คุยกันเรื่องการปฏิรูปการศึกษา แบบเบ็ดเสร็จ : โดย ประเสริฐ ตันสกุล

หลงทางเสียเวลา หลงอัตตาไทยเสียโอกาส หลงอำนาจชาติเสียอนาคต

นับตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำอำนาจมาตรา 44 อันเป็นอำนาจไร้ขีดจำกัดของฝ่ายบริหาร ที่อยู่เหนืออำนาจทุกฝ่าย รวมทั้งนิติบัญญัติ และตุลาการด้วย มาใช้สั่งการบริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ แทนการบริหารตามพระราชบัญญัติจัดตั้งของแต่ละแห่ง โดยไม่ต้องยกเลิกเพิกถอน บรรดากฎหมาย กฎข้อบังคับและระเบียบ บรรดาที่มีอยู่ในระบบบริหารราชการแผ่นดิน เพียงแต่ให้เลือกบางฉบับมาใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการจะใช้เท่านั้น ทำให้คิดไปได้ว่า รัฐบาลกำลังมีแผนเด็ดอะไรบางอย่างในการปฏิรูปการศึกษา ที่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจพิเศษ ทำให้นักการศึกษาบางส่วนได้จับตามองเรื่อยมา

ไม่มีใครคิดจะ “ติเรือทั้งโกลน” เพราะทุกคนเห็นตามคำโคลงที่ว่า “กล้วยไม้ออกดอกช้า ฉันใด การศึกษาก็เป็นไป ฉันนั้น” ตามที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ม.ล.ปิ่น ได้ประพันธ์ไว้นานมาแล้ว แม้แต่ครูอาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกใช้อำนาจมาตรา 44 บริหารแทนกฎหมายปกติ ก็ได้แต่หลับตาเดินจงกรม งานด้านปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลจึงอยู่ในระยะฟักตัวเพาะบ่มเรื่อยมา ยังไม่ปรากฏผลเป็นข่าวให้สาธารณชนได้รับรู้

เพิ่งจะมาในช่วงเดือนมีนาคมนี้เอง ที่กล้วยไม้กำลังเริ่มออกดอก ได้มีชิ้นงานตามแผนเด็ดของกระทรวงศึกษาธิการหลายชิ้น เริ่มจากที่มีข่าวทางสื่อมวลชนชุกชุมขึ้น ทั้งในหนังสือพิมพ์มติชน และฉบับอื่นๆ ทำให้นักการศึกษา นักวิชาการ ครูอาจารย์ ข้าราชการ พ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ต่างหันมาสนใจแผนเด็ดในการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลนี้กันมากขึ้น มีหลายเรื่องน่าสนใจทีเดียว

Advertisement

ส่วนผู้เขียน ก็รู้สึกตื่นเต้น ทั้งดีใจและตกใจไปพร้อมๆ กัน

ชิ้นงานเด่นดังที่ต้องจับตา ที่กระทรวงศึกษาธิการคิดเองทำเองและเรียกแขกได้มาก เช่น…

1.การสั่งให้กลไกสภามหาวิทยาลัยที่ประกอบกันขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้ง โดยที่กึ่งหนึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หยุดปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการมหาวิทยาลัยของรัฐโดยพลัน เพื่อให้ตัวบุคคลหกคนกับเจ้าหน้าที่สองคนที่รัฐมนตรีเฟ้นมาโดยเฉพาะ เข้ากุมอำนาจทำหน้าที่บริหารกิจการมหาวิทยาลัยแทน จนกว่าจะพอใจ โดยไม่มีกำหนดเวลา

Advertisement

2.การสั่งเปลี่ยนสภาพคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ให้เป็นที่ประชุมผู้บริหารของรัฐมนตรี ด้วยการสั่งตัดองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติฯ ในส่วนที่เป็นตัวแทนจากครูและบุคลากรทางการศึกษาออกไป

3.สั่งเปลี่ยนหลักเกณฑ์การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครู ในทางที่ส่งผลให้ “อาชีพครู” เป็นเพียงแรงงานสอนทั่วไปนอกกลุ่ม “งานวิชาชีพ” ที่ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพก็ได้ อ้างว่ามีเจตนา “เพื่อเปิดโอกาสให้คนเก่งมาเป็นครู”

งานชิ้นที่สามนี้ บอกชัดว่าน่าจะเป็นแผนเด็ดของกระทรวงศึกษาจริงๆ คือเป็น “แผนเด็ดยอด” ที่เด็ดยอดครูออกจากกลุ่มวิชาชีพ เพื่อปลดถ่ายวิชาชีพครู ออกจากกลุ่มอาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต ทำให้ทุกคนสามารถเป็นครูได้ เท่ากับกระทรวงศึกษาธิการกำลังปฏิรูปความคิดของคนในชาติ ให้ถือว่างานครูคือ งานสอนวิชา ใครรู้วิชาใดก็เป็นแรงงานรับจ้างสอนวิชานั้นได้ ต่างกับหมอที่คนไม่ได้เรียนหมอจากสถาบันที่เขาให้ใบประกอบวิชาชีพ ก็เป็นได้แค่ “หมอเถื่อน” ทำให้หลายคนเริ่มสับสนว่านี่เป็นแผนของรัฐบาลในการปฏิรูปการศึกษาที่ให้เปลี่ยนบทบาทของครูไปเป็นแรงงานรับจ้างสอนเนื้อหาวิชาความรู้ แทนที่จะเป็นข้าราชการครูที่ทำหน้าที่หลักในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะชีวิตให้กับเยาวชนในวัยเรียน หรือว่าเป็นเพียงแผนพิทักษ์สิทธิคุ้มครองวิชาชีพบางสาขา ของกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงอุตสาหกรรม กันแน่

เรื่องให้เป็นครูได้โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูนี้ เรียกแขกได้มากทีเดียว เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็มีคนรู้จริง ทั้งที่อยู่ในวงการและไม่อยู่ในวงการการศึกษาอยู่ด้วย ที่กลัวการใช้อำนาจมาตรา 44 ก็มี ที่ไม่กลัวก็มี

ที่น่าสนใจคือ กรณีที่มีกลุ่มสนับสนุนให้วิชาชีพครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพ รวมตัวกันออกมาคัดค้านแผนล้มใบประกอบวิชาชีพครู แต่ถูกผู้ประกอบวิชาชีพบางวิชาชีพบางคนเขียนตอบโต้การคัดค้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เพื่อสนับสนุนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าโดยไม่ต้องรับฟังการค้าน นัยว่าคนที่ออกมาคัดค้านปกป้องวิชาชีพครูเหล่านั้น เปรียบเหมือนสุนัขนอนขวางรางหญ้า และนัยว่าได้พูดพาดพิงเลยไปถึงเด็กอาชีวะด้วย ทำให้ผู้มีความเห็นต่างในกลุ่มวิชาอาชีพเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าเคยเป็นเด็กอาชีวะด้วยหรือเปล่า ได้เสนอข้อเขียนเชิงคัดค้านข้อเขียนของฝ่ายเชียร์ โต้กันไปมาเป็นพัลวันอยู่

ผู้เขียนเห็นว่า คนที่ทั้งชีวิตเคยเป็นแต่นักเรียนนักศึกษา ไม่เคยสัมผัสและเกี่ยวข้องกับงานอาชีพครู มีลูกก็ไม่ได้เลี้ยงดูสั่งสอนเอง ต้องให้ผู้รับจ้างแรงงานหรือคนใช้เลี้ยงและช่วยสอนแทนให้นั้น จะให้เขามองเห็นความสำคัญของความเป็นครู ในอาชีพครูเหมือนกับที่ผู้อยู่ในอาชีพครูมองเห็นนั้น เป็นเรื่องยากที่เกือบจะสุดวิสัยเอาเลยทีเดียว และอีกประการหนึ่งคือ ความคิดที่ว่าสามารถปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้ครูมืออาชีพนั้น เป็นแค่สมมุติฐานเบื้องต้น ที่ยังไม่ได้ผ่านการคิดวิเคราะห์และไตร่ตรอง โดยอาศัยสมองส่วนหน้าเลย ประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ทำกัน

นี่ก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ความขัดแย้งกระจายตัวเข้าไปในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพที่เคยปรองดอง

4.นอกจากสามชิ้นงานที่คิดเองทำเองโดยตรงแล้ว ยังมีงานชิ้นใหม่ ที่อาจคิดเอง แต่สนับสนุนให้เด็กๆ ทำโดยไม่ได้ทำเองคือ การสร้างกฎกติกากีดกันไม่ให้มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งของแต่ละแห่ง คัดเลือกบุคคลที่อายุเกินกว่าหกสิบปี เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี

การเกิดประเด็นนี้ขึ้นในสังคมส่วนมันสมอง เป็นเรื่องน่าฉงน คือทั้งน่าตื่นเต้น น่าหดหู่ และน่าดีใจไปพร้อมๆ กัน ที่ตื่นเต้นและดีใจ ก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยเป็นกลไกหลักของระบบการศึกษาสำหรับผลิตและพัฒนาปัญญาชนให้กับประเทศ เป็นแหล่งผลิตและพัฒนาครูที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาชาติ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าอย่างมั่นคง สมดุลและยั่งยืน การที่สังคมได้ถกเถียงคัดค้านเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จะมีส่วนทำให้การศึกษา ที่เสมือนหนึ่งในสามขาหยั่ง ที่ค้ำจุนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น มีโอกาสที่ผู้รับผิดชอบบริหารจะหลุดออกมาจากถ้ำเขาวงกตที่อับมืด มาเห็นแดงเดือนแสงตะวันได้บ้าง ส่วนใครจะผิดใครจะถูกเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง

เรื่องนี้ฟังจากรายงานข่าวของสื่อมวลชนดูเหมือนว่า จะเป็นข่าวซีกเดียวที่มาจากผู้คัดค้านที่นำโดย “ดร.ใหญ่ หรือ พี่ใหญ่” ของกลุ่มคนร้อน ที่มีความละม้ายเชิงสอดรับกัน กับความเห็นและข้อพิจารณาของเจ้ากระทรวงศึกษาที่แถลงผ่านสื่อมวลชน โดยที่ข้าราชการที่อายุเกินหกสิบทั้งหลาย ไม่โต้แย้งใดๆ เลย ทำให้คนทั้งหลาย ไม่รู้ว่าเหตุผลและข้อเท็จจริงคือ อะไรกันแน่ เพราะคนไทยเรายิ่งแก่ยิ่งโง่หรืออย่างไร ที่ทำอึมครึมกัน เป็นเพราะยอมรับว่ากระทรวงศึกษาทำผิดกฎหมายมานานจนชินแล้วหรืออย่างไร

กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จัดการศึกษาเพื่อสร้างคน ให้รัฐบาลใช้คนเพื่อรักษาชาติ จะต้องยืนหยัดอยู่บนความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เมื่อพบว่าได้ทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง จะต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็วเพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องมารับผลร้ายจากความผิดพลาดในวันนี้

กระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องทำความชัดเจนให้ปรากฏว่า การแต่งตั้งผู้ที่อายุเกินหกสิบปี เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ละเมิดกฎหมาย หรือสมมุติฐานข้อใด ตามที่ ดร.พี่ใหญ่ ชี้นำหรือหาไม่ ข้อกฎหมายที่ยกมาอ้างกันว่า เป็นข้อกำหนดให้คนอายุหกสิบปี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยไม่ได้นั้นที่ “ใช่เลย” คือข้อใด และเป็นการตีความที่ถูกต้อง หรือที่ถูกใจ

เริ่มจากประเด็น ที่อ้างว่ามาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กำหนดให้ “ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษามีดังนี้ ข.(1) อธิการบดี” ซึ่งมาตรา 4 ให้ข้อจำกัดไว้ว่า “ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายเฉพาะ “ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้” ต้องแปลว่า ข้าราชการพลเรือนที่แต่งตั้งตามกฎหมายนี้อาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ ไม่ได้หมายความว่า ตั้งอธิการบดีตามกฎหมายอื่นไม่ได้ ซึ่งมีมาตรา 27 บอกไว้ชัดว่าตั้งตามกฎหมายอื่นได้ ครับผม

ส่วนมาตรา 19 นั้น กฎหมายอนุญาตให้อาจารย์เฉพาะที่มีตำแหน่งวิชาการรับราชการต่อไปอีกห้าปีได้ เพราะยังเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงเมื่อเทียบกับการจ้างคนจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์สอนและไม่มีคุณวุฒิทางวิชาการมาแทน ทำให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้ประโยชน์ทางวิชาการจากประสบการณ์มากกว่า การที่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมไม่ให้ทำหน้าที่บริหารและหน้าที่อื่นไม่ว่าเสมียนหรือภารโรง เป็นเพียงมาตรการป้องกันความเสี่ยง ไม่ให้ใช้งานผิดวัตถุประสงค์ที่ต่ออายุเท่านั้น ไม่ใช่เพราะความโง่ของคนที่อายุเกินหกสิบปีจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น

ส่วนที่อ้างว่ามีกฎหมายของมหาวิทยาลัยบังคับไว้ว่า อธิการบดีต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และต้องเกษียณเมื่ออายุครบหกสิบปี ทำให้คนอายุเกินหกสิบเป็นอธิการบดีไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่จริงหรอกขอรับ กฎหมายกำหนดว่า พนักงานมหาวิทยาลัยตามสัญญาจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ต้องพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง คือให้สัญญาจ้างสิ้นสุด คือไม่ได้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยอีกต่อไปต่างหากเล่า

ตำแหน่งอธิการบดี เป็นตำแหน่งที่ต้องแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งของมหาวิทยาลัยเอง และความเป็นอธิการบดีจะดำรงอยู่ตามวาระที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้เป็นไปตามสัญญาจ้าง ซึ่งในกลุ่มราชภัฏต่างก็กำหนดให้แต่งตั้งจาก “บุคคล” ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนโดยผ่านกระบวนการสรรหา และมีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งสี่ปี คนละส่วนกับสัญญาจ้าง

การตีความว่ากฎหมายข้อนี้ กำหนดให้อธิการบดี ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือต้องเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และต้องเป็นผู้ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการเท่านั้น เป็นการตีความให้ถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง…ฟันธง!!!

จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัย มีกฎหมายปกติให้ทำงานทุกเรื่องได้อยู่แล้ว การนำอำนาจตามมาตรา 44 มาใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ว่าจะให้ตั้งหรือห้ามตั้งคนอายุเกินเท่าใดเป็นอธิการบดี นอกจากเป็นความมักง่ายแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนจมอยู่กับความเชื่อผิดๆ และเคยชินกับการไม่เคารพกฎกติกาที่มีอยู่อีกด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อชาติบ้านเมือง ขอเสียทีเถอะ อย่าให้ ดร.พี่ใหญ่ ต้องออกมาวางเดิมพัน “ขอไม่รับตำแหน่งอธิการบดีจนเกษียณ” อีกเลย

เห็นใจท่านเถอะ เผื่อใครคิดจะตั้งท่านพี่ ก็จะได้ไม่ผิดหวัง พับผ่าซี…!!

ประเสริฐ ตันสกุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image