กลุ่มค้านโครงการรัฐร่วมเสวนาสิทธิชุมชน 10 องค์กรภาคีสิทธิฯร้องรบ.หยุดสร้างความกลัว

วันที่ 31 มีนาคม 2560 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่อาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อำเภอเมือง  มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณจัดการเสวนา สิทธิชุมชน=สิทธิในการจัดการตนเอง  ขึ้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงผลกระทบ การถูกละเมิดสิทธิ รวมถึงแนวทางการในการจัดการของชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยมีตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯและโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โครงการท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการเขาคูหา  รวมถึงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมในวงเสวนาในครั้งนี้

 

โดยในเวทีเสวนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเฉพาะการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จนนำไปสู่การเกิดกระทบกระทั่งกัน จนมีผู้บาดเจ็บ ในโครงการท่อส่งก๊าซฯและโรงแยกก๊าซฯไทย-มาเลเซีย

 

Advertisement

นางรอกีเย๊าะ สะมะแอ ตัวแทนจากเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กล่าวว่า การรับฟังความเห็นในโครงการนี้นั้นไม่ได้เป็นการรับฟังอย่างแท้จริง ตั้งแต่ เวที ค.1 ค.2 และ ค.3 ซึ่งเป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิ์ของชุมชน อยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้สิทธิ์ที่บริสุทธิ์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตนเองและอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่าไม่ต้องการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีอยู่มากแล้ว แต่ต้องการการศึกษาเข้ามาในพื้นที่มากกว่า

 

“ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นมีชาวบ้าน 240 ครัวเรือน ที่จะต้องย้ายออกนอกพื้นที่หากมีโครงการนี้เกิดขึ้นมา มีทั้งวัด มัสยิด โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ชาวบ้านเพียงแต่ต้องการอยู่ในพื้นที่อย่างงาบ ไม่ต้องการย้ายถิ่นฐาน และกังวลว่า หากต้องย้ายถิ่นฐานก็จะกระทบต่อวิถีชีวิต อาชีพ จึงลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองและสิทธิของชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง”นายรอกีเย๊าะ กล่าว

Advertisement

จากนั้น องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร ร่วมออกแถลงการณ์ “หยุดการใช้อำนาจที่สร้างความหวาดกลัว – คืนประชาธิปไตยสู่สังคมไทย”  เรียกร้องรัฐบาลและ คสช.เร่งสร้างบรรยากาศทางสังคมการเมืองให้เข้าสู่ “สภาวะปกติ” โดยเร็ว เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนที่พึงมีตามหลักสากล โดย 1. รัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นวิถี ประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะ

 

2. สร้างหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวของประชาชน-พลเมืองกลุ่มต่างๆ โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล

 

3. การเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของประชาชนในปัจจุบัน ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปกป้องฐานทรัพยากร สิทธิชุมชน อันเกี่ยวพันกับวิถีดำรงชีวิต และการมีชีวิตสาธารณะที่เข้มแข็ง  “รัฐต้องโอบอุ้ม ปกป้อง คุ้มครอง และตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง” อย่างจริงจัง ที่สำคัญต้อง ไม่ลดทอน แบ่งแยก หรือผลักประชาชนให้เป็นคู่ตรงข้าม ภายใต้ปรากฏการณ์ผิวเผินของการเมืองเสื้อสี

 

4. การปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อาจเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมใหม่ที่พึงปรารถนาร่วมกันได้ เพราะสังคมประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเท่านั้น คือหนทางที่ควรจะเป็นการคืนอำนาจแก่ประชาชน

 

“การเร่ง “คืนความเป็นประชาธิปไตย” แก่สังคมเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วน เพื่อประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และได้“ผนึกพลัง” ร่วมกันผลักดัน เคลื่อนไหว และเรียกร้องการเข้าสู่สังคมที่ให้คุณค่าในสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตย และความเป็นพลเมือง อย่างจริงจังและต่อเนื่อง” แถลงการณ์ระบุและว่า ในส่วนกระบวนการยุติธรรมและระบบตุลาการ ต้องเป็นหลักค้ำจุนความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายที่ให้คุณค่ากับหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมองค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน

สำหรับภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กรนั้น ประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และสงขลาฟอรั่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image