ผู้การชุมพรสั่ง’พ.ต.ท.เอกราช’ทำหนังสือชี้แจง-เตรียมตั้ง กก.สอบวินัย หลังวิจารณ์เรื่องห้ามนั่งท้ายกระบะ สนั่นโซเชียล

จากกรณีที่ พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม สว.อก.สภ.สลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับกฎหมายห้ามนั่งกระบะท้ายรถปิกอัพว่า “การออกกฎหมาย ไม่ควรก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับชีวิตคน ดังนั้น ควรรับฟังเหตุผลของคนทุกระดับชั้น ว่าออกแบบไหนเขารับได้หรือออกแบบไหนเขาจะเดือดร้อน เพราะถ้าคนชั้นสูงและร่ำรวยออกกฎหมายจะคิดไม่ถึงถึงความลำบากของคนจน และถ้าออกโดยคนจนล้วนๆ ก็จะไม่รู้ถึงภาพกว้างในสังคมระดับใหญ่ ที่สำคัญการออกกฎหมายควรกำหนดเป้าหมายความต้องการให้ชัดเจนหลายๆ ด้าน แล้วนำมาประชุมหารือสรุปว่าจะเอาด้านไหนที่เหมาะสมที่สุด เช่น จะเอาเป็นผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินเข้าส่วนรวม หรือจะเอาประโยชน์ด้านความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลัก เหมือนครั้งหนึ่งเคยบอกให้รวมๆ กันไปรถคันเดียวหลายๆ คน เพื่อลดรถบนถนนจราจรจะได้ไม่ติดขัดและเป็นการประหยัดน้ำมันช่วยชาติ แต่ตอนนี้ห้ามนั่งรถเกินสี่คนต่อคัน รวมถึงห้ามนั่งกระบะหลัง โดยมองถึงความปลอดภัย แต่ผมมองว่าความปลอดภัยน่าจะห้ามความเร็วมากกว่า เศรษฐกิจตอนนี้ควรผ่อนปรนกันแบบกลางๆ จะมีความสุขกว่า ไว้เศรษฐกิจดีดีเมื่อไรค่อยทำก็ยังทัน ผมแค่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเองนะครับ!!” นั้น
(อ่าน โดนใจโซเชียล! สารวัตรชุมพรโพสต์เรื่องห้ามนั่งกระบะหลัง “ออกกฎหมายควรรับฟังคนทุกระดับ”)

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ต.อ.วิมล พิทักษ์บูรพา รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการไม่เหมาะไม่ควร เนื่องจากข้าราชการตำรวจมีหน้าที่ในการรักษากฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ออกมาต่อต้านกฎหมายเสียเอง หลังกรณีดังกล่าวปรากฏว่าเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ และทางสังคมออนไลน์ พล.ต.ต.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ ผบก.ภ.จว.ชุมพร จึงได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.เอกราช ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายัง ภ.จว.ชุมพรทันที หาก ภ.จว.ชุมพรพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดจริงตามที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก็คงต้องมีการตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัย เพราะข้าราชการตำรวจมีวินัยในการควบคุมดูแลอยู่ ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.เอกราชระบุว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แต่มาโพสต์ในเฟซบุ๊กที่เป็นสาธารณะทั้งที่ตนเองยังเป็นตำรวจอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ได้มีการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในเรื่องนี้ เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติทุกนายมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยกำชับว่าในเบื้องต้นที่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้คือตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 หากพบว่าประชาชนยังไม่ปฏิบัติกฎหมายก็จะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก นั่นคือ 1.อะลุ่มอล่วยไปก่อนหากเห็นว่าไม่เป็นอันตรายจนเกินไป 2.ใช้วิธีกล่าวตักเตือน ขอให้ผู้ทำความผิดไปแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เพื่อมิให้มีการกระทำผิดอีก และ 3.พยายามรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้แก่ประชาชน” พ.ต.อ.วิมลกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image