‘เอ็กซ์-37บี’ สเปซเพลน ทำสถิติใหม่ในวงโคจร

ภาพ-U.S. Air Force

อวกาศยานอัตโนมัติไร้นักบิน “เอ็กซ์-37 บี” ทำสถิติใหม่ปฏิบัติการอยู่ในวงโคจรยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของโครงการ 675 วัน นับถึงวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ทำลายสถิติเดิมที่ยานอวกาศรุ่นเดียวกันนี้เคยทำไว้ 674 วันระหว่างเดือนธันวาคม 2012 ถึงเดือนตุลาคม 2014 ทั้งนี้ จากถ้อยแถลงของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา โดยที่ปฏิบัติการดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงทำให้ยังไม่แน่นักว่า สถิติใหม่นี้จะลงเอยที่จำนวนกี่วัน

ภารกิจในวงโคจรซึ่งถูกจัดอยู่ในชั้นความลับดังกล่าวนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โอทีวี-4” (Orbital Test Vehicle-4 OTV-4) หรือการทดลองในวงโคจรครั้งที่ 4 โดย นาวาอากาศเอก แอนน์มารี แอนนิเซลลี โฆษกของกองทัพอากาศระบุว่า วันร่อนลงจอดนั้นจะถูกกำหนดในภายหลังโดยขึ้นอยู่กับว่าภารกิจที่กำหนดไว้ในการขึ้นสู่ห้วงอวกาศในครั้งนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด

“เอ็กซ์-37 บี” เป็นยานอวกาศพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่ใหญ่โตมากมายนัก กองทัพอากาศว่าจ้างให้บริษัทโบอิ้ง ผลิตขึ้นมา 2 ลำ ทั้ง 2 ลำถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในแนวตั้งด้วยจรวดส่ง แต่สามารถกลับสู่ชั้นบรรยากาศและร่อนลงได้ในแนวราบโดยอาศัยรันเวย์ แบบเดียวกับยานขนส่งอวกาศ สเปซ ชัทเทิล ที่ปลดระวางไปแล้วก่อนหน้านี้ เพียงแต่ เอ็กซ์-37 บี เหมือนสเปซ ชัทเทิล ย่อส่วนให้เล็กลง ความยาวเพียง 8.8 เมตรและสูงเพียง 2.9 เมตร โดยมีระยะห่างจากปลายปีกจรดปลายปีกอีกด้าน (วิงสเปน) 4.6 เมตร ในขณะที่สเปซ ชัทเทิล ยาวถึง 37 เมตร และวิงสเปนมีระยะถึง 24 เมตร

ปฏิบัติการและแม้แต่สัมภาระที่เอ็กซ์-37 บี นำขึ้นสู่วงโคจรถือเป็นความลับทางทหาร จนนำไปสู่ข่าวเล่าลือกันว่ามันคืออาวุธในห้วงอวกาศของสหรัฐอเมริกา แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าข่าวลือดังกล่าวไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะเอ็กซ์-37 บี มีขนาดเล็กเกินไปและไม่คล่องแคล่วจนเป็นอาวุธโจมตีหรือแม้แต่เข้าควบคุมดาวเทียมดวงหนึ่งดวงใดได้ ในขณะที่ทางกองทัพอากาศ แถลงกว้างๆ ว่า เอ็กซ์-37 บี มีวัตถุประสงค์หลัก 2 อย่าง คือการทดสอบเทคโนโลยีที่ใช้จัดสร้างยานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกอย่างคือการใช้เครื่องเพื่อดำเนินการทดลอง ที่สามารถนำมาตรวจสอบภายหลังบนภาคพื้นดินได้

Advertisement

แอนนิเซลลีกล่าวว่า เทคโนโลยีที่ถูกส่งขึ้นไปทดสอบในวงโคจรแล้วนำกลับมาตรวจสอบบนพื้นโลกดังกล่าว มีตั้งแต่ระบบนำทาง นำร่องและควบคุมแบบก้าวหน้า, ระบบเกราะป้องกันความร้อน, ระบบการบิน, ผนึกป้องกันความร้อนและโครงสร้างที่ทนทานต่ออุณหภูมิสูง ฉนวนกันความร้อนคงรูปที่นำกลับมาใช้ใหม่, ระบบการบินแบบ อีเลคโตรเมคานิคน้ำหนักเบา และระบบการบินอัตโนมัติในวงโคจร, การบินขึ้นและการร่อนลงจอด นอกจากนั้น ยังมีการทดลองตามความต้องการของห้องปฏิบัติการวิจัยกองทัพอากาศ (เอเอฟอาร์แอล) ระบบขีปนาวุธและอวกาศ (เอสเอ็มซี) และ สำนักงานสมรรถนะเคลื่อนที่เร็วของกองทัพอากาศ เป็นต้น แต่ไม่ขอระบุว่า ภารกิจโอทีวี-4 เป็นการทดสอบอะไร

ภารกิจทั้ง 4 ครั้ง ของ เอ็กซ์-37 บี เป็นการถูกส่งขึ้นจากฐานยิงจรวดที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ใน 3 ภารกิจแรกยานอวกาศอัตโนมัตินี้ร่อนลงที่ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

แค่ครั้งนี้ เอ็กซ์-37 บี อาจร่อนลงที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (เคเอสซี) ซึ่งอยู่ติดกับแหลมคานาเวอรัล เพื่อใช้รันเวย์เดิมของสเปซ ชัทเทิลนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image