่เหลือ 107,000 ตันให้ใช้มติ กนย. ขายให้ อปท.เพียงการพูดคุยราคายางก็จะเด้งขึ้นทันที แต่อำนาจการขายอยู่ในมือ กยท.ซึ่งไม่ยอมตัดสินใจเพราะยาง 107,000 ตัน ยังเป็นหนามทิ่มแทงเกษตรกรอยู่ เพราะ กยท.ไม่ยอมขายให้ อปท.พวกเรามีสิทธ์สงสัย เพราะถ้ายังจะประมูลขายยางในสต็อก ราคายางก็จะตกลงอย่างที่ผ่านมา สยยท.อยากให้ กยท.ทำหน้าที่ ตาม พรบ.กยท. มาตรา 8 (3) (4) มาตรา 9 (3) ก็จะช่วยเกษตรกรได้ ในฐานะที่ กยท ได้ใช้เงินเดือนจากเงินเซสที่เก็บจากเกษตรกร กยท.จะต้องช่วยเหลือเกษตรกร ตาม พรบ. กยท. จึงจะถูกต้อง และว่านับจากนี้ไป พวกเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ กยท.ต่อไป เราจะไม่หยุดการเคลื่อนไหว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image