ข่าวดี! กันยายนนี้ คาดได้ใช้กม.แข่งขันทางการค้าใหม่

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ร่างปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ทั้ง 3 วาระแล้ว โดยภายในเดือนเม.ย.นี้ สนช.จะส่งร่างแก้ไขกลับไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดจะมีผลบังคับใช้เดือนกันยายนนี้ พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์พฤติกรรมทางการค้า และเตรียมพร้อมแยกสำนักงานแข่งขันทางการค้าออกมาเป็นองค์กรอิสระ รวมถึงการคัดเลือกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (บอร์ด) ชุดใหม่

กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่จะส่งผลดีต่อการกำกับดูแลธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมกฎหมายจะใช้โทษอาญา ทำให้การดำเนินการต้องใช้ระยะเวลานาน แต่กฎหมายใหม่ได้เพิ่มโทษทางปกครองทำให้บอร์ดแข่งขันฯมีอำนาจในการสั่งหยุดพฤติกรรมได้ทันที และสั่งปรับโทษทางปกครอง เพื่อหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากธุรกิจที่ถูกโทษทางปกครองไม่เห็นด้วย สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน ส่วนโทษทางอาญาหากสรุปผลมีมูลความผิดชัดเจนแล้ว จะส่งให้อัยการทำเรื่องฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา จากเดิมจะส่งฟ้องศาลอาญาเท่านั้น

ทั้งนี้ รายละเอียดของกฎหมายมีการปรับปรุงหลักการ 5 พฤติกรรม ได้แก่ 1.พฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาด โดยเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดยังใช้เกณฑ์เดิม คือ ธุรกิจ 1 ราย ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท และธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 75% และมียอดขายในตลาดแต่ละรายเกิน 1,000 ล้านบาท จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด หากมีพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดกลั่นแกล้งรายอื่น มีโทษอาญาจำคุก 2 ปี ปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด จากเดิมมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.พฤติกรรมการควบรวมธุรกิจ โดยกฎหมายเดิมกำหนดให้การควบรวมธุรกิจจะต้องขออนุญาต หากไม่ดำเนินการจะมีโทษทางอาญาคือจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ธุรกิจที่ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องมาขออนุญาตการควบรวมกิจการ หากไม่ดำเนินการตามจะมีโทษทางปกครองคือปรับ 0.5% ของมูลค่าธุรกิจ ส่วนธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดแต่หากควบรวมแล้วมีผลต่อการผูกขาดแข่งขันในตลาด จะต้องมาแจ้งหลังควบรวมภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะมีโทษทางปกครองคือปรับ 2 แสนบาท และปรับรายวันอีก 1 หมื่นบาท/วัน

Advertisement

3.พฤติกรรมการตกลงร่วมกัน แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีธุรกิจแข่งขันแต่ไม่แข่งขันกันหรืออั้วกัน จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 10% และกรณีธุรกิจเป็นคู่ค้าแต่มีการฮั้วกันจนส่งผลกระทบต่อตลาด จะมีโทษทางปกครอง คือสั่งปรับ10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด ซึ่งกฎหมายเดิมไม่แบ่งพฤติกรรมและมีโทษเดียวกันคือจำคุก 3 ปี ปรับ 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.พฤติกรรมแข่งขันไม่เป็นธรรม คือธุรกิจที่มีพฤติกรรมกีดกันคู่แข่ง ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า กำหนดเงื่อนไขไม่เป็นธรรม จะมีโทษทางปกครองปรับ 10% และ 5.พฤติกรรมตกลงกับต่างประเทศที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาจะทำเป็นรายกรณีและดูจากพฤติกรรม เช่น ไม่มีเหตุผลทางธุรกิจ เศรษฐกิจเสียหายร้ายแรง ผู้บริโภคโดยรวมเสียประโยชน์ จะมีโทษทางปกครองปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image