The Museum of Innocence โลกของ ‘ออร์ฮาน ปามุก’ ผ่านสายตานักแปล ‘นพมาส แววหงส์’

ชื่อของ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนชาวตุรกีเป็นที่รู้จักทั่วโลกหลังได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2006

ผลงานสร้างชื่อของเขาคือวรรณกรรมการเมือง หลายเล่มมุ่งไปที่ประเด็นความขัดแย้งระดับชาติ การพูดถึงสิทธิเสรีภาพตามแนวคิดโลกตะวันตก ทำให้ปามุกถูกต่อต้านจากคนบางกลุ่มในตุรกีซึ่งเป็นสังคมมุสลิม

การตั้งอยู่ระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก กลายเป็นความสับสนขัดแย้งในสังคมและผู้คนของตุรกี

เหล่านี้สะท้อนออกมาในงานวรรณกรรมของเขา

Advertisement

และล่าสุด สำนักพิมพ์มติชนเพิ่งตีพิมพ์หนึ่งในผลงานของปามุก พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence)

ซึ่งที่น่าจะแตกต่างคือหนังสือเล่มนี้เป็น “นิยายรัก” แต่ยังคงสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมตุรกีได้อย่างชัดเจน

“ชอบสไตล์การเขียนของปามุก เขาเขียนละเอียดให้ภาพเหมือนเราอยู่ในนั้นจริงๆ”

“เล่มนี้ใช้เรื่องความรักเป็นแกนกลาง ขณะเดียวกันก็ให้เห็นถึงสภาพสังคม”

รศ.นพมาส แววหงส์ ผู้แปลที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาออกมาเป็นภาษาไทยกล่าวไว้

อ.นพมาสเคยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังเกษียณ ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรามคำแหง โดยมีงานประจำ คือ คอลัมน์ภาพยนตร์ในมติชนสุดสัปดาห์ และผลงานแปลหนังสือที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานแปลวรรณกรรมต่างประเทศหรือการแปลหนังสือธรรมะ เป็นภาษาอังกฤษ

20-40 เล่ม คือตัวเลขผลงานที่ผู้แปลคะเนอย่างกว้าง ด้วยเพราะไม่ได้นับอย่างจริงจัง

“รูปแบบงานแปลสมัยก่อนมีทั้งรายงานประจำปี งานโฆษณา งานวิจัย งานล่าม แต่หลังๆไม่ได้รับแล้ว อยากสบายๆ เดี๋ยวนี้เที่ยวเยอะ บางทีอยู่กรุงเทพฯน้อยกว่าไปท่องเที่ยวอีก” อ.นพมาสกล่าวด้วยรอยยิ้มสบายๆ

ส่วนผลงานแปลเล่มต่อไปของ อ.นพมาส น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับนักอ่าน โดยเฉพาะแฟนผลงานปามุก เพราะสำนักพิมพ์มติชนหยิบผลงานอีกชิ้นของปามุกมาตีพิมพ์ คือ “A Strangeness in My Mind” ซึ่งแปลโดยอ.นพมาสเช่นกัน

เล่มนี้ใช้เวลาแปลนานแค่ไหน?

ประมาณ5-6เดือน ถือว่าไม่เร็ว เคยแปลเร็วมากคือ A beautiful mind เล่มหนากว่านี้แปล 5 อาทิตย์ หลังจากนั้นไม่เอาแล้ว โดยเฉลี่ยปกติจะใช้เวลา5-6เดือน มีที่บางเล่มเป็นหนังสือคลาสสิก เล่มใหญ่ ยาว และยาก ใช้เวลาร่วมปีก็มี แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิน 6 เดือน

อ่านต้นฉบับเล่มนี้ครั้งแรกรู้สึกอย่างไร?

ชอบสไตล์ปามุกอยู่แล้ว เขาเขียนละเอียดให้ภาพต่างๆ เหมือนเราอยู่ในนั้นจริงๆ เป็นนักเขียนที่เก่งมาก ในแง่การเดินเรื่องที่รวดเร็วอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับพล็อตเหมือนหนังสือที่เราอยากรู้ว่าเรื่องจะเป็นยังไงต่อ แต่เล่มนี้เรื่องจะค่อยๆพัฒนา ตัวละครมีคาแรคเตอร์น่าสนใจ มีความเป็นมนุษย์ดีจังเลย…ชอบ (ยิ้ม)

หนังสือค่อนข้างหนา อยู่ที่การบรรยายหรือเปล่า?

การบรรยายไม่เยิ่นเย้อ การเขียนของเขาตั้งแต่บทแรกจับคนไว้ได้ทันที เหมือนเอาไคลแมกซ์ตอนกลางเรื่องขึ้นมา แต่ยังมีไคลแมกซ์ที่จะเผยต่อไปอีก บทแรกแล้วคนวางไม่ลงเลย คล้ายกับเรื่อง A Strangeness in My Mind ที่แปลอยู่ จับเอาจุดสำคัญของเรื่องขึ้นมาก่อน แล้วย้อนกลับไป เดี๋ยวนี้ลำดับเหตุการณ์ของนิยายอาจไม่ค่อยสำคัญ อะไรก็ตามที่เล่าแล้วจะขยายให้เห็นชัดเจน ปามุกมีจุดอยู่ในใจว่าต้องการนำเสนออะไร เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งคนหนึ่ง ไม่ใช่ในแง่สนุกสนานเร้าใจจนต้องติดตาม แต่อ่านแล้วจะเห็นความละเอียดของอารมณ์ เหตุการณ์ สถานที่ต่างๆ เหมือนเราไปอยู่ในนั้นจริงๆ

เคยไปตุรกีมาก่อน ตอนไปเที่ยว เราไปตุรกีแต่ไม่ได้รู้จักตุรกีจริงๆ แต่อ่านเล่มนี้แล้วเรารู้จักผู้คน รู้ความคิดอ่านของคนตุรกี น่าสนใจ เป็นงานเขียนที่มีคุณค่า อ่านแล้วรู้สึกว่าเราเข้าใจเพื่อนมนุษย์ แม้จะอยู่ต่างวัฒนธรรมกัน เราเกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น

แปลจากภาษาอังกฤษ มีปัญหาเรื่องการแปลข้ามภาษาบ้างไหม?

ไม่รู้ว่าในภาษาตุรกีเป็นอย่างไรแต่ต้นฉบับภาษาอังกฤษดีมาก ละเอียด กระจ่างแจ้ง รู้สึกได้ว่าคนแปลไม่ได้แปลไปเองหรือใส่อย่างอื่นเข้ามา เขาเก็บสิ่งต่างๆได้ละเอียดทีเดียว ส่วนวัฒนธรรมตุรกีที่เป็นมุสลิม เราก็พอรู้บ้างอย่างรอมฎอน กฎหมายชะรีอะห์ เป็นวัฒนธรรมมุสลิมซึ่งผสานเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมทั่วไป แต่ “ชื่อ” นี่สิยาก ก็ใช้วิธีการค้นอินเตอร์เน็ต จะมีการออกเสียงภาษาตุรกีที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก็เป็นไกด์ให้ได้ แต่เสร็จแล้วทางสำนักพิมพ์ช่วยส่งต้นฉบับให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาตุรกีดูอีกทีหนึ่ง ก็ใช้ตามนั้น

ผลงานสร้างชื่อของปามุกคือนิยายการเมือง แต่เล่มนี้เป็นนิยายรัก?

เป็นเรื่องรัก แต่จริงๆเขาใช้เรื่องความรักเป็นแกนกลาง ขณะเดียวกันก็ให้เห็นถึงสภาพสังคม ในเล่มนี้พระเอกเป็นคนรวยชั้นสูงของตุรกี สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของผู้คน เรื่องการเมืองคิดว่ามีน้อยมาก จะเป็นเรื่องสังคม ความหมกมุ่น รักแบบปักใจฝังใจ แต่ช่วงท้ายเป็นเรื่องพิพิธภัณฑ์ ช่วงหลังๆ จะทำให้เห็นถึงความฝังใจของคนและเข้าใจคนที่ทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นเยอะเลย ตัวละครในเรื่องเริ่มทำพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ของความรัก เก็บอะไรเล็กๆ น้อยๆ ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยสะสมของก็เลยเข้าใจว่าคนที่บ้าสะสมเป็นยังไง ได้เห็นทัศนะอีกแง่หนึ่ง เข้าใจเลยว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเล็กๆ ที่สร้างขึ้นมาทั่วโลก เหมือนเป็นความฝังใจของตัวเองที่อยากทำให้จับต้องได้ ความน่าสนใจคือวิธีการนำเสนอการจัดวาง

เนื่องจาก “เคมาล” ที่เป็นตัวเอกมีมรดกที่พ่อทิ้งไว้ให้ เขาเดินทางไปดูพิพิธภัณฑ์นับพันแห่งทั่วโลกเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง รู้สึกทึ่งคนที่ทำอะไรจริงจัง ทำสิ่งที่ตัวเองหลงใหล ตัวเองไม่ได้เป็นแบบนั้นแต่เห็นว่ามนุษย์เราน่าทึ่งทีเดียวที่ทำอะไรแล้วมีความหลงใหลขนาดนั้น

มองการเก็บสะสมของของตัวละครเป็นความโรแมนติก ปวดร้าว หรือความเจ็บป่วย?

มองอีกแบบหนึ่งก็มองว่าเป็นโรคประสาทได้(หัวเราะ) ความคลั่งไคล้ใหลหลงจนเก็บของทุกสิ่ง อย่างนั่งคุยกันอยู่ พออีกคนลุกไปก็เก็บสิ่งของตรงนั้นเป็นที่ระลึก มองอีกแง่จะดูเป็นสตอล์กเกอร์พอสมควรเลย แต่เทคนิคของปามุกเล่าในลักษณะบุรุษที่ 1 ปามุกเคยให้สัมภาษณ์ว่าชอบใช้วิธีนี้เพราะทำให้เขาเข้าถึงตัวละคร ในเรื่องนี้มีตัวละครชื่อ “ออร์ฮาน ปามุก” อยู่ด้วย โดยเคมาลว่าจ้างให้ปามุกเขียนหนังสือเพื่อประกอบพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปามุกในเรื่องจะบอกว่าเขาขอเขียนเป็นบุรุษที่ 1 ไม่อย่างนั้นจะไม่เข้าถึง ในเรื่องบอกว่าเคมาลติดต่อปามุกในฐานะที่เป็นนักเขียนมีชื่อและเคยรู้จักกับ “ฟูซุน” ที่เป็นนางเอก จะมีเรื่องระหว่างความจริงกับเรื่องสมมุติผสานกันอยู่

การที่เขาเขียนในลักษณะบุรุษที่ 1 ว่าตัวเองเป็นคนผ่านเหตุการณ์มา ให้เราได้เข้าไปอยู่ในตัวเขา เข้าใจเขาได้มากกว่า ถ้ามองจากข้างนอกอาจมองว่าเขาประสาท เป็นผู้หญิงที่ไหนเจออย่างนี้ก็แย่นะ(หัวเราะ) แต่พอเขาเล่าแบบนี้เราก็เลยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรื่อง เข้าใจความเจ็บปวดทรมานของเขา

เขาเขียนละเอียดมาก อธิบายว่าความเจ็บปวดมีกี่ขั้นตอน จะโดนเราที่ตรงไหน จากหัวใจแผ่ซ่านไปที่ตับไตไส้พุง เขียนอย่างน่าทึ่งมาก (ยิ้ม) แน่นอนเคมาลเป็นพระเอกและฟูซุนซึ่งเป็นนางเอกที่ถูกคลั่งไคล้เหลือเกิน แต่ฟูซุนนี่ดราม่าสุดๆ(หัวเราะ) พอมาดูตอนท้ายยังไม่อยากเล่ามาก เป็นนางเอ๊กนางเอก ดราม่าแบบนางเอกหนังไทยหนังตุรกี การนำเสนอตัวละครน่าสนใจดี

คิดว่ามีเรื่องจริงปนอยู่ไหม ยิ่งเมื่อปามุกออกตัวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมติทั้งหมด?

ปามุกเองก็ออกตัวแล้วว่าเรื่องนี้แต่งขึ้นไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่แน่นอนในเรื่องมีตัวปามุกอยู่ไง ก็ไม่รู้นะ ก็เชื่อผู้เขียน(หัวเราะ)

ชอบอะไรในเล่มนี้มากที่สุด?

ตอบยากจัง เพราะชอบหลายอย่างมาก ตั้งแต่บทแรกเปิดให้อยากรู้เรื่องต่อไป แล้วบทแรกนี่อีโรติกมาก ยังคิดเลยว่าเขียนถึงขั้นนี้เลยเหรอ มีบางช่วงเรื่องจะช้า เขาใช้เวลาบรรยายถึงการไปดูหนัง ตัวเคมาลต้องการเข้าถึงฟูซุนที่อยากเป็นนางเอกหนังมาก ตอนแรกก็จะลงทุนให้ จะเห็นเลยว่าตุรกีก็คล้ายๆ หนังไทยยุคหนึ่ง ประเภทชีวิตลำบากยากแค้นแสนสาหัสแล้วพลิกเป็นดี เวลาเราพูดว่าหนังไท้ยหนังไทย ในเรื่องคงต้องพูดว่าหนังตุรกี๊ตุรกี จะเห็นสภาพบ้านเมืองเขาว่ามีโรงหนังกลางแปลงกลางแจ้งเยอะ อากาศเขาช่วงที่ไม่ใช่ฤดูหนาว ตั้งโรงหนังข้างนอกจะสบายกว่า บรรยากาศดี

เข้าใจว่าปามุกชอบดูหนังมากเลย เรื่อง A Strangeness in My Mind ก็มีอีก ตัวละครเข้าไปดูหนังฉายควบสองเรื่องสามเรื่อง การบรรยายของเขาทำให้เห็นภาพ อะไรเกิดขึ้นตรงไหนค่อนข้างชัดเจน ไปกินอาหารแถวบอสฟอรัส ตรงช่องแคบริมทะเล รู้สึกเหมือนเราได้ไปนั่งด้วยเลย เห็นภาพได้บรรยากาศดีจังเลย

คนที่ไม่เคยอ่านงานปามุก เริ่มด้วยเล่มนี้เหมาะไหม หรือควรอ่านนิยายการเมืองของเขาด้วย?

ไม่ทราบ แต่คิดว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเป็นที่นิยมมากกว่านะคะ(หัวเราะ) เพราะเป็นเรื่องความรัก แต่ถ้าจะเริ่มอ่านนิยายของใครไม่ต้องเริ่มตรงไหนเลย นิยายแต่ละเรื่องยืนอยู่ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

หนังสือเล่มนี้จะทำให้รู้จักตุรกีได้ดีไหม?

ค่ะ จะเห็นคนในเมืองที่เป็นชนชั้นระดับกลางหรือสูง ตุรกีอยู่ระหว่างเอเชียกับตะวันตก ในวัฒนธรรมตะวันออกที่เรื่องนี้ที่พูดเป็นเรื่องใหญ่เลยคือเรื่องพรหมจารี การไม่มีอะไรกันก่อนแต่งงาน เป็นเรื่องใหญ่มากในวัฒนธรรมที่นั่น

ประเด็นนี้วัฒนธรรมเอเชียยังใกล้เคียง เรายังไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องฟรีเซ็กซ์เป็นเรื่องปกตินัก แต่ตอนหลังคงเปลี่ยนไป ในเรื่องจะเห็นว่าคนหัวสมัยใหม่ของตุรกีที่บอกว่าไม่ถือเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ยังถืออยู่ ผู้หญิงที่มีอะไรกับผู้ชายก่อนแต่งงานจะต้องถูกจับไปล้างน้ำแล้วรีบแต่งงาน เขาสำรวจวัฒนธรรมเรื่องนี้เยอะ ความเป็นตุรกีจะแฝงอยู่ คิดว่านี่เป็นจุดสำคัญในเรื่อง

การมองตุรกีผ่านปามุกจะทำให้เห็นตุรกีจริงๆไหม เพราะปามุกก็ถูกบางกลุ่มในตุรกีต่อต้าน?

เขาเป็นคนหัวสมัยใหม่ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเป็นยังไง ไม่ใช่ในแง่ปิดกั้น แต่เป็นในแง่ของสะพานเชื่อม เขาไมได้ประณามวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนในเมืองสมัยใหม่ของตุรกี ที่อยู่ตรงกลางว่าฉันจะหัวสมัยดีหรือจะอยู่แบบหัวเก่า กลายเป็นความขัดแย้งสำหรับผู้คนและตัวละคร

อีสตันบูลที่ปรากฏในเรื่องเป็นอย่างไร?

ตอนที่เคยไปตุรกี เดินทางไปแถบตอนใต้ชนบท ชอบมาก ไปเมืองทรอย ประวัติศาสตร์เต็มไปหมด มีตำนานเก่า ชอบไปหมด พอเข้าอีสตันบูลเป็นแห่งสุดท้าย ก็รู้สึกว่าไม่ชอบเลย เป็นเมืองวุ่นวาย พออ่านในเรื่องก็สะท้อนภาพอีสตันบูลให้เห็นชัด อย่างจตุรัสตักซิมที่ใครๆก็ต้องไป ที่สำคัญการเที่ยวตุรกีไม่ได้ทำให้เข้าใจคนอย่างการถ่ายทอดมุมมองของตัวละครที่เป็นชาวอีสตันบูลเอง

การท่องเที่ยวได้ดูได้เห็น ทำให้ได้รู้จักแต่ผิวเผินพอสมควร แต่ถ้าอ่านนิยายจะได้มากกว่า


หนังของนักวิจารณ์
อยาก ‘ชื่นชม’ มากกว่าบอกว่า ‘ห่วย’

นอกจากบทบาทนักแปลแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของ อ.นพมาส แววหงส์ คือนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่เขียนประจำลงในมติชนสุดสัปดาห์

มีภาพยนตร์แนวไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม?

มีแนวที่จะไม่ดูดีกว่า(หัวเราะ) หนังผีที่ตั้งใจหลอกเกินไป น่าเกลียดน่ากลัว หนังสยองขวัญ ฆ่าชำแหละศพไม่อยากดู แต่แนวที่ชอบมีเยอะ ชอบทั้งนั้น หนังดราม่า หนังเพลง หนังนักสืบทนายความก็ชอบ

หนังแอ๊กชั่น?

หนังแอ๊กชั่นดูได้ อย่าง Logan ตอนแรกก็คิดว่าช่างเถอะปล่อยไป เพราะช่วงนั้นหนังเยอะ แต่ลูกไปดูแล้วบอกว่าแม่คงชอบนะ พอเราไปดูก็ชอบ ดี! เป็นหนังที่ดีโดยไม่ต้องจัดว่าเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ดี เกือบจะเป็นดราม่าเลย ผู้ร้ายจริงๆเป็นความแก่ความตาย คนเขียนเรื่องและผู้กำกับสามารถทำเรื่องในแนวที่เป็นมาแต่มีน้ำหนักมากขึ้น ดูแล้วได้อะไร ไม่เสียเวลาดู
Beauty and the Beast ก็ชอบ แต่ชอบเรื่องเดิมมากกว่า บางทีพยายามไม่อคติจากนิยายที่อ่าน แต่เป็นมนุษย์ก็อดไม่ได้นะ พยายามแฟร์ว่าหนังเรื่องนี้ในยุคนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ จะถวิลหาอดีตอะไรนักหนา เลยพยายามไม่เปรียบเทียบมาก

ดูหนังจบแล้วกลับมาเขียนถึงเลยไหม?

ถ้าเป็นความชอบส่วนตัวอยากทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ให้เย็นสักหน่อย ไม่ชอบมากๆ เวลาออกจากโรงหนังแล้วมีคนมาขอสัมภาษณ์ ยื่นไมค์ใส่ ยังงงๆ ไม่ได้ย่อย เวลาดูหนังไม่เข้าใจทำไมคนรีบออกจากโรงกันจัง รีบไปไหน เสียเวลาสองชั่วโมงแล้ว นั่ง! ค่อยๆซึม มันยังอิมแพ็คอยู่ ถึงได้ขอตัวอยู่บ่อยๆ เวลาเดินออกจากโรงหนัง เหมือนอาหารที่เรากินเข้าไปยังไม่ทันย่อยเลย พอย่อยแล้วอะไรจะกระจ่างยิ่งขึ้น

เวลาเขียนก็เหมือนกัน จะไม่เขียนทันที บางเรื่องเรายังคิดอยู่ต่ออีกนาน บางเรื่องก็ช่างมัน ทิ้งไปได้ บางเรื่องมีสิ่งที่ตามเรามาอยู่ในใจ ไม่ค่อยเขียนทันที นอกจากมีกรณีจำเป็นต้องเขียนเพราะเดดไลน์แต่ส่วนใหญ่จะทิ้งไว้ก่อน2-3วัน

เขียนถึงหนังที่ไม่ชอบไหม?

เขียนค่ะ แต่ชอบเขียนถึงเรื่องที่ชอบมากกว่า บางทีจำเป็น พอเป็นคอลัมน์เดี๋ยวไม่มีอะไรจะเขียนก็ต้องเขียน แต่ไม่ชอบด่าคน ไม่ชอบบอกใครว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อยากชื่นชมคน
เวลาเห็นเขาทำงานดีๆ เราก็ชื่นใจ อยากพูดว่าดีจังเลย มากกว่าที่จะบอกว่าห่วย

เวลาเจอเรื่องที่ชอบจะเต็มใจเขียน ชอบดูอะไรที่ดีงาม ไม่ได้หมายความว่าสวย ของไม่สวยก็ดีได้ อย่าง American Beauty ไปถ่ายถุงพลาสติกที่ปลิวตามลม เออ…สวย (หัวเราะ) เขาทำขยะให้เป็นสวย ของดีงามจึงไม่จำเป็นต้องเป็นของสวยอยู่แล้ว บางเรื่องที่โหดๆแต่ดีก็คือดี

ชอบพูดเรื่องที่ตัวเองชอบมากกว่า แต่ก็เขียนทั้งนั้น บางเรื่องดูแล้วอี๋แต่ก็ต้องเขียน เพราะต้องส่งเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image