เลือกตั้งท้องถิ่น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

 

เรียกเสียงขานรับเกรียวกราว เมื่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 แย้มว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองของ ป.ย.ป.บอกว่า อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน

สำหรับรองประธาน สนช.ท่านนี้ ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการ ป.ย.ป.อีกด้วย

อีกเสียงที่กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่าทำได้โดยปกติ ไม่กระทบต่อโรดแมปและการทำงานของ กรธ.

Advertisement

แต่โดยหลักการควรเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ส่วนจะจัดก่อนจัดหลังแบบไหนดีกว่านั้นส่วนตัวไม่ขอให้ความเห็น

แต่เห็นว่ารัฐบาลต้องแก้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัติ ที่จะต้องสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ไม่ทราบว่ารัฐบาลดำเนินการแล้วหรือไม่

ฟังดู ยังมีความติดขัดในเรื่องกฎหมายอยู่ ดังนั้น การจะให้มีขึ้นในเวลาอันเร็ววัน คงเป็นเรื่องยาก

Advertisement

การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อไหร่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่มองกันว่า เป็นสัญญาณผ่อนคลายการเมืองจากผู้มีอำนาจมากกว่า

หลังจากเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ถูกขัดขวาง และกลายเป็นโมฆะตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยรัฐประหารในเดือน พ.ค.2557 ประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้งมา 3 ปีกว่า

การเลือกตั้งท้องถิ่น ได้แก่ อบจ., อบต. และอื่นๆ ก็พลอยถูกระงับไปด้วย

ก่อนหน้า 2 ก.พ.2557 ประเทศไทยล้ำหน้าชาติต่างๆ ในอาเซียนในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

มีการเลือกตั้งทุกระดับ ทั้งระดับชาติ หรือสนามใหญ่สนามเล็ก สนามรอง

นักการเมืองหลายคนเบื่อหน่ายการเมืองสนามใหญ่ ถอยลงไปเลือกตั้งนายก อบจ.ก็มี

นักการเมืองท้องถิ่นหลายท่าน ที่ยังรักษาการตำแหน่งท้องถิ่นในขณะนี้ มีวิสัยทัศน์ เป็นนักบริหารทีมีฝีมือ สายตายาวไกล นำพาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า

ที่นำพาท้องถิ่นไปในทิศทางตรงกันข้าม ย่อมมีเป็นธรรมดาเหมือนกัน

การเลือกตั้ง ย่อมมีคนโกง มีคนซื้อเสียง แต่มีกลไกคือกรรมการเลือกตั้งขึ้น โดนใบเหลืองใบแดงกันไปมากแล้ว ไม่เว้นว่าสายคนดีคนเลว

จุดสำคัญคือ ประชาชนได้ใช้สิทธิ ใช้วิจารณญาณ เลือกผู้บริหารด้วยตนเอง

และเริ่มเคยชินกับระบบ เห็นคุณค่าของระบบนี้แล้ว

เสียงตอบรับการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงไม่ได้มีความหมายแคบๆ แค่เสียงของนักการเมืองที่จะลงสนามเท่านั้น

แต่ยังหมายถึง การตอบรับต่อสัญญาณของการคืนสู่วัฒนธรรมการเมืองปกติอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image