คุณได้เงินเดือนเท่าไร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อผมเริ่มรับราชการครึ่งศตวรรษมาแล้ว ผมได้เงินเดือน 1,600 บาท ในตอนนั้นรองอธิการบดี (ซึ่งก็เท่ากับอธิการบดีในปัจจุบัน เพราะตำแหน่งอธิการบดีต้องสงวนไว้แก่เส้นสายของนายทหารการเมืองที่คุมอำนาจในประเทศอยู่เท่านั้น) ได้เงินเดือนประมาณ 4,500 บาท ผมรู้สึกว่าเงินเดือนขนาดนั้น ใช้ยังไงถึงหมดวะ

ภารโรงที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการในตอนนั้นได้เงินเดือน 450 บาท หากนับเป็นผู้ได้เงินเดือนต่ำสุด โดยไม่ต้องนับภารโรงที่เป็นแค่ “ลูกจ้าง” ระยะห่างระหว่างเงินเดือนต่ำสุดกับสูงสุดในมหาวิทยาลัยตอนนั้นคือ 10 เท่า

ในปัจจุบันความห่างของเงินเดือนในมหาวิทยาลัย (เมื่อใช้อัตราเงินเดือนของ ม.มหิดลเป็นเกณฑ์) ห่างกัน 12.9 หรือ 13 เท่า คนที่ได้เงินเดือนต่ำสุดของ ม.มหิดล จบ ปวช.ได้เงินเดือนแรกเข้า 7,700 บาท เพราะมหาวิทยาลัยปัจจุบันไม่มีภารโรงรับเงินเดือนของมหาวิทยาลัยอีกแล้ว งานภารโรงมัก outsource หรือจ้างเอกชนภายนอกรับไปทำ หากนับเงินเดือนภารโรงเหมือนสมัยที่ผมเริ่มรับราชการ ระยะห่างของค่าตอบแทนระหว่างพนักงานต่ำสุดกับสูงสุดก็จะห่างกว่านั้นแยะ

เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวโน้มในเมืองไทย ที่จ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารระดับสูงมากกว่าค่าตอบแทนเฉลี่ยของคนในองค์กรอย่างสูง

Advertisement

ภาคเอกชนจ่ายในราคาสูงมาก่อน และมักถูกใช้อ้างเป็นแบบอย่างว่าภาคสาธารณะก็ควรจ่ายในอัตราสูงใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกัน “สมองไหล” เป็นความเชื่ออย่างไม่ต้องพิสูจน์ในเมืองไทยมานานว่า การบริหารภาคเอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่าภาคสาธารณะ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานภาคสาธารณะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเอกชน จึงควรจ่ายค่าตอบแทนในอัตราใกล้เคียงกัน

แต่ส่วนหนึ่งของภาคเอกชนที่จ่ายเงินเดือนแก่ผู้บริหารระดับสูงเป็นก้อนใหญ่มากๆ ก็เพราะผู้บริหารระดับสูงคือตัวเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ มิฉะนั้นก็เป็นลูกหลานของเจ้าของ คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับค่าตอบแทนสูงในบริษัทเอกชนคืออดีตหัวหน้าหน่วยราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว เอกชนยอมจ่ายค่าตอบแทนให้แก่คนเหล่านี้อย่างสูงเพื่อ “ซื้อ” เส้นสายของเขาไว้ใช้ในการประกอบการของตน

ส่วนการจ่ายเพื่อซื้อตัว “มืออาชีพ” นั้นเพิ่งมาทำกันในระยะหลังโดยธุรกิจใหม่ๆ เช่น โทรคมนาคม เพราะเจ้าของธุรกิจเหล่านี้เชื่อในซีอีโอเหมือนต้องมนต์สะกด

Advertisement

ประเพณีการจ่ายค่าจ้างก้อนใหญ่แก่ผู้บริหารระดับสูงเริ่มในสหรัฐตั้งแต่ประมาณปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา แล้วระบาดไปยังประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด เช่น แคนาดา, อังกฤษ และออสเตรเลีย Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) เรียกผู้บริหารเหล่านี้ว่า Supermanager หรืออภิมหาผู้จัดการ ทำให้ความห่างของค่าตอบแทนระหว่างผู้จัดการสูงสุดกับคนงานแรกเข้าในบริษัทของประเทศเหล่านี้ถีบตัวห่างกันมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ห่างกัน (ในสหรัฐ) เพียง 6 เท่าตัวเท่านั้น

แต่ตรงกันข้ามกับที่มักพูดกันในเมืองไทยว่า การบริหารธุรกิจในโลกสมัยใหม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเดือนแก่มือดีอย่างสูงเช่นนั้น เพราะในประเทศร่ำรวย เช่น ยุโรปตะวันตกภาคพื้นทวีป ปรากฏการณ์อภิมหาผู้จัดการไม่ได้เกิดขึ้น เช่น ในฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, ประเทศสแกนดิเนเวีย หรือญี่ปุ่น ค่าจ้างของผู้บริหารเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่มากเท่ากับในโลกของแองโกลแซกซัน

ตามทฤษฎีแล้ว อัตราค่าจ้างแรงงานย่อมถูกกำหนดด้วยผลิตภาพ และ/หรืออุปสงค์-อุปทานของทักษะนั้นๆ เช่น จ่ายค่าแรงให้แก่คนงานทอผ้าเพิ่มขึ้น เพราะเขาทอได้ผ้ามากหลากว่าเดิม จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่หมอในราคาแพง เพราะหมอมีจำกัดไม่สมดุลกับประชากร

แต่ Piketty บอกว่าทฤษฎีนี้ง่ายและไร้เดียงสาเกินไป เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราวัดผลิตภาพของใครไม่ได้จริงหรอก ยิ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้นอย่างในทุกวันนี้ การวัดผลิตภาพของคนงานแต่ละคนอาจมีราคาที่แพงมากจนไม่คุ้ม ซ้ำยังทำไม่ได้ในทุกกรณีด้วย ส่วนผลิตภาพของผู้บริหารก็แทบจะพูดได้ว่าประเมินไม่ถูกเลย (เช่น บริษัททำกำไรได้เพิ่มขึ้นในปีที่แล้วมาจากปัจจัยอะไรบ้าง คงไม่ใช่เพราะผลิตภาพของผู้จัดการเพียงคนเดียวแน่ และจะให้น้ำหนักแก่ปัจจัยอะไรมากหรือน้อยกว่าอะไร เพราะเหตุใด) ยิ่งหากเป็นผู้บริหารกิจการสาธารณะแล้วก็ยิ่งหมดทางประเมินเอาเลย (เช่น สมัยหนึ่งตำรวจดูสถิติการแจ้งความในแต่ละโรงพัก เพื่อประเมินความสามารถของผู้กำกับ ทำความเสียหายแก่หน้าที่รักษากฎหมายของตำรวจเสียยิ่งกว่าใช้วิธีจับฉลากเพื่อเลื่อนขั้น)

 

มองระดับสังคมโดยรวม Piketty เห็นว่าค่าจ้างในแต่ละสังคมขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและการศึกษามากกว่า เทคโนโลยีทำให้กระบวนการผลิตเปลี่ยนไป ต้องการทักษะใหม่ ส่วนการศึกษา (ที่มีคุณภาพ) ก็ทำให้คนคิดเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลิตภาพยิ่งกว่าเก่า และทำให้ต้องการทักษะใหม่ไปป้อนเทคโนโลยีนั้น

ดังนั้น หากต้องการยกระดับรายได้ของประชาชน รัฐจึงต้องลงทุนกับการศึกษาอย่างจริงจังและเต็มที่ แต่เขาก็เตือนไว้ด้วยว่า อย่ามองความสัมพันธ์ตรงนี้อย่างเคร่งครัดเกินไป เพราะ “เป้าหมายหลักของงานด้านอนามัยไม่ได้มีแต่เพียงเตรียมแรงงานที่มีสุขภาพดีให้แก่ภาคการผลิตอื่นเท่านั้น ด้วยเหตุผลเดียวกัน เป้าหมายหลักของงานด้านการศึกษาก็ไม่ใช่เพื่อเตรียมนักศึกษาให้มีอาชีพในภาคอื่นของเศรษฐกิจ ในสังคมของมนุษยชาติทุกแห่ง สุขภาพอนามัยและการศึกษามีคุณค่าในตัวของมันเองเสมอ นั่นคือ หลายปีในชีวิตที่คนสามารถมีความสุขกับสุขภาพที่ดีได้ อย่างเดียวกับหลายปีที่สามารถรับความรู้และวัฒนธรรมได้ ย่อมเป็นเป้าหมายพื้นฐานของอารยธรรม”

Piketty ยอมรับด้วยว่า แม้แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยการศึกษาและเทคโนโลยีแล้วก็ยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์อภิมหาผู้จัดการได้อยู่นั่นเอง เพราะประเทศมั่งคั่งของภาคพื้นทวีปยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งได้ผ่านเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ อีกทั้งมีระบบการศึกษาที่ไม่น้อยหน้าใคร ก็หาได้เกิดปรากฏการณ์อย่างเดียวกับที่เกิดในสหรัฐและประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น เขาจึงยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดค่าแรง ซึ่งจะละเลยไม่นำขึ้นมาพิจารณาไม่ได้เลยก็คือรัฐและสังคมนั่นเอง เช่น หากในฝรั่งเศส ธุรกิจใดจ่ายค่าตอบแทนแก่อภิมหาผู้จัดการในอัตราเดียวกับสหรัฐ หรือรัฐจ่ายค่าตอบแทนแก่คณะกรรมการอิสระสูงเท่านั้น คนฝรั่งเศสก็จะพากันร้องเฮ้ย! หยุดก่อน

ผมออกจะสงสัยว่า การที่สหรัฐเริ่มและใช้อภิมหาผู้จัดการยิ่งกว่าใครเขาอื่นนั้น เพราะธรรมชาติของตลาดหุ้นสหรัฐโน้มนำไปเช่นนั้น คนอเมริกันลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะเก็งกำไรสูงมาก ในขณะที่ผมเข้าใจว่า คนในประเทศอื่นโดยเฉพาะญี่ปุ่นเก็งกำไรในตลาดหุ้น เพียงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนของเงินออมมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นหลักประกันความปลอดภัยของเงินออม ส่วนจะได้มากกว่านั้นก็ถือว่า “เฮง”

ด้วยเหตุดังนั้น การทำให้หุ้นของบริษัทซื้อได้ขายคล่อง มีกำไรต่อหน่วยลงทุนสูง จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของการ “ประกอบการ” ของธุรกิจ จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว ดังที่เราเห็นได้ในธุรกิจดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จอย่างฉับพลันทั้งหลาย แต่จะหาเทคโนโลยีอะไรที่พัฒนาได้เร็วเท่าดิจิทัลคงยาก จึงต้องใช้อีกวิธีหนึ่งคือ เอาเปรียบคนอื่น เอาเปรียบแรงงาน (พิสูจน์กันมาบ่อยแล้วว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐขึ้นไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ รายได้จริงของคนงานไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจลดลงในบางจังหวะที่ประธานาธิบดี เช่น เรแกนและบุชพ่อ-ลูกแช่แข็งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย) เอาเปรียบผู้บริโภค เอาเปรียบผู้เสียภาษี ฯลฯ ในกรณีสหรัฐซึ่งรัฐใช้อำนาจตนเองเข้ามาหนุนนายทุน ก็รวมถึงเอาเปรียบประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายด้วย ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมยา เป็นต้น

อภิมหาผู้จัดการคือ “ชื่อ” ที่ทำให้ผู้เก็งกำไรในตลาดหุ้นเชื่อมั่นว่ามีฝีมือในการทำให้หุ้นของบริษัทซื้อง่ายขายคล่อง ไม่เกี่ยวกับฝีมือการบริหารหรือทางเทคโนโลยีเท่าไรนัก และหาก “ชื่อ” นั้นให้ผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ได้สูงจริง บริษัทก็พร้อมจะจ่ายเงินเดือนให้สูงลิบ พร้อมกับโบนัสก้อนโตด้วย

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามจะสร้างความเข้าใจผิดๆ ในสังคมไทยว่าผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาคสาธารณะและภาคเอกชนควรได้ค่าตอบแทนสูงลิบเช่นนั้นเหมือนกัน และเริ่มประสบความสำเร็จกันมากขึ้นในหลายวงการ

ที่ผมพอจะรู้อยู่บ้างคือในวงการมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยจะไม่เป็นส่วนราชการอีกต่อไป พ.ร.บ.ใหม่ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็ร่างขึ้นเอง จะกำหนดค่าตอบแทนให้ผู้บริหารระดับสูงอย่างน่าตกใจ ทุกมหาวิทยาลัยอ้างอย่างเดียวกันว่า เพื่อให้สามารถดึงเอา “มือดี” เข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยได้ (อดคิดถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ยอมรับเงินเดือนต่ำในฐานะคณบดี แทนเงินเดือนสูงในฐานะผู้ว่าการ ธปท.ไม่ได้ หรืออาจารย์ป๋วยไม่ใช่ “มือดี”?) แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภาผู้แทนฯไปแล้ว คนที่เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีก็คนเดิม หรือพรรคพวกของคนเดิม (อันที่จริงคือพรรคพวกของสภามหาวิทยาลัยเจ้าเก่า) ซึ่งไม่เคยได้ชื่อว่า “มือดี” มาก่อนเลย

นอกจากมหาวิทยาลัย เราได้เห็นการเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้สูงลิบกับตำแหน่งสาธารณะต่างๆ อีกหลายตำแหน่ง-กรรมการองค์กรอิสระ, ผู้พิพากษา, อัยการ, ศาลรัฐธรรมนูญ, นายพล, นักการเมือง ฯลฯ ทั้งยังมีเงินเพิ่มพิเศษอื่นๆ พ่วงเข้ามาด้วย

ผมคิดว่าสังคมไทยควรมีสติในเรื่องนี้ให้มาก อภิมหาผู้จัดการไม่ใช่คำตอบของการประกอบการของโลกปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในโลกแองโกลแซกซัน ไม่ได้เกิดในประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป (Piketty ยอมรับว่าสัดส่วนของรายได้ที่เกิดจากค่าตอบแทนแรงงานสูงขึ้นในคนบางกลุ่ม-ที่มีการศึกษา-ในประเทศรวยและเริ่มรวยจริง แต่ไม่ใช่ปรากฏการณ์อภิมหาผู้จัดการ ดังนั้น จึงต้องการคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากอภิมหาผู้จัดการ) ถึงไทยไม่เดินตามสหรัฐในเรื่องนี้ ก็ไม่ทำให้การประกอบการของไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนต้องล้าหลัง

นอกจากนี้ เราพิสูจน์ผลิตภาพของผู้บริหารไม่ได้หรอกครับ ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเท่าไร ก็ยิ่งพิสูจน์ได้ยากขึ้นเท่านั้น ก็เรายังเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้ไม่ใช่หรือครับว่า ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นเป็นนายกฯ ที่ดีหรือห่วยกันแน่

ลองดู “มือดี” ในองค์กรอิสระและองค์กรมหาชนทั้งหลายในเวลานี้เถิดครับ ต่างแข่งขันกันเข้ามารับตำแหน่งด้วยกฎหมายซึ่งวางอำนาจหน้าที่ไว้อย่างหนึ่ง แต่พอเกิดรัฐประหาร คสช. อำนาจหน้าที่นั้นก็ถูกเผด็จการทหารแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่เห็นมี “มือดี” คนไหนลาออกสักคน คนเราจะ “มือดี” ในทุกเงื่อนไขได้อย่างไรกัน หากเติ้งเสี่ยวผิงถูกบังคับให้ทำนารวมต่อมาจนเสียชีวิต เขาก็คงเป็นชาวนาที่ห่วยมากๆ ไปจนตาย เพราะมือของเขา “ดี” ไปทางอื่นที่ไม่ใช่ทำนา (ผมตั้งใจเขียนตรงนี้ฝากให้แก่กรรมการ กสทช.และอธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นพิเศษ)

เมื่อไรที่ประชาชนมีอำนาจกำกับควบคุมการบริหารบ้านเมืองได้ เราควรขอคำชี้แจงที่มีเหตุผลและข้อมูลดีกว่าที่ผ่านมาแก่ค่าตอบแทนที่สูงเกินจริงเหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image