หมุด โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

 

เขียนถึง “หมุด” ในเวลาอย่างนี้ คงไม่ต้องอธิบายกันมากว่าหมายถึงหมุดอะไร

หมุดคณะราษฎรในภาษาของสื่อ หรือหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ ตามถ้อยคำของพระยาพหลพลพยุหเสนาที่หายไป แล้วมีหมุดใหม่มาแทนที่ ทำให้เกิดปราฏการณ์หลายๆ อย่าง

นอกจากผู้สนใจติดตามไปส่องดูยังที่เกิดเหตุ, ผู้ที่ไปถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 ต้องหันมาถามหาว่า “หมุด” ที่เป็นข่าวดังๆ อยู่ตรงไหนแล้ว

Advertisement

ยังทำให้เกิดความสนใจ ติดตามเรื่องราวที่มาของหมุดอีกด้วย

ต้นเรื่องของหมุด คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิ.ย. 2475

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ จะครบรอบ 85 ปีในวันที่ 24 มิ.ย.ของปีนี้

ถกเถียงกันมากเรื่องความสำคัญของหมุด กรมศิลปากรโดนยำเละไปแล้ว หลังจากระบุว่า หมุดไม่ได้เป็นโบราณวัตถุ เท่ากับบอกว่า หมุดที่ว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไรหนัก หายไปก็งั้นๆ

ถ้าต้องการรู้ว่าหมุดที่ว่านี้ มีความสำคัญอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ของประเทศไทยทั้งกระบวนการ

เศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศไทยก่อนปี 2475 เป็นอย่างไร

ด้วยเงื่อนไขอย่างไร จึงเกิดการ “อภิวัฒน์ 2475” ขึ้นมา

กลุ่มที่ดำเนินการ เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ผลที่ตามมา คือประเทศได้เข้าสู่ระบอบใหม่

เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

รัฐธรรมนูญที่ว่านี้ จะกำหนดให้มี รัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร, มีสภาที่ยุคแรกมาจากแต่งตั้ง ก่อนพัฒนามาเป็นเลือกตั้ง เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และศาลยุติธรรม เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

นั้นคือเนื้อหาสาระของผลจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ หรือมีแต่เป็นอีกแบบหนึ่ง

ระบบที่เกิดขึ้นเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศได้

และยังเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามมาอีกมากมาย มีการค้นคว้า เป็นรายงานวิชาการ งานวิจัย และงานนิพนธ์งานประพันธ์อีกมากมหาศาล

พระยาพหลฯ ผู้นำฝ่ายทหารของคณะราษฎร ได้ไปยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อันเป็นจุดรวมพลของกองกำลังในเช้ามืดวันที่ 24 มิ.ย. 2475

จุดที่พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศ ต่อมาในปี 2479 ได้มีการจัดทำหมุดมาวางไว้

การเมืองประเทศไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลง 85 ปีที่ผ่านมา มีปฏิวัติรัฐประหาร ช่วงชิงอำนาจกันหลายครั้ง ร่างรัฐธรรมนูญกันจนเพลียมาถึงฉบับที่ 20 แล้วในขณะนี้

เป้าหมายที่จะเป็นระบอบปกครองที่ราษฎรมีสิทธิมีเสียง ถูกเบี่ยงเบนครั้งแล้วครั้งเล่า ใครที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบน ก็สามารถค้นคว้าหาคำตอบได้ไม่ยาก

นั่นคือประวัติศาสตร์โดยสังเขปที่ผูกติดกับหมุด

และเป็นที่มาของสรรพเสียงในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image