เปิดตัว ‘น้องฟาน’ มาสคอตแคมเปญ ดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก

วันที่ 11 เมษายน 2560 ณ ลานห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียง หอศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และคณะทำงานร่วมกันแถลงข่าวความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (ระยะที่ 2) พร้อมเปิดตัว Mascot “น้องฟาน” สัญลักษณ์เพื่อการรณรงค์เชียงใหม่สู่มรดกโลก

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เราผ่านการดำเนินงานมาสู่ระยะที่ 2 แล้ว ในฐานะที่เมืองเชียงใหม่มีความพร้อมในการขึ้นเป็นเมืองมรดกโลก เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นภาษา การแต่งกาย หัตถกรรม วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ จากนี้ไปคือจะทำอย่างไรที่จะเป็นมรดกโลก ชุมชนในพื้นที่ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องเสียสละบางอย่างเพื่อได้สิ่งที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า เพราะการเป็นมรดกโลกไม่ใช่ที่จะเป็นได้ง่ายๆ แต่ขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของชุมชน เป็นความภาคภูมิใจเพราะชุมชนเป็นผู้เริ่ม ศึกษา และร่วมมือด้วยตนเอง

ด้าน รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าวว่า ตามที่เมืองเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ จึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ริเริ่มโครงการจัดทาแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (โครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก) ระยะที่ 1 ในปี 2559 และระยะที่ 2 ในปี 2560 คือในเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา คณะทำางานดำเนินงานต่อยอดจากระยะที่ 1 ในด้านการศึกษา และรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และบริบทต่างๆ ของเมืองเพิ่มเติม เพื่อสร้างข้อมูลและหลักฐานสนับสนุนรองรับแนวคิดการนำเสนอคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV) และพื้นที่ยื่นขอเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกแบบกลุ่ม (Serial Nomination Area) ทั้ง 2 แหล่ง คือ เวียงเชียงใหม่ และดอยสุเทพ-วัดพระธาตุดอยสุเทพ ตามหลักเกณฑ์การเป็นมรดกโลก (Criteria of Selection) และแนวทางการเตรียมเอกสารยื่นขอเสนอ ร่วมไปกับการพัฒนากระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อสร้างแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก (Management Plan) ซึ่งจะต้องจัดทำขึ้นควบคู่กับข้อเสนอทั้งในส่วนของคุณค่า และพื้นที่ยื่นขอเสนอเป็นมรดกโลก

“เราแบ่งร่างประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล และผู้มีส่วนเกี่ยว ไว้ทั้งหมด 5 ประเด็น คือ แผนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน แผนการอนุรักษ์แหล่งมรดกและสภาพแวดล้อม แผนการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและแผนรับมือความเสี่ยงแหล่งมรดก แผนการจัดการการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว และแผนพัฒนาศักยภาพแหล่งมรดก ซึ่งจะได้นำไปสู่เวทีระดมความคิดเห็นเพื่อสร้างร่างแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกของเชียงใหม่ต่อไป” รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าวอีกว่า และเพื่อการรณรงค์โครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก เราจึงเปิดตัว “น้องฟาน” Mascot เป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และปลุกจิตสานึกให้กับเยาวชนและคนเชียงใหม่ เกิดความตระหนัก หวงแหน และร่วมมือกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามของเชียงใหม่ให้คงอยู่ ในฐานะเมืองที่ยังมีชีวิต นักท่องเที่ยวมีความเคารพในความงดงาม เพื่อรักษาสิ่งที่มีคุณค่าไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา ในขณะเดียวกันชาวเชียงใหม่ที่อยู่อาศัยก็มีความอยู่เย็นเป็นสุข เกิดเป็นพันธมิตรในการร่วมกันปกป้องรักษาร่วมกับลูกหลาน


สำหรับ Mascot ‘น้องฟาน’ มาจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่กล่าวถึงปรากฏการณ์อันเป็นชัยมงคลทั้ง 7 ประการของชัยภูมิแห่งใหม่ ที่พญามังรายทรงเลือกเป็นที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ โดยฟานเผือก หรือกวางเผือก ปรากฏอยู่ในตำนานความว่า “อันหนึ่งว่าฟานเผือก 2 ตัว แม่ลูก มาอยู่ ไชยภูมิที่นี้ รบหมา หมาทังหลายพ่ายหนีบ่อาจจักจั้งได้สักตัวเป็นไชยมงคล” น้องฟานจึงเป็นดั่งตัวแทนของความเป็นสิริมงคล ความงดงามแห่งการเริ่มต้นใหม่ ความหวัง ชัยชนะ ความบริสุทธิ์ และสว่างไสว ยินดีปรีดา และความสมัครสมานสามัคคี ความหมายอันดีงามทั้งหลายนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้นำมาพัฒนาเป็นโจทย์ให้กับการประกวดการออกแบบ “ฟานเผือก” จากการปะะกวดในช่วงปลายปี 2559 โดยนาย Ting Chu และพัฒนาเป็น Mascot เพื่อสร้างสีสัน ปลูกจิตสานึก จิตวิญญาณความรัก และความหวงแหนที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image