“รุ่งโรจน์” เผย เปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ยิ่งกระตุ้นสังคมรู้จัก หลังไร้คนสนใจมานาน

สืบเนื่องกรณีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรบริเวณลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นหมุดที่ทำขึ้นเนื่องในเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร อ่านประกาศคณะฉบับที่ 1 เสร็จสิ้นในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยหมุดเดิมมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” ซึ่งนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อความในหมุดดังกล่าวจริงก็ไม่ต้องแจ้งให้กรมศิลป์ฯรับทราบ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่กรมศิลป์ดูแล ทางกรมศิลป์ดูแลเฉพาะองค์อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ได้อยู่ในความดูแลของหน่วยงานตน (คลิกอ่านข่าว แชร์ว่อน! หมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน ผอ.เขตดุสิตปัดเกี่ยว กรมศิลป์แจงไม่อยู่ในความรับผิดชอบ)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า ในเบื้องต้น ควรมีการทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไข “เหตุการณ์” ได้ ขอให้คนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสิน ส่วนตัวของ “วัตถุ” คือ หมุดคณะราษฎรนั้น ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงควรมีคำตอบที่ดีกว่าคำว่า ไม่ทราบ

“ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องราวที่ผ่านพ้นไปไม่สามารถแก้ไขใดๆๆ นอกจากจะเป็นอุธาหรณ์และไม่มีคำว่า ถ้าหากไม่เกิด ทั้งนี้เพราะมันเกิดไปแล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องก็ล้วนเป็นหลักฐาน ซึ่งเราไม่สามารถไปปฎิเสธมันได้ เรื่องที่ผ่านมาแล้วให้อนุชนรุ่นหลังเขาตัดสินตามหลักฐาน และไม่ควรไปปฎิเสธด้วยว่าไม่ทราบ เพราะคุณทำหน้าที่ปกป้องสมบัติชาติและเที่ยวไปจับหรือจับผิดคนที่ทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ อย่างน้อยควรต้องคำตอบที่ดูดีกว่านี้”

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงแล้ว หมุดคณะราษฎร มีลักษณะเป็น “สัญลักษณ์” อย่างมาก โดยถูกติดตั้งไว้บนพื้น ซึ่งเดิมแทบไม่มีใครรู้จักหรือให้ความสนใจมากนัก  ยิ่งเมื่อเทียบกับองค์พระบรมรูปทรงม้า ต้องถือว่าหมุดดังกล่าวแทบไร้ความหมาย แต่เมื่อมีการไปเปลี่ยนหมุด จึงกลายเป็นการให้ความสำคัญ สังคมหันมาสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างมาก

Advertisement

“หมุดนี้มีความเป็นสัญลักษณ์มากจนทำให้มันไร้ความหมายมานาน เมื่อเทียบกับองค์พระบรมรูป เพราะแสดงสัญลักษณ์ที่สูงส่งแต่หมุดนี้กลับติดดิน และไม่มีใครสนใจ นั่งรถผ่านไปผ่านมา น้อยคนที่จะรู้ แต่การไปเปลี่ยนจึงกลายเป็นการไปให้ความสำคัญอีกครั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image