ทำไม “นาซา” ต้องทำลาย”แคสซินี”?

(ภาพ-NASA)

“แคสซินี” คือยานสำรวจดาวเสาร์และดาวบริวารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ถูกส่งออกจากโลกไปเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ไม่มียานลำไหนทำมาก่อน ขณะนี้ แคสซินี กำลังโคจรด้วยความเร็ว 122,310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่ในช่องว่างแคบๆ ระหว่างวงแหวนและตัวดาวเสาร์เอง เพื่อสำรวจขั้นตอนสุดท้ายตามภารกิจ

ในช่วงที่ผ่านมา แคสซินี ประสบความสำเร็จอย่างงดงามตามเป้าหมายของภารกิจที่กำหนดไว้ นำทั้งภาพและข้อมูลแสนอัศจรรย์จากดาวเสาร์และบริเวณใกล้เคียง ทั้งบริเวณวงแหวนและดวงจันทร์บริวารทั้งหลาย มาสู่สายตาของชาวโลกและนักวิทยาศาสตร์ของนาซา แคสซินีไม่เพียงเปิดเผยให้เราได้รับรู้ถึง “เกย์เซอร์” หรือ “น้ำพุร้อน” บน “เอ็นเซลาดัส” หนึ่งในดาวบริวารของดาวเสาร์ ซึ่งส่อให้เห็นว่า ภายใต้พื้นผิวที่เยือกแข็งของมันมี “มหาสมุทร” ขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่เท่านั้น ยังแสดงให้เห็นว่า “ไททัน” ดาวบริวารขนาดใหญ่อีกดวงของดาวเสาร์ มีสภาพแวดล้อมที่ทั้งใกล้เคียงกับโลกและแตกต่างจากโลกเรามากมายเพียงใด

ก่อนหน้านี้ ยานสำรวจหลายๆดวง ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้โคจรไปรอบๆดาวเป้าหมายไปเรื่อยๆ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลง แม้ตัวยานจะหมดเชื้อเพลิงแล้ว ตัวอย่างเช่น ยานสำรวจ “ดอว์น” ที่เดินทางไปสำรวจ ดาวเคราะห์แคระ “เซเรส” แต่นาซาไม่ทำอย่างเดียวกันนั้นกับ แคสซินี กลับเตรียมการเริ่มต้นกระบวนการทำลายยานลำนี้ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายนที่จะถึงนี้ ทำให้หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไม?

เอิร์ล เมซ ผู้จัดการโครงการภารกิจสำรวจดาวเสาร์ของแคสซินี เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 เมษายนนี้ แคสซินี จะเริ่มต้นการโคจรเพื่อการสำรวจ 22 รอบสุดท้ายของมัน โดยทางทีมควบคุมภาคพื้นดินของนาซา จะปรับวงโคจรของมันให้ลดต่ำลงเรื่อยๆเป็นระยะตามเวลาที่ผ่านไป เมื่อถึงวันที่ 15 กันยายน ซึ่งเป็นกำหนดโคจรครบรอบที่ 22 พอดี แคสซินี จะถูกบังคับให้ลดระดับลงสู่บรรยากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซหนาแน่นของดาวเสาร์ เผชิญกับแรงเสียดสีและความร้อนมหาศาล

Advertisement

“ตอนนั้นมันจะเริ่มแตกออกเป็นชิ้นๆ หลอมละลาย ระเหิดกลายเป็นไอ แล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของดาวเสาร์ เป้าหมายที่มันต้องการสำรวจไปตลอดกาล” เมซอธิบาย

เหตุผลที่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ความแตกต่างระหว่างดาวเสาร์กับเป้าหมายอื่นๆที่นาซาเคยส่งยานไปสำรวจ รวมทั้งเซเรส นั่นคือในขณะที่เซเรสไม่มีดาวบริวาร ดาวเสาร์กลับมีดาวบริวารหรือดวงจันทร์ที่โคจรอยู่โดยรอบตัวมันเป็นจำนวนมาก มากถึงขนาดตอนนี้เท่าที่นับจำนวนได้มีถึง 62 ดวง หลายดวงในจำนวนนี้มีขนาดใหญ่พอที่จะมีแรงโน้มถ่วงในตัวมันเอง โดยเฉพาะจากดวงที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ไททัน แรงดึงและผลักจากแรงโน้มถ่วงดังกล่าวเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระนาบวงโคจรของแคสซินีอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงยิงจรวดเพื่อปรับวงโคจรให้อยู่ในระนาบที่ถูกต้อง

เมื่อเชื้อเพลิงของแคสซินีหมดลง การปรับวงโคจรดังกล่าวทำไมได้อีกต่อไป ชะตากรรมของมันขึ้นอยู่กับตัวมันเองว่าจะถูกดึงหรือผลักไปในทิศทางใด นักวิทยาศาสตร์ของนาซา ไม่ต้องการให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการที่ แคสซินี จะถูกไททันดึงดูดเข้าหาและตกไปกระแทกพื้นดาวบริวารดาวเสาร์ดวงนี้ ซึ่งเชื่อกันว่า อาจมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตปรากฏอยู่

ลินดา สปิลเคอร์ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการนี้อีกคนระบุว่า มีโอกาสสูงมากที่หากปล่อยให้แคสซินีโคจรไปตามยถากรรมมันจะตกลงสู่ดาวบริวารดวงใดดวงหนึ่ง และถึงแม้ว่า แคสซินี จะออกเดินทางจากโลกมานานถึง 20 ปีแล้วก็ตาม การทดลองที่ทำกันในสถานีอวกาศนานาชาติแสดงให้เห็นว่า จุลชีพจากโลกสามารถมีชีวิตอยู่ในห้วงอวกาศที่เต็มไปด้วยรังสี ร้อนจัดและเย็นจัด และไม่มีอากาศอยู่ได้นานหลายปี การตกลงสู่ดาวบริวารดวงใดดวงหนึ่งโดยบังเอิญ ไม่สามารถการันตีได้ว่ายานจะถูกทำลายกลายเป็นไอและเป็นผุยผงเหมือนการทะยานผ่านชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ ทำให้โอกาสที่จะเกิดมีสิ่งมีชีวิตที่ติดไปจากโลก ไปปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมาก

สิ่งมีชีวิตจากโลก อาจไปทำลายสิ่งมีชีวิตเดิมที่อาจมีอยู่ หรืออาจทำให้น้ำในมหาสมุทรของเอ็นเซลาดัสปนเปื้อน ทำให้การค้นหาสิ่งมีชีวิตในต่างดาวซับซ้อน ยุ่งยากมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แคสซินี จึงจำเป็นต้อง “ตาย” ลงไป ในขณะที่นาซายังสามารถควบคุมมันอยู่ได้นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image