คณบดี..มีหนาว!! ปธ.สภาคณาจารย์ฯ แห่งประเทศไทย เสนอ ป.ป.ช.สอบบัญชีทรัพย์สิน ‘คณบดี’ ด้วย

จากกรณีที่ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ได้ลงนามในคำสั่ง มม.อนุมัติให้รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานอธิการบดี มม.จำนวน 13 ราย ให้ลาออกจากตำแหน่งประเภทผู้บริหาร และมีคำสั่งแต่งตั้งทั้ง 13 ราย กลับเข้ารักษาการแทนรองอธิการบดี มม.ซึ่งสาเหตุที่รองอธิการบดี มม.ยื่นหนังสือลาออก เพราะไม่ต้องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2560 โดยในข้อ 3 ให้เพิ่มเติมความต่อไปนี้ 103) สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ ได้แก่ รองอธิการบดี 104) สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ ได้แก่ รองอธิการบดี เป็นต้น นั้น

นายรัฐกรณ์ คิดการ อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา และประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า มรภ.นครราชสีมา มรภ.อื่นๆ รวมถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ไม่มีรองอธิการบดีลาออก ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่ามีด้วย เพราะรองอธิการบดีส่วนมากมาจากผู้ที่อยากดำรงตำแหน่งนี้อยู่แล้ว จึงเชื่อว่าจะยอมรับกติกาได้ ส่วนที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 13 คน ลาออกยกทีม เชื่อว่าเพราะไม่อยากยุ่งยากกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งต้องยื่นหลายขั้นตอน ไม่ใช่ว่ายื่นครั้งเดียวแล้วจบ แถมต้องยื่นของคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทรัพย์สินทั้งใน และนอกประเทศ รวมถึง ทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครองของคนอื่น หรือฝากคนอื่น ต้องยื่นด้วย เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และ 5 ปี ต้องยื่นอีก ถ้าเสียชีวิตระหว่างดำรงตำแหน่ง ทายาทต้องยื่นแทน และถ้ายื่นตกหล่น หรือกรอกข้อมูลผิด ป.ป.ช.จะสงสัยว่าจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ อันเป็นเท็จ นำมาสู่การถูกดำเนินคดีได้

“ในส่วนของ มรภ.นครราชสีมา วันที่มีข่าวว่า ป.ป.ช.จะให้รองอธิการบดียื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ด้วยนั้น ตรงกับประชุมสภาพอดี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภา จึงได้สอบถามที่ประชุมสภาฯ ว่ามีรองอธิการบดีท่านใดจะลาออกหรือไม่ เพราะการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ยุ่งยาก และต้องระมัดระวังเอกสารที่ยื่นอย่างมาก แต่ไม่มีใครประสงค์จะลาออก อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าระหว่างตำแหน่งรองอธิการบดี และคณบดี ตำแหน่งที่น่าจะแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ น่าจะเป็นคณบดีมากกว่า เนื่องจากรองอธิการบดีมาจากการที่อธิการบดีเสนอสภาแต่งตั้ง และตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้รับผิดชอบหน่วยงานใด ขึ้นอยู่กับอธิการบดีมอบหมาย และถ้าอธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง รองอธิการบดีต้องพ้นตำแหน่งด้วย ในขณะที่คณบดีมาจากการสรรหาของสภา แม้อธิการบดีพ้นจากตำแหน่ง คณบดียังดำรงตำแหน่งต่อ และกฎหมายให้รับผิดชอบคณะ ซึ่งใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ หรือทุจริตได้ ยิ่งกว่านั้น ป.ป.ช.ให้อธิการบดีต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเหมือนนักการเมืองนั้น โดยส่วนตัวมองว่าตำแหน่งอธิการบดีน่าจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนด้วย เพื่อประชาคมจะได้ร่วมตรวจสอบ” นายรัฐกรณ์กล่าว

นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต และรักษาการผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นิด้ามีรองอธิการบดี 3 คน และไม่มีใครลาออก กรณีที่รองอธิการบดี มม. 13 คนลาออก เดาว่าคงไม่ประสงค์จะแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ถ้าคนเหล่านั้นทราบล่วงหน้าว่าต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ อาจไม่อยากเป็นรองอธิการบดีตั้งแต่ต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image