‘อภิสิทธิ์’หนุนลดวาระกำนันเหลือ5 ปี แถมชงโอนอำนาจจังหวัดให้อบจ.มากขึ้น

“อภิสิทธิ์” หนุนลดวาระกำนันเหลือ 5 ปี ชี้เลือกตั้งแบบมีวาระเป็นหลักประกันให้ ปชช.

วันที่ 11 เมษายน ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 97 ต่อ 27 เห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2557 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งกำนัน วาระการดำรงตำแหน่งกำนันให้ลดวาระกำนันเหลือวาระละ 5 ปี จากเดิมให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปีว่า เป็นหลักการที่ดี เพราะการมีวาระน่าจะทำให้เกิดความมั่นใจในแง่ความรับผิดชอบต่อประชาชน และยังเป็นการเลือกตรงจากประชาชนด้วย ส่วนกระแสคัดค้านจากกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เกิดขึ้นนั้น คิดว่ารัฐบาลต้องตัดสินใจ เหมือนกับการปฏิรูปการเมือง ตนก็บอกเสมอว่า ให้ฟังเหตุผลของนักการเมืองในประเด็นหลักการ และส่วนรวม ไม่ต้องฟังเรื่องที่เป็นการปกป้องประโยชน์ตัวเอง ให้พิจารณาในกรอบนี้ สำหรับกำนันผู้ใหญ่บ้านก็เสนอมาว่าระบบที่เป็นอยู่ดีกว่าอย่างไร แต่ไม่ควรทำให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งลุกลาม เพราะทุกองค์กรต้องพร้อมปฏิรูป การเลือกตั้งแบบมีวาระเป็นหลักประกันความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ชัดเจนมากขึ้น หากทำก็ต้องแก้กฎหมาย ขณะที่กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย ส่วนที่อ้างว่าจะทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่องนั้น ตนเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะไม่ได้ห้ามผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมัครอีกประชาชนก็สามารถเลือกกลับเข้ามาได้

นายอภิสิทธิ์ยังเสนอให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มเติม โดยอยากให้จังหวัดโอนอำนาจให้อบจ.มากขึ้น ซึ่งก็จะเหมือนกับประชาชนเลือกผู้ว่าฯ แต่จะคงภารกิจผู้ว่าฯในการเป็นตัวแทนส่วนกลางไว้ อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณคณะกรรมการกระจายอำนาของรัฐบาลที่ยับยั้งการยุบ อบต.หรือยกเป็นเทศบาลทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจาก อบต.เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจและไม่เห็นด้วยที่บอกว่าถ้าประชากรไม่ถึงรายได้ไม่ถึงไม่มีสิทธิมีองค์กรปกครองท้องถิ่นของตัวเอง เพราะสภาพท้องถิ่นต้องการล้อกับสภาพความเป็นจริงของชุมขน แม้ประชากรไม่ถึงก็ควรมีองค์กรปกครองท้องถิ่นดูแลในพื้นที่ และควรคิดในมุมที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้น เช่น เลือกผู้ว่าฯ เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น แต่ควรมีกฎหมายสร้างธรรมาภิบาล จะทำโครงการอย่างไรต้องมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนควรเป็นอย่างไร เพราะมีปัญหาระหว่างท้องถิ่นกับ สตง.มาก เนื่องจากมุ่งตีความเรื่องไม่ใช่อำนาจทำให้ทำงานยากควรทำความเข้าใจและสะสางตรงนี้มากกว่า ไม่ใช่กระจายอำนาจน้อยลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image