‘Les Parisiens’ ฝันโรแมนติกของช่างภาพหนุ่มในปารีส

มีชื่อเป็นที่คุ้นเคยในแวดวงช่างภาพ ยืนระยะทำงานหลากประเภท ถ่ายงานมาหลายรูปแบบ ยึดมั่นกับการใช้กล้องฟิล์ม และเคยเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวการถ่ายภาพมาแล้ว 2 เล่ม

สำหรับช่างภาพการมีโฟโต้บุ๊กเป็นของตัวเองน่าจะเป็นความมุ่งหมายหนึ่งในการทำงาน

นิว-ศุภชัย เกศการุณกุล กอดภาพชุดนี้มากว่าสิบปี จนแปลงโฉมเป็นโฟโต้บุ๊กสำเร็จด้วยฝีมือของ สำนักพิมพ์สมมติ

ถือเป็นโฟโต้บุ๊กเล่มแรกของทั้งช่างภาพและสำนักพิมพ์

Advertisement
ศุภชัย เกศการุณกุล

“Les Parisiens” รวมภาพถ่ายจากกรุงปารีสที่ศุภชัยได้ไปใช้ชีวิตอยู่ 6 ปี เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ภาพทั้งสีและขาวดำกว่า 200 ภาพจากกล้องฟิล์ม ถูกเรียงร้อยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยหนุ่ม เผยตัวให้เห็นแล้วในงานสัปดาห์หนังสือฯนี้

ส่วนใครอยากชมผลงานให้เต็มอิ่ม มีงานแสดงภาพถ่าย Les Parisiens จะแสดงไปถึงปลายเดือนพฤษภาคม ที่ร้านบาร์บาหลี บิสโทร ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมมา ที่เคยร่วมงานกับศุภชัยครั้งทำนิตยสาร OPEN กล่าวถึงงานชุดนี้ว่า เห็นรูปแล้วนึกถึงหนังเรื่อง Midnight in Paris ของ วูดดี้ อัลเลน

Advertisement

“ปารีสบรรจุช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ และความทรงจำของมนุษยชาติไว้เยอะมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีความทรงจำแบบไหน มีความรักยังไง ปารีสเป็นฝันหวานของคนหลายคน ไม่แปลกใจว่าทำไมนิวหวนสู่ความฝันนี้บ่อยๆ ปารีสโรแมนติก ชวนให้เราหลงใหล

“หนังสือเล่มนี้อยู่ในความฝันของช่างภาพคนหนึ่งถึงความทรงจำสวยงามในปารีส” ภิญโญกล่าว

บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือที่ร้านบาร์บาหลี บิสโทร ถนนพระอาทิตย์

ทางช่างภาพเจ้าของผลงาน “ศุภชัย” เล่าว่า ปีนี้เป็นการกลับมาจากปารีสครบปีที่ 10 พอดี เริ่มแรกตอนทำงานที่นิตยสารโอเพ่น OPEN ตั้งใจจะทำภาพชุดนี้เป็นโฟโต้บุ๊ก แต่ใช้ทุนเยอะ ต่อมาได้เขียนหนังสือ In Paris เล่าเรื่องราวและภาพถ่ายช่วงอยู่ปารีส โดยพับโปรเจ็กต์โฟโต้บุ๊กไป

“ผลงานนี้เป็นปารีสที่ไม่ใช่ในมุมการท่องเที่ยว แต่เป็นการใช้ชีวิตช่วงวัยหนุ่ม ความเป็นช่างภาพอยู่ที่ไหนก็ต้องถ่ายภาพอยู่แล้ว ผมถ่ายภาพตั้งแต่วันแรกที่ไปปารีส เป็นผิวของเมือง ผมเห็นสถานที่ท่องเที่ยว ร้านกาแฟ มิวเซียม เมื่อกลับมาดูภาพชุดแรกผมไม่พอใจจากนั้น 3-4 ปีจึงไม่ได้ถ่ายภาพเลย แต่พอมีลูกคนแรกและรู้ว่าจะกลับบ้าน ช่วง 1 ปีจากนั้นผมจึงออกไปถ่ายรูปทุกวัน อาจเพราะผมใช้ชีวิตจนรู้ว่าคนที่นั่นเขาใช้ชีวิตยังไง คนปารีสสนใจเรื่องอะไร ในหนังสือพิมพ์เขาพูดอะไรกัน ใช้เวลาว่างไปกับอะไร งานผมเลยเน้นไปที่ชีวิตคน แต่ถึงอย่างไรผมก็เป็นคนนอกอยู่ดี”

ภาพของศุภชัยสวยงาม โรแมนติก ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนภาพเมืองอย่างรอบด้าน ศุภชัยอธิบายว่า คนปารีสมีทั้งที่ดีและไม่ดี แต่เขาพบคนที่ดี

“ในหนังสือผมบรรยายไว้ว่าปารีสก็มีที่ไม่สะอาด มีอะไรไม่น่าดู แต่ผมเลือกที่จะไม่ถ่ายภาพเหล่านั้น ผมอยากเก็บความทรงจำที่ดี เพราะความทรงจำเกี่ยวกับปารีสสำหรับผมคือ สิ่งที่ดี สิ่งที่ได้จากปารีสคือ ลูกชายและหินก้อนหนึ่ง เป็นหินรูปลูกเต๋าที่ทางเท้าหน้าบ้าน ซึ่งเขากำลังจะเปลี่ยนเป็นซีเมนต์ ผมเก็บกลับมาเพราะอะไรไม่รู้ เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้” เขาเล่าพร้อมรอยยิ้มระบายบนหน้า

หากให้อธิบายปารีสในความหมายของเขา ศุภชัยบอกว่า สำหรับเขา ปารีส คือความทรงจำวัยหนุ่ม เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต เขาไปปารีสในวัย 28 ได้ทำงานและเห็นโลกมาบ้างแล้ว การไปปารีสจึงช่วยเติมเต็ม

“เหมือนเป็นครีมของคาปูชิโน่” เขาบอก

ปารีสสำหรับศุภชัยจึงอาจไม่ใช่ความหมายเชิงสถานที่แต่เป็นความทรงจำ

“ถ้าวันนั้นเราเลือกบาร์เซโลน่า ที่นั่นอาจเป็นที่ๆ ดีของเราก็ได้ แต่โดยชะตากรรมแล้วมันถูกวางไว้แบบนี้”

อาจพูดได้ว่าผลงานลักษณะเดียวกับ “Les Parisiens” จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วจากช่างภาพที่ชื่อศุภชัย เพราะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ความสนใจในการถ่ายภาพของเขาเคลื่อนไปจับอยู่ที่อื่น

“การทำงานกับเมืองอื่นในลักษณะนี้ คงทำไม่ได้แล้ว เพราะต้องใช้เวลามาก การทำความเข้าใจเมืองหนึ่งต้องใช้เวลา ถ้าทำอีกคงถ่ายได้แค่ผิว สิบปีที่อยู่กับงานชุดปารีสนี้นานพอแล้ว เมื่อสำเร็จความตั้งใจแล้วจะได้ไปทำเรื่องอื่นสักที

“ตอนนี้สนใจงานพอร์เทรต อาจยากหน่อยหากงานต่อไปคิดจะรวมภาพพอร์เทรต จะมีกี่คนที่เอารูปคนอื่นมาแขวนบ้าน ยากที่คนอื่นจะเข้าใจวิธีการถ่ายพอร์เทรต ที่ไม่ใช่ภาพที่ดูสวยงามเฉยๆ แต่เป็นพอร์เทรตที่เล่าบุคลิกภาพของคนๆ นั้น ถ่ายทอดออกมาว่าเขาเป็นคนยังไง พยายามฝึกฝนและทำความเข้าใจกับมันอยู่”

สำหรับคนอ่านที่หยิบหนังสือภาพ “Les Parisiens” ขึ้นมา ศุภชัยบอกว่า จะเจอ “ปารีสที่เป็นปารีสของผม”

เขายิ้มก่อนอธิบายว่า คล้าย Midnight in Paris ของวูดดี้ อัลเลน เป็นปารีสซึ่งไม่เหมือนของคนอื่น ไม่เหมือนปารีสของการท่องเที่ยว

“ปารีสของแต่ละคนไม่มีทางเหมือนกันแน่นอน ปารีสของผมก็ไม่เหมือนคนอื่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image