นิสิต ม.นเรศวรสุดเจ๋ง! ผลิตเสื้อกันกระสุนแบบคอมโพสิตได้สำเร็จ เบาและถูกกว่าตลาด 3 เท่า

วันที่ 20 เมษายน 2560 นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมวัสดุ มหาวิทยาลัยนเรศวรคิดค้น “เสื้อเกราะคอมโพสิตกันกระสุน” (Bulletproof Composite Vest) ตอบโจทย์ผู้ใส่เสื้อเกราะด้วยราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 3 เท่า และน้ำหนักเบากว่าท้องตลาด 3 เท่าเช่นกัน ทดสอบกับกระสุนจริงได้ผลเกินคาด โดยผลงานดังกล่าวเป็นของนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุจำนวน 6 คน ประกอบด้วย น.ส.กนกวรรณ มณีวร นายณัฐิวุฒิ ปริสาวงศ์ น.ส.บรรเจิดลักษณ์ แย้มนิยม น.ส.ปาริฉัตร ป้อมใย นายศุภกฤต พรมดวง และนายอดิศร ปิ่นมณี โดยมี ดร.ชุลีพรย์ ป่าไร่ ดร.ปิยนันท์ บุญพยัคฆ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

น.ส.ปาริฉัตร กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เสื้อเกราะกันกระสุนจำนวนมาก ซึ่งมีราคาแพง ถึง 15,000 บาท ต่อตัว และมีน้ำหนักมาก ทำให้กลุ่มของตนเองได้รวมตัวกันคิดค้นเสื้อเกาะกันกระสุน ที่มีราคาไม่แพงเพียง 2,500 บาทเท่านั้น โดยวัสดุในการออกแบบเสื้อเกราะคอมโพสิตกันกระสุน โดยแผ่นเกราะคอมโพสิตกันกระสุน เป็นวัสดุคอมโพสิตเป็นการนำวัสดุมากกว่า 1 ชนิด มาประกอบเข้าด้วยกันโดยมีเฟสที่มีความต่อเนื่องเป็นเฟสทำการยึดวัสดุและมีเฟสเสริมแรงที่ไม่ต่อเนื่องกระจายอยู่ วัสดุคอมโพสิตจะเป็นการรวมข้อดีของวัสดุที่นำมาประกอบเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีสมบัติที่สูงขึ้น ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ในการเสริมแรงมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ส่วนใหญ่จะนิยมใช้งานในรูปของเส้นใย เนื่องจากมีความแข็งแรงสูง มีน้ำหนักเบา โดยเส้นใยสามารถแบ่งออกได้หลายแบบและผลิตได้มาจากหลายวัสดุ เช่น เส้นใยพอลิเมอร์ เส้นธรรมชาติ เส้นใยแก้ว เส้นใยโลหะ เส้นใยเซรามิก เป็นต้น

“โดยคุณสมบัติแบ่งเสื้อเกราะกันกระสุนออกเป็น 2 แบบ คือ แบบเกราะอ่อนและแบบเกราะแข็ง ซึ่งมีความแตกต่างในด้านวัสดุ น้ำหนัก ความยืดหยุ่น ความหนาของเกราะและความสามารถในการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยพบว่าเกราะกันกระสุนแบบเกราะอ่อนส่วนใหญ่ทำจากเส้นใยพอลิอะรามีด หรือเคฟลาร์ และเส้นใยคาร์บอนที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นสูงนำมาซ้อนกันโดยเรียงตามทิศทางต่างๆ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ในกรณีกระสุนที่มีขนาดเล็กและมีอำนาจการทะลุทะลวงต่ำ” น.ส.ปาริฉัตร กล่าว

Advertisement

น.ส.ปาริฉัตร กล่าวอีกว่า เกราะประเภทนี้หากโดนกระสุนปืนจะสามารถป้องกันการทะลุผ่านของกระสุนได้ แต่อาจจะก่อให้เกิดอาการช้ำแก่ผู้สวมใส่ หรือก่อให้เกิดการหักของอวัยวะภายในได้ เนื่องจากความยืดหยุ่นและการยุบตัวของเกราะ สำหรับในกรณีนี้ได้ผลิตเกราะกันกระสุน แบบเกราะแข็ง จะมีความสามารถในการป้องกันกระสุนปืนที่มีหัวแหลมและมีอำนาจในการทะลุทะลวงสูง และยังสามารถลดความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บจากแรงกระแทกของลูกกระสุน ซึ่งจากการตรวจสอบจากการยิงกระสุนจริง โดยกระสุนขนาด .38 มิลลิเมตร .45 มิลลิเมตร และ 9 มิลลิเมตร ที่ระยะยิง 10 เมตร โดยกระสุนไม่สามารถทะลุไปถึงชั้นของเกราะชั้นในสุดได้ แต่อย่างใด

ด้านดร.นฤมล กล่าวว่า หลังจากไปทดสอบการยิงใส่เสื้อเกราะชนิดนี้ที่สนามยิงปืนค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ กองทัพภาคที่ 3 แล้ว ก็สามารถใช้การได้ดี อนาคตจะพัฒนาเสื้อเกาะชนิดนี้ให้เป็นแบบเต็มตัว และทำเกราะอ่อนทั้งตัว เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ของภาคใต้ได้ โดยเสื้อเกราะ ก็จะมีขนาดเล็กและเบากว่าตามท้องตลาด เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐ สามารถซื้อในราคาที่ถูกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image