สุจิตต์ วงษ์เทศ : หมอลำโกอินเตอร์ เพราะมีเสรีทางวัฒนธรรม

หมอลำหมอแคน เป็นการแสดงคู่กัน มีความเป็นมาปลอดจากอำนาจวัฒนธรรมราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงมีเสรีเต็มที่ แล้วมีช่องเปิดกว้างรับแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองเคลื่อนไหวไปกับวัฒนธรรมป๊อบ ในโลกทุนนิยม

ดูวอยซ์ทีวี มีคุยกันเรื่องหมอลำ (ค่ำวันศุกร์ที่ 14 เมษายน 2560) แล้วมีกังวลหลายอย่าง เลยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมเพื่อเปิดช่องอภิปรายต่อไปไม่ยุติ

หมอลำหมอแคน

หมอลำเป็นการแสดงอย่างหนึ่งคู่กับหมอแคนในวัฒนธรรมลาว แพร่หลายในหมู่ผู้คนพูดลาว (หรือปากลาว) ละแวกสองฝั่งโขงบริเวณประเทศลาว และภาคอีสานของไทย

Advertisement

หมอลำ หมายถึง ผู้ชำนาญการลำเป็นทำนอง ประกอบด้วย คำลาว 2 คำ คือ

หมอ หมายถึง ผู้ชำนาญ, ลำ หมายถึง คำคล้องจองมีทำนองไม่กำหนดความยาวตายตัว คำชุดนี้แพร่หลายบริเวณสองฝั่งโขง ตั้งแต่เวียงจันลงไปรวมอีสานของไทย (ถ้าเหนือเวียงจันขึ้นไปถึงหลวงพระบางและล้านนา เรียกช่างขับ ไม่เรียกหมอลำ)

หมอแคน หมายถึง ผู้ชำนาญการเป่าแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ (ไม่เฉพาะลาว)

Advertisement

 

หมอลำผีฟ้า หลายพันปีมาแล้ว

หมอลำหมอแคน มีต้นเค้าเก่าแก่จากหมอขวัญหมอแคนในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนคนทุกชาติพันธุ์อุษาคเนย์ พบหลักฐานเก่าสุดที่เวียดนาม เป็นเครื่องมือสำริด อายุ 2,500 ปีมาแล้ว มีสลักลายเส้นเป็นรูปหมอขวัญหมอแคนเพศหญิงทั้งหมด

หลักฐานเก่าสุดชุดนี้ เป็นต้นเค้าหมอลำผีฟ้ารักษาโรค และหมอลำต่างๆ สมัยหลังๆตามประเพณี

 

หมอลำประเพณี

หมอลำหมอแคนเก่าสุดเป็นเพศหญิง หรือแม่หมอ ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็นลำโต้ตอบกันด้วยผู้หญิงกับผู้ชาย

หมอลำตามประเพณีดั้งเดิมวงหนึ่ง หรือคณะหนึ่ง ประกอบด้วย 3 คน ได้แก่ หมอลำหญิง, หมอลำชาย, หมอแคน

ทำนองลำมีพัฒนาการเพิ่มลำหลายทำนอง เช่น ลำพื้น, ลำเรือง, ลำชิงชู้, ลำโจทย์แก้, ลำต่อกลอน, ลำเกี้ยว, ลำเต้ย ฯลฯ

บางวงบางคณะถนัดลำบางทำนอง เช่น วง ก. ถนัดลำพื้น เรียกหมอลำพื้น, วง ข. ถนัดลำเรือง เรียกหมอลำเรือง เป็นต้น

 

หมอลำหมู่

ต่อมาหลังแผ่นดิน ร.5 หมอลำหมอแคนปรับตัวให้มีผู้เล่นเล่นหลายคนเป็นหมู่ เรียกหมอลำหมู่ เลียนแบบลิเกกรุงเทพฯ แต่ลำเป็นคำลาว

แต่งตัวเหมือนลิเก เล่นเป็นเรื่องนิยายอย่างลิเก บางทีเรียกลิเกลาว เพื่อความอยู่รอดอย่างทันสมัยครั้งนั้น

 

หมอลำเข้ากับป๊อป

หมอลำหมอแคนปรับตัวเองเป็นระยะๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลาง กระทั่งเข้ากับวัฒนธรรมป๊อป

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก พ.ศ. 2504 (มีขึ้นจากการปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว แล้วมีวงดนตรีชนิดใหม่ในอีสานเรียกภายหลังว่า วงโปงลาง กับเพลงไทยสากลแบบหนึ่งในวัฒนธรรมป๊อป เรียกเพลงลูกทุ่ง มีขึ้นราวหลัง พ.ศ. 2507 (ผมยังไม่เปลี่ยนใจ แม้จะเคยถูกถากถางด่าทอเรื่องกำเนิดเพลงลูกทุ่ง)

หลังจากนั้น หมอลำหมอแคนปรับตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมป๊อป เป็นหมอลำลูกทุ่ง ทับซ้อนกับ หมอลำซิ่ง จนแยกจากกันไม่ได้ (ยังแย้งได้ ไม่ยุติแค่นี้)

หมอลำลูกทุ่ง มีผู้รู้อธิบายว่าก็คือเพลงลูกทุ่งที่ผสมหรือแทรกทำนองหมอลำ ไม่ต่างจากสิ่งที่มีก่อนนานแล้ว ได้แก่ เพลงลูกทุ่งใช้ทำนองลิเก, ฉ่อย, ลำตัด, แหล่ (เทศน์มหาชาติ) ฯลฯ

 

หมอลำโกอินเตอร์

เมื่อไม่มีกรอบครอบงำเหมือนกะลาเหล็ก หมอลำที่มีเสรีก็โกอินเตอร์อย่างมั่นใจ (ไม่กลัวฝรั่ง) คนเกือบทั้งโลกรู้จักแล้วร่วมสนุกเต็มพิกัด

 

อีสานสุดเสรี

เหตุที่หมอลำปลอดจากอำนาจวัฒนธรรมราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะอีสานเป็นดินแดนที่ราบสูงซึ่งถูกทอดทิ้งจากศูนย์กลางตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 2000 (ยุคปลายอยุธยา)

ชาวอีสานประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์และหลายวัฒนธรรม ตั้งหลักแหล่งกระจัดกระจายตามแหล่งน้ำ เช่น หนอง บึง บุ่ง ทาม ฯลฯ

นับถือศาสนาอีสาน ที่มีศาสนาผีเป็นแกนสำคัญ แล้วผสมกับพุทธ, พราหมณ์ แบบพื้นเมือง (ไม่ทางการ)

อีสานในที่นี้ไม่รวมเมืองนครราชสีมา เพราะไม่ลาว (เฉพาะที่อยู่ในวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

ทิศเหนือของเมืองพิมาย (อ. พิมาย จ. นครราชสีมา) มีลำน้ำสายหนึ่งเป็นสาขาแม่น้ำมูลพาดตามแนวตะวันตก-ตะวันออก เรียกลำสะแทก (กระแทก?) ถือเป็นเส้นกั้นเขตแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับลาวมาแต่โบราณกาล ว่า เหนือลำสะแทก เป็นลาว, ใต้ลำสะแทกเป็นไทย

มีบอกไว้ในนิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (กวีสมัย ร.5) เมื่อเดินทัพจากนครราชสีมา พ้นเมืองพิมาย พอข้ามลำสะแทกก็เข้าเขตลาว ว่า

ก็เสร็จข้ามแม่น้ำลำสะแทก                   เป็นลำแยกจากมูลศูนย์กระแส

สิ้นเขตแดนพิมายเมืองชำเลืองแล         เข้าแขวงแควเมืองลาวชาวอรัญ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image