จากแรกบูรณะ สู่ความงดงามบริบูรณ์ ‘ศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์’ เรือนไม้อันวิเศษแห่งย่านข้าหลวงเดิม

ย้อนกลับไปในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่ามกลางเรือกสวนร่มรื่นย่านบางขุนเทียน เรือนไม้หลังหนึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาลาการเปรียญของวัดเล็กๆชื่อว่า “วัดบางประทุนใน” ซึ่งรู้จักกันต่อมาในชื่อ “วัดแก้วไพฑูรย์” ความวิจิตรบรรจงของฝีมือจำหลักไม้ที่สลักเสลาเรื่องราวของสุธนุชาดกบนฝาปะกน งดงามเป็นที่โจษขาน สะท้อนพลังแห่งศรัทธาของชาวบ้านต่อพระพุทธศาสนา ครั้นอีกนับร้อยปีต่อมา สถาปัตยกรรมดังกล่าวกลายเป็นโบราณสถานอันทรงคุณค่า ทว่า ได้ทรุดโทรมลงจนน่าใจหาย ถูกปิดตายและหลงลืมจากความทรงจำของผู้คน

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) จึงอาสาเป็นหัวเรือใหญ่ในการปฏิสังขรณ์อาคารเก่าแก่แห่งนี้ ให้กลับกลับมามีชีวิตดังเดิม ภายใต้โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ในวาระเข้าสู่ปีที่ 35 ของเครือมติชน

ศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ในปัจจุบัน หลังการบูรณะมานานหลายปี

นับแต่การรวบรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ลงพื้นที่สำรวจสภาพในวันที่ 11 มิถุนายน 2554 กระทั่งฤกษ์งามยามดี จัดพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มการบูรณะร่วมกับกรมศิลปากร และชาวบ้านในท้องถิ่น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 จนมาถึงวันนี้ ศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ ได้กลับมางดงามอีกครั้ง พร้อมเปิดใช้งานโดยจะจัดงานทำบุญในวันศุกร์ที่ 7 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นสิริมงคลของการก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ของ “มติชน” อย่างภาคภูมิ

ภาพจำหลักไม้เรื่อง “สุธนุชาดก” เพชรน้ำงามของสถาปัตยกรรมหลังนี้

เรือนไม้อันวิเศษ หนึ่งเดียวในสยาม

“การเปรียญนี้ทำด้วยฝีมือช่างในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง ควรถือเป็นศิลปะอันสำคัญที่ต้องทะนุถนอม ช่วยกันรักษาไว้ให้ดีคงสภาพเดิมไว้ทุกอย่าง ต่อไปข้างหน้าคงจะไม่มีใครรู้จักเรือนไม้อันวิเศษเช่นนี้อีกแล้ว”

Advertisement

ข้อความข้างต้นคือคำกล่าวของ น. ณ ปากน้ำ ปรมาจารย์ด้านศิลปะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งกล่าวถึงศาลาการเปรียญแห่งนี้ไว้ในหนังสือ ศิลปกรรมในบางกอก บ่งชี้ถึงคุณค่าของอาคารดังกล่าว เจือด้วยความรู้สึกห่วงใยในโบราณสถานที่อาจไม่มีใครรู้จักอีกต่อไปหากไม่ได้รับการดูแล ไม่เพียงเท่านั้น ยังพรรณารายละเอียดของงานช่างไว้อย่างวิจิตรพิสดาร
ศาลาดังกล่าว มีลักษณะเป็นเรือนไทย ใต้ถุนสูงขนาด 7 ห้อง ก่อสร้างด้วยวิธีเข้าไม้แบบโบราณ หลังคาทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องหางมน เครื่องลำยองประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ตามอย่างศิลปะไทยแบบประเพณี ผนังโดยรอบเป็นฝาไม้ปะกน จำหลักไม้ทั้งหลังด้วยลวดลายแฝงความหมายอันเป็นมงคลในกลิ่นไอวัฒนธรรมจีน ประสมประสานกับความเชื่อของชาวสยาม พื้นที่ด้านล่างบริเวณมุมทั้งสองของกรอบหน้าต่าง ซึ่งเรียกว่า “สองตีนช้าง” สลักภาพชุด “สุธนุชาดก” จากปัญญาสชาดก แผ่นแรกจากมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ วนไปทางขวาแบบทวนเข็มนาฬิกา รวม 44 ช่อง เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระสุธนุ ผู้เชียวชาญศาสตร์การยิงธนู ต้องเผชิญอกุศลกรรมจากอดีตชาติที่เคยหยอกเย้าสามเณรด้วยการกระทุ่มน้ำเป็นคลื่น ซัดเรือจนล่ม ในชาติปัจจุบันจึงต้องพลัดพรากจากพระนางจิรัปภาผู้เป็นชายากลางมหาสมุทร สุดท้ายได้พบกันที่ศาลาโรงธรรมซึ่งมีภาพจำหลักไม้ ประดับภาพชีวิตตั้งแต่แรกพบ ครองรัก จนประสบเคราะห์กรรม จบเรื่องด้วยการกลับไปครองเมืองพร้อมชายาอย่างมีทศพิธราชธรรม

ความงดงามวิจิตรบรรจง และภาพจำหลักไม้ปะกนทั้งหลัง ที่ไม่อาจหาที่ใดเสมอเหมือน ทำให้ศิลปินแห่งชาติและอดีตอธิบดีกรมศิลปากรอย่าง พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด มอบประโยค “หนึ่งเดียวในสยาม” ให้ศาลาการเปรียญแห่งนี้ ตอกย้ำความล้ำค่าอย่างไม่อาจหาถ้อยคำบรรยายได้อย่างหมดสิ้น

ภาพถ่ายเก่าศาลาการเปรียญเมื่อพ.ศ. 2529 ครั้งยังมีสภาพทรุดโทรมอย่างยิ่ง

ระดมนักปราชญ์ร่ายศาสตร์ชุบชีวิต

ศาลาการเปรียญก่อนบูรณะ อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างมาก อีกทั้งผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากมีการเทปูนรอบพื้นที่ตั้ง ทำให้ตัวศาลาซึ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง กลายเป็นอาคารชั้นเดียว ลวดลายรดน้ำลบเลือน ภาพจำหลักไม้สุธนุชาดกสูญหายไปบางส่วน เสานับสิบต้นเริ่มผุพัง ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอีกหลายจุดเสียหาย คาดการณ์เบื้องต้นก่อนบูรณะว่าต้องใช้งบประมาณถึง 30 ล้านบาท ซึ่งต่อมา มีการ “ทอดผ้าป่า” เมื่อเดือนตุลาคม 2555 โดยขรรค์ชัย บุนปาน และพล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมกับเงินของทางวัดซึ่งชาวบ้านร่วมใจบริจาค

Advertisement

พระครูวิมลรัตนาธาร หรือหลวงพ่อจรินทร์ กระต่ายแก้ว เจ้าอาวาส แข็งขันในการผลักดันฟื้นฟู

นอกจากนี้ มติชน ร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ได้ประกาศเชิญชวนสมทบทุนเพื่อการดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากมายจนไม่อาจเอ่ยนามได้หมด

ในส่วนงานบูรณะ นำโดย ประมุข บรรเจิดสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะโบราณสถาน ยึดหลักการอนุรักษ์ พยายามรักษาให้คงสภาพเดิม มีที่ปรึกษาในด้านต่างๆอย่างหลากหลาย อาทิ รศ.สมใจ นิ่มเล็ก ราชบัณฑิตชาวบางขุนเทียนผู้ล่วงลับ , สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชน ผู้มีความทรงจำวัยเยาว์มากมายในย่านนี้ , โสมสุดา ลียะวณิช อดีตอธิบดีกรมศิลปากร , บุญยืน สวนชัง หัวหน้าช่างไทย เป็นต้น

ขั้นตอน เริ่มจากการรื้อศาลาการเปรียญดังกล่าว รวมถึงอาคารฝั่งขวาออกทั้งหมด เพื่อขยับศาลา โดยมีจุดประสงค์ให้สามารถต่อเติมระเบียงสำหรับเดินชมภาพจำหลักได้โดยรอบ ส่วนบันได้ถูกสร้างขึ้นบริเวณด้านข้างตามแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ มีการยกพื้นให้สูงขึ้น เพื่อหนีน้ำท่วม และแก้ปัญหาความชื้น ชั้นล่างใช้เก็บรวมรวมข้าวของ เสมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมของวัด

ไม้ที่ผุพัง ใช้ของใหม่แทนที่เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรง เสาไม้นับสิบต้น ยังคงใช้ของเดิม โดยซ่อมแซมบางส่วนที่ผุพัง ลวดลายรดน้ำที่ลบเลือน ถูกวาดขึ้นใหม่ตามอย่างเก่า จนกลับมางดงามตระการตา พร้อมเปิดใช้งานอย่างสมบูรณ์

ไม้จำหลักที่ผุกร่อนจนน่าใจหาย

ฤกษ์ดี 7 เมษา ทำบุญศาลา พร้อมประชันปี่พาทย์ !

ก่อนเปิดประตูสู่ความงดงามครั้งอดีต ที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน ต้องมีการทำบุญตามอย่างประเพณีไทย เพื่อเอาฤกษ์เอาธงชัยแห่งความเป็นสิริมงคล

ศุกร์ที่ 7 เมษายนนี้ จึงเตรียมการพิธีบวงสรวง และเจริญพระพุทธมนต์ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงช่วงสาย ครั้นภิกษุฉันภัตตาหารเพลแล้ว เชิญสาธุชนรับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้น ในช่วงเย็นย่ำ เตรียมครึกครื้นด้วย “ปี่พาทย์โหมโรงเย็น” แล้วต่อด้วย “ปี่พาทย์ประลองเพลง 5 วง” ยิงยาวไม่มีหยุด ไปจนถึงเที่ยงคืน ได้อารมณ์วัฒนธรรมชาวบ้านที่ประกวดประขันฝีไม้ลายมือทางด้านดนตรี ส่งเสียงสำเนียงไพเราะผ่านคุ้งน้ำสู่บ้านเรือนในเรือกสวนเขียวชอุ่ม ซึ่งปัจจุบันยังมีให้เห็นในย่านบางขุนเทียน โดยเฉพาะริมคลองบางประทุนที่ไหลผ่านวัดแก้วไพฑูรย์แห่งนี้

“ครูแดง” แห่งสามัคคีดนตรีไทย วงปี่พาทย์เลื่องชื่อย่านบางขุนเทียน ยืนยันว่า งานนี้สนุกแน่นอน เพราะทุกวงล้วนมีฝีมือ และต่างก็ตระเตรียมเพลงมาประชันอย่างไม่มีใครยอมใคร

การบูรณะปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ จึงไม่ใช่เพียงการซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม ให้กลับมาสวยงามเพียงเท่านั้น

หากแต่เป็นการคืนชีวิตให้โบราณสถาน กลับมามีบทบาทต่อผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ ควบคู่กับการพัฒนา นำเส้นขนานที่ยากจะบรรจบมาเชื่อมต่อร้อยเรียงได้อย่างสง่างาม และสมบูรณ์แบบ

ชั้นบนของศาลาฯ ประดิษฐานธรรมาสน์เก่าสมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์

กำหนดการทำบุญศาลาการเปรียญ วัดแก้วไพฑูรย์

ซอยเอกชัย 14 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
ศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560
08.00 น. พิธีบวงสรวง
10.30 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์
11.00 น. พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพล
12.00 น. รับประทานอาหารร่วมกัน
17.00 น. ปี่พาทย์โหมโรงเย็น
18.00 น. ปี่พาทย์ประลองเพลง 5 วง

“หนึ่งเดียวสยาม” ศาลาการเปรียญจำหลักไม้ทั้งหลังที่ยังหลงเหลืออยู่ในย่านข้าหลวงเดิมรัชกาลที่ 3
แบบศาลาที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสรับสั่งให้พระนวการโกวิทถ่ายแบบไว้เมื่อ พ.ศ. 2459 ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูงก่อนถมพื้นในภายหลัง การบูรณะในครั้งนี้จึงยกเรือนขึ้นตามแบบดั้งเดิม

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ “มติชน” จับมือกรมศิลปากร สำรวจศาลาเมื่อ 11 มิ.ย. 2554 การบูรณะจึงเริ่มต้นขึ้นกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในวันนี้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image