งานวิจัยใหม่ไขปริศนา “น้ำแข็งเขียว” ที่อาร์คติก

เมลท์พอนด์-แผ่นน้ำแข็งเขียว (ภาพ-NASA)

เมื่อราวปี 2011 ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางไปสำรวจพื้นผิวน้ำแข็งถึงกับพิศวงงงวยกับภาพที่เห็นปรากฏการณ์ “เมลท์พอนด์” หรือสระน้ำบนผืนน้ำแข็ง(ดูภาพประกอบ) ซึ่งเกิดจากการละลายของพื้นน้ำแข็งเป็นหย่อมๆ สิ่งที่สร้างความงุนงงให้ไม่ใช่ตัว “เมลท์พอนด์” หากแต่เป็นสีของน้ำซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นสีเขียว เพราะเชื่อกันว่าภายใต้พื้นผิวน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกควรจะมืดมิด แสงส่องเข้าไปไม่ถึง ไม่ควรจะมีสีเขียวที่เป็นสีของพืชที่มีชีวิตและเจริญเติบโตเช่นนี้

คริสโตเฟอร์ ฮอร์วัท นักวิจัยจากสำนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรม จอห์น เอ.พอลสัน ในสังกัดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาที่เป็นการไขปริศนาดังกล่าวออกมาเมื่อ 31 มีนาคม นี้ โดยระบุว่าสีเขียวดังกล่าวเกิดจากการเจริญเติบโตของ “แพลงก์ตอนพืช” หรือ “ไฟโตแพลงก์ตอน” จนชุกชุมในบริเวณดังกล่าวทำให้พื้นที่กลายเป็นสีเขียว นอกจากนั้นยังให้คำตอบด้วยว่า ไฟโตแพลงก์ตอน สร้างปฏิกิริยาสังเคราะห์แสง (กระบวนการสร้างน้ำตาลจากแสงแดด,น้ำและคาร์บอนไดออกไซด์) เพื่อให้มีชีวิตรอดได้อย่างไร

รายงานของฮอร์วัท ระบุว่า ปกติแล้ว แสงที่ส่องลงไปยังพื้นผิวน้ำแข็งจะถูกสะท้อนกลับไปยังอวกาศเเทบทั้งหมด แต่เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น และแผ่นน้ำแข็งอาร์คติกหลอมละลาย ทำให้ความหนาลดลง และการเกิดเมลท์พอนด์ ก็ยิ่งลดการสะท้อนดังกล่าวลงไปได้อีก ทำให้แสงอาทิตย์ส่วนหนึ่งสามารถส่องลอดผ่านผิวน้ำแข็งลงไปได้

ตามรายงานของฮอร์วัท เมื่อ 20 ปีก่อน พื้นผิวที่บางพอจะทำให้แสงลอดลงไปได้นั้นมีเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งขั้วโลก แต่ถึงตอนนี้ เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นน้ำแข็งบางลงมากจนทำให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตได้ โดยจากการคำนวณด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกบางลงมากถึง 1 เมตร

Advertisement

ในความเห็นของ คริสโตเฟอร์ ฮอร์วัท สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดสภาพนิเวศแบบใหม่ขึ้น เพราะแพลงก์ตอนพืชใต้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกนั้นเติบโตอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีสัตว์ใดๆสามารถเข้าไปกินได้

เพราะสัตว์เหล่านั้นต้องอาศัยออกซิเจนในการยังชีพนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image