ปริญญา วิเคราะห์หลังรธน.รัฐบาลใหม่มีได้4แบบ ฟันธงหากคสช.เล่นการเมือง จะเสื่อมทันที

สพต.จัดประชุมใหญ่”เลือก”สรอรรถ กลิ่นประทุม”นั่งเก้าอี้นายกฯต่ออีกสมัย

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 7 เมษายน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (สพต.) มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 เพื่อเลือกนายกสมาคมสพต.และคณะกรรมการชุดใหม่ เนื่องจากชุดเก่าจะหมดวาระลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ซึ่งผลการคัดเลือกปรากฎว่านายสรอรรถ กลิ่นประทุม ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมสพต. ต่ออีกหนึ่งสมัย นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบรางวัลเอกสารวิชาการดีเด่น นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 1-6 โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. เป็นผู้มอบ

ปริญญา ชี้ ยกเคส 4 รูปแบบรัฐบาล แนะคสช.อย่าเป็นผู้เล่นเอง เชื่อช่วยสร้างปรองดองได้

จากนั้น เวลา 11.00 น. มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การบังคับใช้กฎหมายกับการสร้างความปรองดองในสังคมไทย” นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและความยั่งยืน กล่าวถึงโรดแมปการเลือกตั้ง ว่า หากคำนวณตามโรดแมปและกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด โดยใช้เวลาเต็มเพดาน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2561 แต่หากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งบางฉบับไม่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช. ) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป แต่ในส่วนนี้ยังไม่มีการระบุทางแก้ไขเอาไว้ ทั้งนี้หลังจากการเลือกตั้งแล้ว กกต.จะประกาศผลภายใน 60 วัน นับจากวันเลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดไว้ 30 วัน ดังนั้นหากตั้งสมมุติฐานว่าการเลือกตั้งเกิดในเดือนกันยายน 2561 ประกาศผลเลือกตั้งในเดือน พฤศจิกายน 2561 และจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ประมาณเดือนมกราคม 2562 และหากคสช.ต้องการมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ก็จะต้องโหวตนายกรัฐมนตรีคนนอกต่อ ด้วยเสียง 2ใน3 ของจำนวนส.ส.และส.ว.ทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้คสช.มีเสียงในมือแล้ว 250 เสียงจากส.ว. จึงขอเรียกการเมืองหลังจากนี้ว่า ระบอบไฮบริด คือ มีส่วนที่เป็นประชาธิปไตย คือ เลือกตั้ง ส.ส. และ ส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือ การได้มาซึ่งส.ว. และส.ว.สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

Advertisement

นายปริญญา กล่าวว่า รัฐบาลใหม่สามารถมีได้ 4 รูปแบบ คือ 1. พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีพรรคการเมืองใดตั้งรัฐบาลเองได้ เพราะไม่สามารถรวมเสียงให้เกิน 376 เสียงได้ ดังนั้น คสช. จะเป็นผู้กำหนดว่าพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคๆใดจะเป็นรัฐบาล 2. คสช.จะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง โดยมีพรรคขนาดใหญ่พรรคหนึ่งมาร่วมรัฐบาล 3. พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ยอมและจับมือกันเป็นรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก และ 4. ปล่อยฟรีโหวตกับส.ว. ให้การตั้งรัฐบาลเป็นธรรมชาติ โดยคสช.ถอยออกไปยืนดู 5 ปี ไม่เป็นผู้เล่นเอง ซึ่งแนวทางนี้มองว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และจะสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ ทั้งนี้หากคสช.ไปตั้งพรรคการเมืองเอง เป็นผู้เล่นเหมือนพรรคสามัคคีธรรมในปี 2534 ก็จะทำให้เสื่อมทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image