ไขปม ‘สิ่งมีชีวิต’ บนดวงจันทร์ ดาวเสาร์-พฤหัสฯ

อาจจะเป็นเรื่องน่ายินดีของมวลมนุษยชาติ เมื่อเร็วๆนี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวใหญ่พบหลักฐานล่าสุดมีมหาสมุทรบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ โดยพบหลักฐานชี้ชัดว่ามีน้ำ แหล่งพลังงาน และสารเคมี จึงคาดว่าจะมีโอกาสเจอสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยถึงการแถลงข่าวการค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับมหาสมุทร 2 แห่งในระบบสุริยะว่า การค้นพบนี้เป็นข้อมูลการค้นพบจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและยานสำรวจอวกาศแคสสินี

อันดับแรกคือ ทีมงานกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลค้นพบหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่าดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีมีพวยของเหลวที่มีโอกาสเป็นน้ำ พวยพุ่งขึ้นมา

และต่อมาทีมงานยานสำรวจอวกาศแคสสินีได้บังคับยานให้โคจรผ่านพวยน้ำที่พุ่งออกมาจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ และค้นพบก๊าซไฮโดรเจนมากมายในพวยน้ำที่พุ่งออกมา

Advertisement

คาดว่าก๊าซไฮโดรเจนเหล่านี้อาจเกิดจากกระบวนการทางเคมีระหว่างหินและน้ำในมหาสมุทรของดวงจันทร์ดวงนี้ ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจน คล้ายกับกระบวนการที่เกิดใต้มหาสมุทรบนโลก ก๊าซไฮโดรเจนนี้ อาจเป็นแหล่งพลังงานของสิ่งมีชีวิต

ดร.ศรัณย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ มติชนŽ ถึงแนวโน้มการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ว่า หากถามว่าเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะพบสิ่งมีชีวิตอื่นอีกนั้น ความจริงแล้วตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะนาซาเพียงแค่เจอสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับสภาพแวดล้อมบนโลกเพียงเท่านั้น

ส่วนคาดว่าจะค้นพบสิ่งมีชีวิตนั้นยังคงอีกยาวไกล นาซาเองต้องพยายามสร้างโครงการ เทคโนโลยีและยานสำรวจทันสมัยขึ้น สืบเนื่องจากอุปกรณ์ที่อยู่ในยานสำรวจอวกาศแคสสินีก็ไม่สามารถตรวจจับสิ่งมีชีวิตได้

ยานสำรวจแคสสินีเองได้ถูกออกแบบขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ฉะนั้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์บนยานก็คือเทคโนโลยีเดิม หากนาซาจะต้องค้นหาสิ่งมีชีวิตจริงๆ นาซาก็ต้องออกแบบยานสำรวจและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่

กว่าจะทำการศึกษาและออกแบบอย่างจริงจังก็คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน

หากถามว่านาซาจะค้นพบสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังคงตอบไม่ได้ เพราะการค้นพบสิ่งมีชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และสันนิษฐานว่าหากจะค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เหล่านี้คงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับแบคทีเรียบนโลก

ถามว่าหากจะเจอสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็ยังไม่ง่ายเช่นเดียวกัน เพียงแต่ขณะนี้เราเพียงพบส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าจะมีโอกาสน้อยจะค้นพบสิ่งมีชีวิต แต่ต้องตอบว่าอาจจะค้นพบสิ่งมีชีวิตแต่ต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ก็คงใช้ระยะเวลาประมาณ 10-20 ปีอันใกล้นี้

สมมุติว่ากว่ายานจะไปถึง อย่างน้อยก็ใช้ระยะเวลา 4-5 ปีในการออกแบบอุปกรณ์ เพราะอย่างยานสำรวจที่ออกแบบสำรวจนั้นถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ปี 1997 กว่าจะขึ้นไปสำรวจเข้าสู่วงโคจรก็เมื่อปี 2004 แสดงให้เห็นว่าเราต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะสำรวจได้

ส่วนดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี คาดว่ามีมหาสมุทร เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับเอนเซลาดัส แต่พื้นผิวน้ำแข็งของยูโรปาหนากว่านั้น และขณะนี้นาซาได้อนุมัติโครงการสำรวจ คาดว่าอีก 7 ปีข้างหน้าจะมีโครงการสำรวจอีกครั้งŽ ดร.ศรัณย์กล่าว

เมื่อถามว่าในอนาคตหากนาซาค้นพบสิ่งมีชีวิตจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป

ดร.ศรัณย์บอกว่า ตอนนี้คงตอบไม่ได้ว่าหากเจอแล้วนาซาจะเดินหน้าอย่างไรต่อ หวังแค่ว่าขอให้เจอสิ่งมีชีวิตก่อนละกันถึงจะรู้ว่าจะต้องปฏิบัติการอย่างไรต่อ หากมีสิ่งชีวิตมากมายคล้ายโลกจริงๆ นาซาก็น่าจะเจอสิ่งมีชีวิตได้ เพียงแต่ตอนนี้เจอแค่ส่วนประกอบที่คาดว่าจะค้นพบสิ่งมีชีวิตเท่านั้น จะต้องทำการค้นหาต่อไป

ส่วนการค้นพบครั้งนี้ถือว่าใกล้เคียงกับโลกมากหรือไม่นั้น คงไม่ได้ใกล้มากถึงขนาดนั้น เพราะยังมีดาวอื่นที่ใกล้เคียงกับโลกเรามากกว่า แต่ว่าสภาพแวดล้อมที่เจออย่างพวกก๊าซพวยพุ่งออกมาหรือกระบวนทำความร้อนที่ทำให้แตกตัว มีบางส่วนคล้ายกับบางแห่งของโลกคือบริเวณใต้มหาสมุทรของโลก แต่ไม่ได้คล้ายกับโลกทั้งใบ

หากถามว่าดาวไหนคล้ายโลกที่สุด คือ ดาวอังคาร

ถามอีกว่าในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไทย มีความคิดเห็นอย่างไรสำหรับการค้นพบสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะเป็นความหวังต่อมวลมนุษยชาติอย่างไร

ดร.ศรัณย์กล่าวว่า ต้องตอบว่าคงไม่ใช่ความหวังมากมายถึงขั้นนั้น เพราะการเจอมหาสมุทร คือ การเจอน้ำ ความจริงเราก็ค้นพบเต็มไปหมด แต่หากถามว่าความหวังคืออะไร ขอตอบว่าการค้นพบหลักฐานเพิ่มเติมในครั้งนี้น่าจะเป็นการต่อยอดความรู้ส่วนหนึ่งในการต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น และกว่าจะถึงการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่นั้นมนุษย์ก็จะต้องเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

ที่ผ่านมาในวงการดาราศาสตร์ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีมากมาย หากไม่มีการพัฒนาเทคโลยีเหล่านี้ก็จะไม่สามารถนำไปศึกษาและวิจัยต่อยอดได้ และการค้นพบนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดจนการค้นพบนี้นำไปสู่ความร่วมมืออันดีของมนุษย์ที่ไม่ใช่เราจะต้องทะเลาะกันเสมอไป

อย่างยานสำรวจอวกาศแคสสินีก็เป็นความร่วมมือของหลายองค์กร ทั้งนาซา องค์การยุโรป และประเทศอิตาลี ส่วนอุปกรณ์ที่อยู่บนยานนั้นก็พัฒนามาจากหลายองค์กร และหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเข้าไปร่วมมือกับองค์กรเหล่านั้นก็ได้ หากถึงจุดนั้นก็จะทำให้เรามีความสามารถพัฒนาความรู้ของคนไทยด้วย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในวงการวิทยาศาสตร์ไทยเองยังคงมองว่าไม่สามารถไปถึงขั้นนั้นได้ ไม่มีการพัฒนาความรู้ที่ยากๆ มีแต่พัฒนาความรู้ที่ง่ายๆ ทำให้ไทยไม่ไปไหนสักที

ส่วนในวงการวิทยาศาสตร์ตื่นตัวอย่างไรกับการค้นพบครั้งนี้คงต้องบอกว่า จริงๆ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสื่อสารให้เด็กและเยาวชนได้ทราบ เพราะเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว มีการค้นพบอะไรใหม่ เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนมีความสนใจในเรื่องเอกภพมากขึ้น ที่ผ่านมาก็มีค้นพบดาวเคราะห์กว่าหลายพันแห่งแล้วŽ ดร.ศรัณย์กล่าว

ดร.ศรัณย์ทิ้งท้ายว่า อยากฝากถึงวงการวิทยาศาสตร์ไทยว่า ความจริงการมองข้ามวิทยาศาสตร์พื้นฐานเป็นสิ่งไม่น่าทำ เพราะความยากของวิทยาศาสตร์พื้นฐานนี้จะเป็นส่วนผลักดันที่ทำให้เกิดการค้นพบสิ่งต่างๆ ได้ ทุกวันนี้ประเทศไทย

มุ่งเน้นไปที่วิทยาศาสตร์ประยุกต์อย่างเดียว อย่างนี้คงไม่ได้พัฒนาคนสักเท่าไร อยากให้พัฒนางานวิจัยให้ดี ตามปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือไม่ได้อยากจมอยู่กับอดีต แต่อยากให้พัฒนาไปในอนาคต

อย่างความพอเพียงด้วยการพึ่งตัวเอง การพึ่งตัวเองให้ได้นั้นแสดงว่า ประเทศไทยจะต้องมีคนเก่งให้สามารถก้าวทันโลกให้ได้ไม่ใช่อยู่แต่ในอดีต

ฉะนั้นการจะพัฒนาประเทศได้จะต้องสนใจในเรื่องต่างๆ มากกว่านี้ และอยากให้คิดถึงและทำเรื่องอะไรยาก ท้าทายการพัฒนาคนเป็นหลักสำคัญ

เพราะถ้าคนไทยไม่เก่ง จะพัฒนาโลกได้อย่างไร

เราจะขับเคลื่อนประเทศให้ถึง 4.0 5.0 6.0 ได้ก็ต่อเมื่อคนไทยเราเก่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image