รธน.’เรียกแขก’ข้อ16-น้ำครึ่งแก้ว จับตา’บิ๊กจิ๋ว’ออกโรง

เรียกแขกได้อย่างคึกคัก แม้บางคนจะเป็นแขกประจำหน้าคุ้นๆ ก็ตาม

นั่นคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ที่ล่าสุด ครม.ส่งข้อเสนอ 16 ข้อ ต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ปรับแก้หลายมาตรา

แต่ที่เกรียวกราว ได้แก่ “ข้อ 16” ในข้อเสนอดังกล่าว ที่ให้มีการยกเว้นหลักเกณฑ์บางอย่าง เพื่อรักษาสถานการณ์หลังเลือกตั้งและช่วงจัดตั้งรัฐบาล

คำอธิบายจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ก็คือ “เขาอยากอยู่ยาว”

Advertisement

ก่อนที่จะมีการขยายความถึงแนวโน้มของ “ข้อ 16” จาก อดีต ส.ส.เพื่อไทย นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ ที่ระบุว่า น่าจะเป็นการนำเอา “บทเฉพาะกาล” ในร่างรัฐธรรมนูญ 2521 ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างฯชุดปัจจุบัน เคยร่วมร่างมาก่อน มาใช้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อีกครั้ง

บทเฉพาะกาลดังกล่าว ใช้ระหว่างปี 2522-2526 มีสาระ ให้ข้าราชการประจำเป็น ส.ว.ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้ง รมต.และนายกฯได้

คือจุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกฯ จากปี 2523 ก่อนวางมือในปี 2531 รวม 8 ปีเศษ

Advertisement

และคำอธิบายต่อมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยิ่งแจ่มชัด

เมื่อนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า น่าจะเป็น “บทเฉพาะกาล” เพื่อคุมช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปี

และดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อมีการพบปะ ระหว่างนายมีชัย นายวิษณุ เครืองาม และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

ได้ข้อสรุปว่า จะต้องไปตีโจทย์ให้แตก สถานการณ์ก่อน 22 พ.ค.2557 เกิดจากอะไร และจะต้องมีบทบัญญัติเพื่อป้องกันได้อย่างไร

แขกคนแรกๆ ของ “ข้อ 16” ก็คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ปรากฏตัวผ่านอัลจาซีรา และรอยเตอร์ เสนอเปิดเจรจา พร้อมกับวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า นี่เหมือนกับที่กำลังเขียนกันในเกาหลีเหนือ

ตามมาติดๆ คือ การออกโรงของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อข้อ 16 พัฒนาไปถึงการกำหนดเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี และวาทะ “เขาอยากอยู่ยาว”

ในฐานะนายทหารรุ่นพี่ พล.อ.ชวลิตเตือนว่า ความคิดที่จะใช้บทเฉพาะกาล 5 ปีเพื่อคุมช่วงเปลี่ยนผ่าน และยังมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่น่าจะเป็นไปได้

“ท่านเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น จะขออยู่ต่ออีก 5 ปีได้อย่างไร แค่ 5 เดือนก็ไม่ไหวเพราะตลอด 2 ปีที่บริหารประเทศ เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ยิ่งในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ถ้า คสช.อยู่ต่อ อาจเหมือนอดีตรัฐบาลที่ผ่านมา ที่เข้ามาได้รับดอกไม้ พอออกไปได้รับก้อนอิฐ” พล.อ.ชวลิตกล่าว

พร้อมกับชี้ด้วยว่า การเข้ามาของทหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ระงับยับยั้งความขัดแย้งได้ระดับหนึ่ง แต่การบริหารงาน 2 ปีของรัฐบาล มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมืองยิ่งขึ้น ทั้งยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ที่ประชาชนเดือดร้อน การส่งออกลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญถอยหลังเข้าคลอง ถูกต่อต้านจากหลายภาคส่วน

ข้อเสนอจาก พล.อ.ชวลิตได้แก่ ให้รุ่นน้องใน “คสช.” ถอนตัว คืนอำนาจให้ประชาชน โดยตั้งคณะกรรมการกลาง จากภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันบริหารจัดการ ให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2559

สำหรับบิ๊กจิ๋ว แม้จะผ่านยุคพีคสุดทางการเมืองไปแล้ว แต่ไม่ใช่ทหารแก่หมดน้ำยา ในฐานะอดีตทหารใหญ่ที่คร่ำหวอดกับการเมืองกองทัพ ความขัดแย้งทางความเชื่อในยุคที่กองทัพยังรบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนถอดเครื่องแบบมาเล่นการเมืองตามกติกาประชาธิปไตย ถือเป็นชั่วโมงบินที่มองข้ามไม่ได้

การออกมาเตือนรุ่นน้องในครั้งนี้ ถือว่ามาถูกที่ถูกเวลา กลายเป็นเสียงแทนคนอีกไม่น้อยที่เริ่มสงสัยในทิศทางของบ้านเมือง

นักวิเคราะห์บางสำนักโยงการออกโรงของ พล.อ.ชวลิตกับนายทักษิณว่ามีรายการมองตากันหรือไม่

เป็นเรื่องที่คิดได้ แต่พิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์บ้านเมืองมาถึงจุดที่กำหนดให้นักการเมืองต้องออกมาแสดงท่าทีไว้เป็นหลักฐานแก่สังคม

ปัญหาอยู่ที่เนื้อหาสาระ และผลที่จะตามมา หากมีการบังคับใช้มาตรการตามข้อ 16 มากกว่า

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกปัดข้อเรียกร้องของ พล.อ.ชวลิตว่า คงจัดเลือกตั้งไม่ทันในปีนี้ เพราะตามโรดแมป เป็นคิวของการทำประชามติ

ถือว่า เป็นกฎธรรมดาของการครองอำนาจ ยืดออกได้ แต่น้อยครั้งที่จะร่นเข้ามา

การเมืองในยุครัฐธรรมนูญ 2521 ที่มีบทเฉพาะกาลยกเว้นหลักการประชาธิปไตยหลายประการ ใช้ต่อเนื่องถึง 14 ปี ก่อนถูกฉีกโดยรัฐประหาร 23 ก.พ.2534 แตกต่างจากยุคนี้อย่างมาก

แม้ นายสมัคร สุนทรเวช ประกาศยอมกินน้ำครึ่งแก้ว ดีกว่าไม่ได้กินเลย ก่อนนำพรรคประชากรไทยลงเลือกตั้งปี 2522 ขณะที่นักการเมืองบางคนขอประท้วงไม่ยอมลงสมัคร

แต่ขณะนี้ปี 2559 ความรับรู้ ความเข้าใจการเมืองของสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก

การมุ่งหวังให้เลือกดื่มน้ำครึ่งแก้วไปอีก 5 ปีหลังเลือกตั้ง เป็นความคาดหวังที่ท้าทายความรู้สึกนึกคิดของคนในยุคนี้

และยิ่งทำให้การผลักดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติในเดือนกรกฎาคมนี้ กลายเป็นงานหนักยิ่งขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image