คอลัมน์นิธิเอียวศรีวงศ์ สาดน้ำใส่ความเหลื่อมล้ำ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

(แฟ้มภาพ)

ถึงตอนนี้ ใครๆ ก็อาจเล่นสงกรานต์กันบนกระบะท้ายรถได้แล้ว แม้จะมีนักสาดน้ำเกิน 6 คนก็ตาม แรงต่อต้านคำสั่งห้ามนั่งท้ายกระบะ มันมากกว่าความ “คุ้ม” ทางการเมืองแก่คณะทหาร ซึ่งอ่อนแอด้านความชอบธรรมทางการเมืองอยู่แล้ว

ก่อนหน้าจะทุเลาคำสั่งลง กองเชียร์ คสช.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับกลางและบน ต่างพากันยกย่องสรรเสริญคำสั่งนี้ ว่าทำให้เกิดความปลอดภัยและความเป็นระเบียบบนท้องถนน เจตนาของกองเชียร์อาจมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง แต่เหตุผลที่ใช้ในการเชียร์นั้นน่าสนใจ เพราะมันแสดงความแตกต่างในวิถีชีวิตระหว่างคนชั้นกลางระดับกลางและบน กับของคนระดับล่างลงมา

ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของคนชั้นกลางระดับกลางและสูงของไทย สงกรานต์เป็นเทศกาล “แหกกฎ” ของไทยอันหนึ่ง ที่ปล่อยหรือแม้แต่สนับสนุนให้ผู้คนละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมและประเพณี การรดน้ำขอขมาแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ของตระกูลก็มีจริงอย่างที่แบบเรียนว่าไว้แหละครับ หรือการขนทรายเข้าวัดก็มีจริงเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีการกินเหล้าเมา ร้องรำทำเพลง เอะอะมะเทิ่งในที่สาธารณะ สาดน้ำและละเมิดบุคคลซึ่งประเพณีถือว่าต้องให้ความเคารพ เช่นพระภิกษุอีกด้วย

การเล่นสาดน้ำกันในหมู่หนุ่มสาว เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ข้ามสถานะทางชนชั้นและเพศอย่างเปิดเผย ลูกไพร่เล่นกับลูกนายได้อย่างเท่าเทียม ผู้หญิงสาดน้ำผู้ชายก่อนก็ได้ และผู้ชายก็มักลวนลามผู้หญิงในการเล่นน้ำนิดๆ หน่อยๆ เป็นธรรมดา

Advertisement

การเล่นสาดน้ำจึงเป็นการดึงผู้คนในชุมชนหนึ่งให้กลับลงมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถอดหัวโขนที่ต้องแบกไว้ตะปีตะชาติลงเป็นการชั่วคราว นึกถึงสงกรานต์ทีไร ผมมักนึกถึงเรื่องเล่าของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ทุกที ในชุมชนที่คุณสุจิตต์เติบโตมา ได้เคยเห็นแก๊งแม่ปลาช่อนจับพระมัดไว้กับเสา ขู่ขอสตางค์ไปกินเหล้า หากพระไม่ให้ก็จะถลกจีวรขึ้นโชว์ผู้คน

แต่ประเพณี “แหกกฎ” เหล่านี้ ไม่สอดคล้องกับ “วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย” ในจินตนาการของผู้แต่งแบบเรียน จึงตัดทิ้งออกไปจากคำบรรยายเรื่องเทศกาลสงกรานต์ จนทำให้ผู้ลากมากดีไทยที่ได้เรียนหนังสือมา เข้าใจว่าสงกรานต์มีแต่วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยอยู่อย่างเดียว

นักมานุษยวิทยารุ่นเก่า เช่นพระยาอนุมานราชธน อธิบายเทศกาล “แหกกฎ” เช่นนี้ว่ามีในทุกสังคม ทำหน้าที่ระบายความดันไอน้ำที่เกิดจากความเครียดของผู้คนในสังคมนั้นๆ ปล่อยมันออกมาเสียบ้าง จะได้กลับไปอยู่ร่วมกันด้วยความเครียดที่น้อยลงและสงบสุขขึ้น

Advertisement

ผมไม่มีความรู้พอจะทราบได้ว่า นักมานุษยวิทยาปัจจุบันอธิบายเรื่องนี้อย่างไร จึงยังเชื่อทฤษฎีโบราณนั้นอยู่สืบมา และขอมองเรื่องนี้จากทฤษฎีโบราณนั้น

ผู้คนในสังคมโบราณนั้นเครียดจากอะไร หากดูการละเมิดนานาชนิดที่มักทำกันในเทศกาล “แหกกฎ” ก็จะพบว่ามักละเมิดสิ่งที่ถือว่าต้องห้ามในสังคม นั้นๆ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามทั้งหมด เช่นในอีสาน คงไม่มีใครคิดจะไปจ้วงจาบศาลปู่ตาในวันสงกรานต์ หรือกระโดดลงไปอาบน้ำในบ่อน้ำสาธารณะของชุมชน การละเมิดดูจะมุ่งไปที่ละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน เช่นเรื่องเล่าของคุณสุจิตต์ คือการละเมิดสถานะอันสูงของพระภิกษุ (ถูกผู้หญิงถูกเนื้อต้องตัว, ต้องยอมสนับสนุนการกินเหล้าซึ่งผิดศีล, ถูกถลกจีวรคือแสดงเครื่องเพศแก่ผู้อื่น ซึ่งเท่ากับแสดงความเป็นมนุษย์ธรรมดาของนักบวช-เครื่องเพศคือสัญลักษณ์ของมนุษย์ การไม่ใช้จนเหมือนไม่มีเครื่องเพศคือความเป็นนักบวช) ทำให้สถานะของพระภิกษุเท่าเทียมกับคนอื่น

ไม่แต่เพียงพระภิกษุเท่านั้น คนที่ถูกถือว่า “สูง” ทั้งหลายล้วนถูก “พิธีกรรม” ในเทศกาล “แหกกฎ” ต่างๆ ทำให้ต่ำลงมาจนเท่าเทียมกับคนอื่น ปลัดขิกอันใหญ่ที่ใช้แห่ในการแห่นางแมว จะถูกนำไปทิ่มตำบ้านเรือนหรือแม้เรือนร่างของคนที่ถือว่า “สูง” ในชุมชน ไม่ต่างจากที่ใช้หยอกล้อระหว่างคนระดับล่างๆ ด้วยกัน

เทศกาล “แหกกฎ” จึงเป็นช่วงเวลายกเว้นในชีวิตของผู้คน นั่นคือยกเว้นจากกฎระเบียบอันเคร่งครัดของความสัมพันธ์ทางสังคมของคนที่ต่างสถานภาพกัน ยกเว้นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมให้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมชั่วคราว หากจะอึดอัดขัดข้องใจอย่างไรกับความสูง-ต่ำทางสังคม ก็ได้รับการปลดปล่อยออกไปในเทศกาล “แหกกฎ” บ้าง

ผมไม่ได้หมายความว่า คนในสังคมโบราณมีความเครียดเพราะเรื่องความไม่เท่าเทียมกันเพียงอย่างเดียว ความเครียดจากเหตุอื่นๆ ก็ต้องมีเป็นธรรมดา เช่นฝนจะแล้งหรือไม่, แมลงจะลงนาข้าวหรือไม่, จะได้ข้าวไว้พอกินครบปีหรือไม่ ฯลฯ ความเครียดจากเหตุเหล่านี้ย่อมถูกบรรเทาไปด้วยกลวิธีอีกหลายอย่าง ที่ไม่เกี่ยวกับเทศกาล “แหกกฎ” เช่นมีหมอลำหรือการแสดงอย่างอื่นผ่านมาให้ชม หรือไปร่วมบุญในวัดใหญ่ที่มีเทศน์มหาชาติ, บนบานศาลกล่าว ฯลฯ

เมื่อสังคมสมัยใหม่มาถึง อันเป็นสภาพที่คนชั้นกลางระดับกลางและบนคุ้นเคย ความไม่เท่าเทียมถูกนำไปซ่อนไว้ในชีวิตส่วนตัว ใครจะเห็นใครสูงกว่าหรือต่ำกว่าตน ก็เป็นเรื่องของคนนั้น กฎหมายและแบบปฏิบัติของรัฐไม่รับรองอย่างเป็นทางการ และอย่างโจ่งแจ้ง

ความเครียดจากความไม่เท่าเทียมกลายเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ธุระของชุมชนหรือสังคม เทศกาล “แหกกฎ” จึงไม่จำเป็น และถูกทำให้รับหน้าที่อื่น เช่นต้อนรับนักท่องเที่ยว, แสดงให้เห็นวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ, เป็นวันหยุดยาวที่ต่างคนต่างหาการพักผ่อนคลายเครียดของตนเอง

เสียงเรียกร้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยในงานสงกรานต์จึงเป็นเรื่องของคนชั้นกลางระดับกลางและบน เพราะไม่ได้มองสงกรานต์เป็นเทศกาล “แหกกฎ” อีกแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นเพราะมีอำนาจกำกับควบคุมสูงกว่าคนกลุ่มอื่น คนชั้นกลางดังกล่าวยังต้องการแทรกเข้าไปจัดเทศกาล “แหกกฎ” ของคนอื่น ให้ตรงตามจินตนาการของตนเองซึ่งเกิดจากแบบเรียนที่ได้เรียนมา และวิถีชีวิตของตน

ผมจึงคิดว่า ลึกลงไปในความขัดแย้งระหว่างกองเชียร์ คสช.กับผู้คัดค้านคำสั่ง คสช.เรื่องนั่งท้ายรถกระบะ ก็คือความขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางระดับกลางและบน กับคนอื่นๆ นับตั้งแต่คนชั้นกลางระดับล่างและคนระดับล่างในสังคมไทย ซึ่งเป็นความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นความขัดแย้งที่ลึกเสียจนไม่มีมาตรการปรองดองใดๆ บรรเทาลงได้ นอกจากกลับไปฟื้นฟูประชาธิปไตยไทยให้เต็มที่

ประชาธิปไตยมีเทศกาล “แหกกฎ” ของตนเองเพื่อบรรเทาความเครียดจากความไม่เท่าเทียมเหมือนกัน นั่นคือการเลือกตั้งซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ของคนทั้งประเทศ

อ.เบน แอนเดอร์สัน พูดถึงการเลือกตั้งไว้ (ในบทความเรื่อง Elections in Southeast Asia) ว่า

“การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นกิจกรรมประหลาดหลายด้าน ในวันที่กำหนดไว้…ระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ และสถานที่ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลท้องถิ่นกำหนดขึ้น ผู้คนพากันไปต่อแถวร่วมกับคนที่ไม่รู้จักกันเลย เพื่อรอตาของตนที่จะก้าวเข้าไปยังพื้นที่อันโดดเดี่ยว กากระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วก็จากสถานที่นั้นไปอย่างสงบเรียบร้อยเหมือนเมื่อตอนเข้ามา โดยไม่มีใครถามอะไรสักคำ นับเป็นการกระทำทางการเมืองเกือบจะอย่างเดียวที่ทำได้โดดเดี่ยวที่สุดเท่าที่จะนึกได้ และเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์อย่างสิ้นเชิง (เพราะผู้แทนที่ได้มาคือคนที่ต่างจากผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ เช่น รวยกว่า, มีการศึกษาสูงกว่า, เป็นผู้ชายมากกว่าผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียง) ดังนั้น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงเป็นขั้วตรงข้ามกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ”

แม้กระนั้นคนชั้นกลางระดับกลางและบนของไทยก็ไม่ไว้วางใจการเลือกตั้ง หากไม่กำกับควบคุมให้ดี ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายจนทำลายวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยได้ และเช่นเดียวกับการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ การเลือกตั้งทำให้สมมุติความเท่าเทียมกันของพลเมืองกลายเป็นจริงชั่วคราว จึงเป็นที่ถูกใจและต้องการของคนไทยอื่นๆ ทั่วไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image