ไขปริศนา ทำไม ยิ่งอายุมาก ยิ่ง “หลับ” น้อยลง

(ภาพ-pixabay)

ผลงานศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ นำโดยแมทธิว วอล์คเกอร์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ นิวโรอิเมจจิงและการหลับ ที่เบิร์กลีย์ ขจัดข้อสงสัยเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีมานานว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้นจะนอนหลับสนิทน้อยลงนั้น เป็นเพราะร่างกายต้องการการหลับน้อยลง หรือเป็นเพราะคนเราไม่สามารถหลับสนิทได้นานเท่าที่ต้องการเมื่ออายุมากขึ้น

งานวิจัยใหม่นี้มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ข้อเท็จจริงคือ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ยังคงต้องการการนอนหลับสนิทเท่าเดิม เพียงแต่ทำไม่ได้อย่างที่ต้องการเท่านั้นเอง

ธรรมชาติของสัตว์โลกทุกชนิดต้องการการนอน ศาสตราจารย์วอล์คเกอร์ ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากการนอนเป็นสิ่งจำเป็นต่อมีชีวิต ในกรณีของมนุษย์ อวัยวะสำคัญๆทุกอย่าง รวมถึงระบบต่างๆภายในร่างกายล้วนต้องการการนอนหลับจึงสามารถจะทำหน้าที่ได้ตามปกติที่ควรจะเป็น นอกจากนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบด้วยว่า การขาดการนอนหลับสนิทนั้น ส่งผลกระทบให้เกิดโรคจำนวนมาก ตั้งแต่โรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด, เบาหวาน และโรคอ้วน ในเวลาเดียวกันก็พบด้วยว่า เมื่อเราอายุมากขึ้นความสามารถในการนอนหลับสนิทจริงๆก็จะลดลงเรื่อยๆ

วอล์คเกอร์และทีมวิจัยระบุว่า สาเหตุของการนอนหลับน้อยลงเมื่อสูงวัยขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่สมองของเราสูญเสียการเชื่อมต่อระหว่างระบบประสาทที่ทำหน้าที่รับคำสั่งให้นอนหลับไปนั่นเอง ซึ่งจะแตกต่างจากในสัตว์ โดยเมื่อทีมวิจัยทดลองตรวจหาและวัดปริมาณกับชนิดของสัญญาณทางเคมีที่หลั่งออกมาของหนูทดลองอายุน้อยกับหนูทดลองสูงอายุแล้วพบว่า เคมีสัญญาณดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยไม่ว่าหนูทดลองจะอายุมากเพียงใด

Advertisement

สัญญาณที่ส่งไปยังสมองของคนเพื่อให้นอนหลับก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่เกิดปัญหาขึ้นที่ตัวรับสัญญาณดังกล่าว ซึ่งจะค่อยๆลดความสามารถในการรับสัญญาณลงเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ สมองของคนสูงอายุจึงรับสัญญาณที่จัดการคิวการนอนได้ลดน้อยลง ทำนองเดียวกับเสารับสัญญาณวิทยุที่ขีดความสามารถในการรับสัญญาณลดน้อยลง แม้ว่าจะมีสัญญาณมาคงที่เท่าเดิม ก็รับไม่ได้

วอล์คเกอร์ระบุว่า ข้อที่น่าสนใจอย่างมากจากงานวิจัยใหม่นี้ก็คือ ก่อนหน้านี้เราเคยเข้าใจกันว่า ความชราภาพของคนเราทำให้นอนหลับได้น้อยลง แต่ผลงานวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การนอนหลับน้อยลงคือเหตุปัจจัยหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดภาวะชราภาพในมนุษย์ ศาสตราจารย์วอล์คเกอร์ตั้งความหวังว่า ผลจากความเข้าใจใหม่นี้น่าจะช่วยให้เกิดวิธีการใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมในการต่อสู้กับภาวะชราภาพ ที่เป็นปัญหาสากลของมนุษย์ได้นั่นเอง

ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า “รีเซปเตอร์” หรือหน่วยรับสัญญาณการนอนหลับในสมองของคนเรา เริ่มเสื่้อมลงในทันทีที่คนเราอายุเข้าสู่ตอนปลายของอายุ 20 ปีไปจนถึงตอนเริ่มต้นอายุ 30 ปี ไม่ได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อสูงอายุมากๆแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามขีดความสามารถที่ลดลงดังกล่าวเกิดขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อคนเราอายุถึง 50 ปี ความสามารถในการรับสัญญาณของรีเซปเตอร์ก็จะลดลงเหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถเมื่อตอนอายุ 20 ปี ผู้ที่อายุ 50 ปี จึงมีความสามารถในการนอนหลับสนิท (ดีพ สลีพ) เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของเมื่อตอนอายุ 20 ปีนั่นเอง

Advertisement

เมื่ออายุถึง 70 ปี แต่ละคนก็จะมีความสามารถในการนอนหลับที่มีคุณภาพจริงๆเหลือน้อยมาก โดยจะหลับๆตื่นๆ แทนที่จะหลับสนิทจนครบวัฏจักรการนอนเต็มที่เหมือนก่อนหน้านี้

วอล์คเกอร์ตั้งข้อสังเกตว่า จนถึงขณะนี้ยังมีงานวิจัยอยู่น้อยในการพัฒนายาเพื่อแก้ปัญหานอนไม่หลับ และที่มีก็ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา มีเพียงยานอนหลับซึ่ง ทำให้เราไม่ตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราหลับลึกหรือหลับสนิท ดังนั้นจึงยังไม่ใช่ก่อให้เกิดการนอนที่มีคุณภาพจริงๆนั่นเอง มีบางวิธีที่มีแนวโน้มว่าจะได้ผลอย่างเช่น การจ่ายกระแสไฟฟ้าอ่อนๆเข้าสู่สมอง หรือ การบำบัดพฤติกรรมเกี่ยวกับการรู้คิด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไปโดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาการเสื่อมสภาพของรีเซปเตอร์นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image