มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตรวจพบสารอันตรายของเล่นเด็ก

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม หรือไอเพน (IPEN) สมาคมอาร์นิก้า (Arnika) ได้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ใน 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ในประเทศไทย ทำการสำรวจตัวอย่างของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งมีสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีสารโบรมีน (Brominated Flame Retardants หรือ BFRs) ประกอบด้วยลูกบิดรูบิกจำนวน 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสาร Octabromodiphenyl ether (OctaBDE), สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ สาร Hexabromocyclododecane (HBCD) ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีองค์ประกอบของโบรมีน (BFRs) ในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลอื่นๆ

นายอัครพล กล่าวว่า ผลวิเคราะห์พบว่า มีของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดที่มีสารกลุ่มนี้ปนเปื้อนสูงกว่า 50 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งเป็นระดับที่ก่ออันตรายต่อร่างกายได้ โดยพบว่า ร้อยละ 90 ของตัวอย่างทั้งหมดที่นำมาตรวจวิเคราะห์ หรือจำนวน 100 ตัวอย่าง มีสาร OctaBDE เข้มข้นตั้งแต่ระดับ 1 – 1,174 ppm, ร้อยละ 41 หรือจำนวน 45 ตัวอย่าง มีสาร HBCD เข้มข้นอยู่ในระหว่าง 1 – 1,586 ppm, และร้อยละ 91 หรือจำนวน 101 ตัวอย่าง มีสาร DecaBDE เข้มข้นอยู่ในระหว่าง 1 – 672 ppm สำหรับประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้สุ่มตรวจตัวอย่างลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่าง และพบว่า 2 ตัวอย่างมีสาร OctaBDE และ DecaBDE ปนเปื้อนในระดับสูง และ 1 ตัวอย่างมีสาร HBCD ปนเปื้อนในปริมาณสูง

นายอัครพล กล่าวว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง สามารถทำลายระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาหรือไอคิว (IQ) ของเด็ก อีกทั้งยังก่อให้เกิดมะเร็งในตับได้ โดย OctaBDE เป็นสารเคมีที่ทั่วโลกห้ามใช้ตามข้อบังคับของอนุสัญญาสต็อกโฮล์ม โดยทั่วไปจะใช้ในการผลิตเทอร์โมพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดที่อ่อนตัวเมื่อโดนความร้อน ส่วน HBCD เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตโฟมที่เป็นฉนวนกันความร้อนภายในอาคาร ซึ่งทั่วโลกห้ามใช้ตามอนุสัญญาสต็อกโฮล์มเช่นกัน และ DecaBDE เป็นสารเคมีที่กำลังมีการเสนอให้ทั่วโลกห้ามใช้ตามอนุสัญญาสต็อกโฮล์มโดยทั่วไป สารกลุ่มนี้จะถูกใช้ในการผลิตพลาสติกจำพวกแผงวงจรไฟฟ้า กล่องหรือฝาครอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น จอเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน และถูกนำไปรีไซเคิลโดยไม่มีการกำจัดสารอันตรายกลุ่มนี้ออกเสียก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image