สุจิตต์ วงษ์เทศ : นั่งท้ายรถกระบะเล่นสาดน้ำ ต่อรองอำนาจรัฐ ชุดไทยลายดอก เล่นสงกรานต์ ประเพณีสร้างใหม่เพื่อการท่องเที่ยว

ชุดไทยเสื้อฮาวายลายดอกใส่หมวกฝรั่ง (ภาพจาก มติชนออนไลน์ ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2559)

สาดน้ำสงกรานต์และการละเล่นอื่นๆ เป็นเครื่องมือต่อรองกับผู้มีอำนาจตามจารีต มีในชุมชนบ้านเมืองสมัยก่อนๆ เช่น

ราษฎรไล่สาดน้ำเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ถ้าเป็นยามปกติก็หัวขาด

ชุมชนลุ่มน้ำโขง ผู้หญิงอุ้มพระสงฆ์โยนลงแม่น้ำ หรือหนองบึง ไม่ถือเป็นผิดบาป ฯลฯ

ปัจจุบันนั่งท้ายรถกระบะเล่นสงกรานต์ ก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งใช้ต่อรองกับอำนาจรัฐ

Advertisement

คนสมัยก่อนแต่งตัวตามสบาย

สงกรานต์ที่กำหนดให้ต้องแต่งชุดไทยหรือเสื้อคอกลมลายดอก ไม่เคยพบแบบแผนนี้อยู่ในสังคมชาวไทยสยามยุคก่อนๆ เช่น ยุคอยุธยา

จึงเป็นแบบแผนใหม่ล่าสุดที่ต้องการแสดงตนเป็นไทยแท้, ไทยทั้งแท่ง, ไทยทั้งดุ้น, ไทยเดิมตั้งโด่ ฯลฯ เพื่อการตลาดของการท่องเที่ยว

สงกรานต์สมัยก่อนๆ พวกไพร่แต่งตัวตามมีตามเกิด หรือที่คิดว่างามของยุคนั้นๆ มีร่องรอยอยู่ในนิราศเดือน ของเสมียนมี (กวีสมัย ร.3) สะท้อนรสนิยมเล่นสงกรานต์ของคนในยุคต้นกรุงเทพฯ ว่าแต่งตัวตามสะดวกสบาย และตามลักษณะชนชั้น หรือตามมีตามเกิด

Advertisement

ไม่มีตรงไหนเลยที่กำหนดให้แต่งชุดไทยเสื้อคอกลมลายดอกเหมือนทางการยุคนี้มีระเบียบออกมา แล้วอ้างอิงโบราณ เช่น

“ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์ ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย”, “ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม”, “มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง ดูเพริศพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา” ฯลฯ

ขนทรายเข้าวัด ไม่เกี่ยวกับขนทรายคืนวัด

ขนทรายเข้าวัด ไม่เกี่ยวกับทรายวัดติดตีนชาวบ้านที่เดินเข้าออกวัด เมื่อถึงสงกรานต์ต้องขนทรายมาคืน เพราะนั้นเป็นอุบายของคนสมัยก่อนๆ สร้างนิทานจะหาทรายเข้าวัดไว้ซ่อมสร้างสิ่งชำรุดทรุดโทรม

ขนทรายเข้าวัด เป็นประเพณีผี-พราหมณ์-พุทธของชุมชนชาวบ้าน เพื่อเตรียมไว้ทำอิฐเผาเป็นวัสดุสร้างซ่อมศาสนสถานในวัด

ก่อพระทราย เป็นอุบายวิธีให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาแหล่งทราย แล้วขนทรายเข้าวัด โดยอ้างว่าเพื่อเตรียมไว้ก่อพระทรายเอาบุญวันสงกรานต์

ขนทรายเข้าวัดไม่ใช่ประเพณีพื้นเมืองดั้งเดิม เพราะทำเพื่อก่อพระเจดีย์ทราย แล้วเอาไว้ผสมดินเหนียวทำอิฐเผาซ่อมสร้างปูชนียสถานในวัด ซึ่งต้องมีขึ้นเมื่อหลังรับพุทธศาสนาจากอินเดีย ราวหลัง พ.ศ. 1000

อิฐเผายุคทวารวดีสืบเนื่องถึงอิฐเผายุคเขมร ล้วนมีทรายเป็นส่วนผสมสำคัญอยู่ด้วย เพื่อให้อิฐแกร่งและทนทาน โดยชาวบ้าน, พระสงฆ์, ฯลฯ เป็นช่างก่อสร้างผู้ใช้ทรายสงกรานต์ทำอิฐเผาซ่อมสร้างปูชนียสถานสำคัญในวัด

ชุมชนโบราณสามัญชนไม่สร้างบ้านด้วยอิฐไม่ว่ากรณีใดๆ อิฐใช้สร้างวัดกับวังเท่านั้น

สงกรานต์ไม่ใช่ของไทย เป็นของพราหมณ์จากอินเดีย

สงกรานต์ปัจจุบันเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์

เพราะสงกรานต์เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย เกี่ยวกับการย้ายราศีของดวงอาทิตย์ จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ราวกลางเดือนเมษายนของทุกปี

ราชสำนักโบราณในอาเซียน รับประเพณีสงกรานต์จากพราหมณ์อินเดียเหมือนกันทุกแห่ง ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมอำนาจการปกครอง

สมัยแรกๆ มีอยู่ในราชสำนักเท่านั้น ราษฎรทั่วไปไม่รู้จักสงกรานต์

ครั้นนานเข้าถึงสมัยหลังๆ จึงแพร่หลายสู่ราษฎร แล้วผสมผสานกับประเพณีพื้นเมืองสืบจนปัจจุบัน เช่น รดน้ำ แล้วกลายเป็นสาดน้ำ

สงกรานต์เปลี่ยนศักราช ไม่ใช่เปลี่ยนปีนักษัตร

สงกรานต์ เป็นช่วงเปลี่ยนศักราชของอินเดีย เช่น มหาศักราช, จุลศักราช, อัญชนศักราช เรียกในเอกสารโบราณของไทยว่าสิ้นปีเผด็จศก แล้วเถลิงศก ขึ้นปีใหม่

ปีนักษัตร คือ ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ ฯลฯ ไม่เกี่ยวกับสงกรานต์ จึงไม่เปลี่ยนปีนักษัตรตอนสงกรานต์ ตามที่สื่อมวลชนประกาศบ่อยๆ

เพราะปีนักษัตรไม่มีในอินเดีย แต่ไทยรับจากจีน จึงเปลี่ยนปีนักษัตรช่วงเดือนอ้าย หลังลอยกระทง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image