ผอ.ศิลปากร ปราจีนฯ เผย 4,000 ปีก่อนมี”ชนชั้น”แล้ว!ชี้หลุมศพโคกพนมดีแบ่งโซน”รวย-จน”

ผอ.ศิลปากร ปราจีนฯ เผย 4,000 ปีก่อนมี”ชนชั้น”แล้ว! ชี้หลุมศพโคกพนมดีแบ่งโซน “รวย-จน” เร่งตั้งมิวเซียมสุดอลังการ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี นายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ซึ่งดูแล 7 จังหวัดภาคตะวันออก ได้กล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณดีโคกพนมดี ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ตอนหนึ่งได้ระบุถึงเรื่องราวของ “ชนขั้นทางสังคม” ยุคโบราณในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อราว 4,000 ปีก่อน ว่ามีการแบ่งชนขั้น และสถานะทางสังคมแล้ว เนื่องจากเมื่อวิเคราะห์ร้องรอยหลักฐานจากหลุมฝังศพนับร้อยหลุม พบว่า มีการแบ่งพื้นที่หรือโซนอย่างชัดเจน กล่าวคือ กลุ่มโครงกระดูกที่ไม่มีเครื่องประดับมากนัก หรือ อาจกล่าวได้ว่า เป็นคนจน หรือ สถานะทางสังคมระดับต่ำกว่า จะถูกฝังไว้แยกกับกลุ่มโครงกระดูกที่เต็มไปด้วยเครื่องประดับต่างๆ อาทิ ลูกปัดรูปตัวเอช และตัวไอ ทำจากเปลือกหอย รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายรูปแบบ

“แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ได้รับการขุดค้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว พบว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และหลุมฝังศพ ในจำนวน 178 โครง พบว่ามีทั้งหญิง ชาย และเด็กทารก ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยแค่ราว 45 ปี สุขอนามัยไม่ค่อยดี สำหรับวัฒนธรรมการฝังศพ มีการแบ่งชนชั้น โดยคนรวย พวกมีเครื่องประดับเยอะ อยู่คนละโซนกับคนจน ที่ไม่มีข้าวของฝังรวมกับศพมากนัก” นายเมธาดลกล่าว

ทั้งนี้แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี เป็นที่รู้จักจาก “นางพญาโคกพนมดี” ซึ่งเป็นโครงกระดูกสตรีที่มีเครื่องประดับจำนวนมหาศาลฝังร่วมด้วย โดยล่าสุด มีการดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ตามแนวคิดของนายสนธยา และสุกุมล คุณปลื้ม เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันแล้วเสร็จราว 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเสร็จสมบูรณ์กรมศิลปากรจะยังคงดูแล โดยมีแนวคิดจะส่งมอบแก่ท้องถิ่นเมื่อมีความพร้อมต่อไป

Advertisement

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image