คอนแทกต์เลนส์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

(ภาพ-Jack Forkey/Oregon State University)

ทีมนักวิจัยนำโดยศาสตราจารย์เกรกอรี่ เฮอร์แมน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการผลิต “ไบโอเซ็นเซอร์” ต้นแบบสำหรับให้ผู้ป่วยเบาหวานติดเข้ากับคอนแทกต์เลนส์เพื่อใช้สวม ทำหน้าที่เตือนให้รับรู้ได้ทันทีที่ระดับน้ำตาลในเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ตาม เชื่อว่าสามารถนำเอาหลักการเดียวกันไปใช้ในการเตือนภัยของโรคอีกหลายโรคที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง

“ไบโอเซ็นเซอร์” หรือเซ็นเซอร์ชีวภาพแบบโปร่งใสนี้ ผลิตจากแผ่นวงจรทรานซิสเตอร์โปร่งใสที่ประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ไอจีแซดโอ และกลูโคส ออกซิเดส ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ใช้ในการเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของน้ำตาลกลูโคสด้วยออกซิเจน เมื่อตัวไบโอเซ็นเซอร์ดังกล่าวสัมผัสกับกลูโคส (จากน้ำตา) เอ็นไซม์ดังกล่าวนี้จะก่อปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะส่งผลให้ค่าพีเอช หรือค่าความเป็นกรด/ด่างเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลเวียนผ่านแผงวงจรไอจีแซดโอเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยจนสามารถวัดค่าได้ การเปลี่ยนแปลงของกระแสดังกล่าวนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด ทำให้มันสามารถบอกเราได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดนั่นเอง

ทรานซิสเตอร์โปร่งใสแบบไอจีเเซดโอนี้มีขนาดเล็กมากในระดับนาโน จนทำให้สามารถบรรจุไบโอเซ็นเซอร์ไว้ได้มากกว่า 2,500 ตัวไว้บนเนื้อที่ 1 ตารางมิลลิเมตรของคอนแทกต์เลนส์ ซึ่งหากแต่ละตัวถูกกำหนดให้สามารถวัดระดับการทำงานต่างๆ ในร่างกายได้ก็จะช่วยให้เราสามารถใช้มันเตือนภัยได้อีกสารพัดโรค ศาสตราจารย์เฮอร์แมนระบุว่าจากน้ำตาหยดเดียว มีข้อมูลหลายๆ อย่างให้ตรวจวัด โดยนอกเหนือจากกลูโคสแล้ว ยังมีแลคเทต (ซึ่งสามารถบอกอาการติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคตับได้), โดพาร์มีน (ต้อหิน), ยูเรีย (การทำงานของไต) และโปรตีน (มะเร็ง) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ทีมวิจัยยังผลิตต้นแบบได้เพียงแค่ไบโอเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดเบาหวานได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังคงต้องคิดค้นอีกไม่น้อยกว่าจะพัฒนาให้เป็น “มัลติไบโอเซ็นเซอร์” อย่างที่ศาสตราจารย์เฮอร์แมนต้องการ

Advertisement

คอนแทกต์เลนส์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น กำหนดจะนำไปทดลองในสัตว์ทดลองภายใน 1 ปี ก่อนที่จะทดลองใช้ในคนเพื่อขออนุญาตผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image