มข.จับมือเทศบาลนครขอนแก่นผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดซ้ำ ลดเสี่ยงมะเร็งปอด

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า น้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำจะเกิดกลุ่มสารก่อมะเร็งขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตลดลง ตับ และไตมีขนาดใหญ่ มีการสะสมไขมันในตับ การหลั่งน้ำย่อยเพื่อทำลายสารพิษในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น และเกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ส่วนไอระเหยจากน้ำมันทอดอาหาร หากสูดดมเป็นระยะเวลานานอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากพบความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคมะเร็งที่ปอด มข.จึงร่วมมือกับเทศบาลนครขอนแก่น จัดโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดซ้ำ โดยรับซื้อน้ำมันใช้แล้วในราคาลิตรละ 12 บาทจากผู้ประกอบการ นำมาผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูง โดยกระบวนการผลิตจากงานวิจัย มข.เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนแก่ยานพาหนะ และเครื่องจักรกลของทั้ง 2 หน่วยงาน ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง มข.กับเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 ระยะเวลา 4 ปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลด และเลิกการใช้น้ำมันทอดซ้ำมาปรุงอาหาร เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน และยังเป็นต้นแบบการอนุรักษ์พลังงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ วิจัยและพัฒนาต่อยอดงานด้านนวัตกรรมกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง สนองนโยบาย Green University and Smart Campus และโครงการคนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ (Khon Kaen Low Carbon City)

“ผลจากงานวิจัย มข.ที่ต้องการแก้ไขปัญหาทางด้านพลังงาน ต่อยอดก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งมีการปรับปรุงประสิทธิภาพก่อนทำปฏิกิริยา และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ และของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตยังนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการนำองค์ความรู้สู่ชุมชนก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ต้องเห็นคุณค่าของการใช้พลังงานทดแทน เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังได้รับค่าตอบแทนจากการขายน้ำมันที่ใช้แล้ว” นายกิตติชัยกล่าว

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของเทศบาล มีบทบาทในการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากประชาชนในเขตเทศบาล เพื่อนำมาให้มหาวิทยาลัยวิจัย โดยตั้งแต่ปี 2558 ปริมาณการรับซื้อน้ำมันที่ใช้แล้วกว่าหมื่นลิตร ส่งผลิตไบโอดีเซล และได้ทดลองใช้กับรถของเทศบาล พบว่าน้ำมันดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่เครื่องยนต์ และยังคงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ความสำเร็จของโครงการนี้ เกิดจากภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคประชาชน ภายใต้การร่วมมือกันดำเนินงานอย่างเต็มที่ในสภาพการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง เป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาชุมชน และประเทศชาติให้เข้มแข็งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image