สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศาลพระกาฬ ยุคอยุธยา อยู่สี่แยกตะแลงแกง ย่านกลางเมือง

ศาลหลักเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างใหม่แล้วทำพิธีเปิดใช้งาน พ.ศ. 2527 บนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเทวสถาน หรือศาลพระกาฬ ยุคอยุธยา (ภาพจาก http://ศาลหลักเมือง.blogspot.com/2016/02/phra-nakhon-si-ayutthaya-city-pillar-shrine.html)

ศาลหลักเมือง ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีในยุคอยุธยา แล้วไม่มีซากว่าตั้งอยู่ตรงไหน? ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จึงไม่น่าเชื่อว่าเคยมีคติศาลหลักเมืองเหมือนปัจจุบัน

พบแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนยุคนั้นยกย่องเป็น “หลัก” และ “ศรี” ของกรุงศรีอยุธยา มีบอกเป็นลายลักษณ์อักษรในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม (เอกสารจากหอหลวง)

“หลัก” ของกรุงศรีอยุธยา มีพระมหาธาตุ, พระมหาเจดีย์, พระมหาพุทธปฏิมากร เช่นพระมหาธาตุ วัดมหาธาตุ, พระมหาเจดีย์ วัดขุนเมืองใจ, พระศรีสรรเพชญ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ฯลฯ

“ศรี” ของกรุงศรีอยุธยา อยู่ท้องถิ่น เช่น พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก อ่างทอง, พระประธม พระประโทน นครปฐม ฯลฯ

Advertisement

คติความเชื่อเกี่ยวกับศาลหลักเมืองตามที่เข้าใจทุกวันนี้ น่าจะมีเมื่อยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่หลักบ้านหลักเมืองเป็นความเชื่อมีแล้วในชุมชนดึกดำบรรพ์ซึ่งต่างจากศาลหลักเมืองทุกวันนี้

ศาลพระกาฬ และหอกลอง

บริเวณสี่แยกตะแลงแกง ย่านกลางเมือง เคยเป็นที่ตั้งศาลพระกาฬและหอกลอง มีบอกในเอกสารจากหอหลวง ยุคอยุธยา

ศาลพระกาฬ ประดิษฐานพระนารายณ์ (เหมือนศาลพระกาฬ ที่เมืองละโว้ จ. ลพบุรี) เคยขุดพบกรพระวิษณุ (พระนารายณ์) และซากเทวสถาน (ที่น่าจะเป็นศาลพระกาฬตามที่บอกไว้ในเอกสารจากหอหลวง) โดยอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2512-2513 มีรายละเอียดมากพิมพ์ในวารสาร โบราณคดี ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (ตุลาคม-พฤศจิกายน-ธันวาคม) พ.ศ. 2512

[เทวสถานกลางเมืองยุคอยุธยาที่ตะแลงแกงแห่งนี้ บางทีจะเป็นต้นแบบเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ แล้วมี “ตลาดเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์” อยู่ในกลอนบทละครเรื่องระเด่นลันได สมัย ร.3]

ตลาดศาลพระกาฬ อยู่ถนนย่านหน้าศาลพระกาฬ มีร้านชำ ขายหัวไนกับโครงไนปั่นฝ้าย (คำว่า ไน แปลว่า เครื่องมือปั่นฝ้าย)

หอกลอง อยู่ตะแลงแกง (ใกล้ศาลพระกาฬ) มียอดซุ้ม ทาสีแดง เป็นหอสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีกลอง 1 ใบ ใช้ตีสัญญาณบอกเหตุการณ์ เช่น มีศึก, มีไฟไหม้, และตีบอกเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image