ปลูกถ่าย “ลูกตา” ใหม่ ไว้ที่ “หาง” ลูกอ๊อด

(ภาพ-Levin, Blackiston)

ทีมวิจัยจากศูนย์ อัลเลน ดิสคัฟเวอรี ในสังกัดมหาวิทยาลัยทัฟทส์ ในเมืองเมดฟอร์ด รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลสำเร็จในการปลูกถ่ายลูกตาใหม่ให้กับลูกอ๊อดตาบอดไว้ที่บริเวณหาง และสามารถทำให้มันมองเห็นผ่านตาใหม่ที่บริเวณหางได้อีกครั้ง เชื่อเป็นแนวทางใหม่สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะให้กับมนุษย์ในอนาคต

หากยังคงยึดถือวิธีการผ่าตัดเพื่อการปลูกถ่ายในแบบเดิม การปลูกถ่ายลูกตาใหม่ให้กับลูกอ๊อดไม่มีทางเป็นไปได้เด็ดขาด เนื่องจากส่วนปลายประสาททั้งตัวลูกอ๊อดที่ถูกผ่าตัดเอาลูกตาออกมาเพื่อนำไปปลูกถ่าย และ ลูกอ๊อดตัวที่รอรับการปลูกถ่ายนั้นจะเสียหายยับเยิน และไม่มีทางที่แพทย์ผู้ทำศัลยกรรมจะจำแนกและเยียวยาเส้นประสาทเหล่านั้นได้ ลูกตาที่ปลูกถ่ายลงไปจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเพราะเส้นประสาทออพติค หรือเส้นประสาทสำหรับการมองที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบประสาทส่วนกลางที่สมอง ซึ่งทำหน้าที่รับและแปรสัญญาณประสาทดังกล่าวออกมาเป็นภาพให้มองเห็นได้นั่นเอง

วิธีการใหม่ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการเวชศาสตร์ฟื้นฟูเนเจอร์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมนี้ เป็นผลมาจากการศึกษาของทีมวิจัยที่นำโดย ไมเคิล เลวิน กับดักลาส แบลคคิสตันและ เวียน ข่าน ที่มองข้ามออพติคเนิร์ฟ หรือเส้นประสาทสำหรับการมองดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิง โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ลูกตา” หรือบางทีอาจรวมถึงอวัยวะรับสัมผัสอื่นๆ สามารถหาช่องทางเชื่อมต่อกับระบบประสาทส่วนกลางอื่นๆได้ผ่านทาง “พอร์ท” หรือช่องทางสำหรับการเชื่อมต่อที่มีอยู่ในหลายๆอวัยวะบนร่างกาย ซึ่งหากจัดการควบคุมหรือดัดแปลงให้เหมาะสมได้ก็จะสามารถพบทางลัดในการเชื่อมต่อกับระบบประสาทส่วนกลางได้เช่นกัน เหมือนกับที่ทีมวิจัยประสบผลสำเร็จในการปลูกถ่ายลูกตาใหม่ไว้ที่หางของลูกอ๊อดตาบอดแล้วทำให้มันมองเห็นได้ใหม่นั่นเอง

เลวินและทีมที่ศูนย์อัลเลนดิสคัฟเวอรี ศึกษาวิจัยเรื่องวิธีการที่เซลล์ตอบสนองต่อสัญญาณไฟฟ้าในระบบประสาทของร่างกายมานาน โดยพยายามค้นคว้าว่า สัญญาณเหล่านั้นทำอย่างไรถึงเป็นตัวกำหนดหรือบังคับให้ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเจริญเติบโตในแบบแผนที่กำหนดและมีพฤติกรรมตามแบบแผน และพยายามดัดแปลงสัญญาณดังกล่าวเพื่อใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในร่างกายมนุษย์ไปในทางที่ต้องการ งานวิจัยก่อนหน้านี้ของทีม ก็คือการดัดแปลงสัญญาณประสาทของกบทดลอง ทำให้มันงอกขาเพิ่มขึ้นมาจากเดิมได้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตสามารถนำมาปรับใช้กับร่างกายมนุษย์ได้เช่นกัน

Advertisement

ในกรณีของการปลูกถ่ายลูกตาใหม่ให้ลูกอ๊อดตาบอดนั้น เลวิน กล่าวว่า หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การทำให้ประสาทส่วนกลางของสมองเชื่อมโยงกับกับประสาทโดยรอบบริเวณที่ปลูกถ่ายอวัยวะได้เท่านั้น แต่สมองของผู้ที่รับการปลูกถ่ายจำเป็นต้องสามารถจำแนกได้ด้วยว่า สัญญาณประสาทที่ส่งผ่านเข้ามายังสมองนั้นเป็นสัญญาณของอวัยวะที่ทำหน้าที่ตามที่ต้องการ เขายกตัวอย่างเช่น สมองแต่เดิมกำหนดไว้ว่าสัญญาณการมองเห็นจะมาจากอวัยวะด้านหน้าของกระโหลกศีรษะเท่านั้น ทำอย่างไรถึงจะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางของสมองรับรู้ว่า สัญญาณที่ส่งมาจากบริเวณที่ปลูกถ่ายลูกตาใหม่ที่ติดอยู่กับปลายประสาทไขสันหลังของผู้ป่วยคือสัญญาณจากดวงตาและดำเนินกระบวนการประมวลผลแบบเดียวกับที่ทำกับสัญญาณประสาทที่มาจากดวงตาปกติ

ผลการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การควบคุมสัญญาณไฟฟ้าของประสาทบริเวณโดยรอบลูกตาที่ปลูกถ่ายช่วยให้ทีมวิจัยจำลองการเติบโตของกลุ่มเซลล์ประสาทและกิจกรรมของเซลล์เหล่านั้นได้ แต่ภาพที่ได้จากลูกตาดังกล่าวนี้ยังมีคุณภาพแย่ ในการทดลองใหม่นี้ ทีมวิจัยใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับความสามารถของเซลล์ในการอ่านกระแสไฟฟ้าของประสาทในพื้นที่แวดล้อมโดยการแลกเปลี่ยนสารสื่อประสาท เซโรโทนิน มาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการเจาะเข้าไปในระบบการแลกเปลี่ยนดังกล่าว จนสามารถค้นพบได้ว่า เซลล์ที่รับสารเซโรโทนินตัวใดเกี่ยวข้องกับการมองเห็นและกระตุ้นให้มันกลับมาทำงานเต็มที่

การเจาะระบบและกระตุ้นดังกล่าวสามารถทำได้โดยอาศัยยาที่คนเราใช้กันทั่วไปเท่านั้นเอง นั่นคือยาสำหรับรักษาโรคไมเกรน ซึ่งทำให้วิธีการนี้มีความเป็นไปได้อย่างมากในการใช้กับมนุษย์ในอนาคต

Advertisement

ในทางทฤษฎีแล้ว หลักการเดียวกันนี้ไม่เพียงสามารถนำไปปรับใช้กับอวัยวะรับสัมผัสเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะใดก็ได้บนร่างกายได้ประสบผลสำเร็จมากขึ้น

ไมเคิล เลวิน เชื่อว่า ในวันหนึ่งมนุษย์อาจจำเป็นต้อง “ดัดแปลง” ร่างกายของตนไปไกลกว่ามาตรฐานทางสรีระวิทยาที่ได้มาแต่กำเนิด

บางคนอาจอยากได้ตาเพิ่มขึ้น บางคนอยากได้ตาที่แตกต่างออกไปจากตาเดิมที่มี บางคนอาจต้องการใช้ชีวิตอยู่ใต้น้ำ แต่ละคนก็ต้องจัดการให้สมองปรับหน้าที่เข้ากับสภาพนั้นให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image