นักวิทยาศาสตร์เล็งทดลอง “ควบคุมบรรยากาศโลก”

(ภาพ-ColiN00B/CC0 Public Domain)

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กำลังเตรียมการทดลองภาคสนามที่ไม่เคยมีใครทดลองมาก่อนและเป็นที่ถกเถียงกันเผ็ดร้อนมากถึงข้อดีข้อเสีย นั่นคือการทดลองเพื่อหาวิธีการควบคุมบรรยากาศของโลก ด้วยการพ่นสสารในรูปของละอองลอย (แอโรซอล) สู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแขนงวิชาที่เรียกว่า “ภูมิวิศวกรรม” (Geoengineer) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อตรวจสอบว่าวิธีการดังกล่าวนี้ส่งผลดีผลเสียอย่างไร สามารถนำมาใช้กับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่

แฟรงค์ คอทช์ นักวิทยาศาสตร์ของฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในการทำวิจัยครั้งนี้ ยอมรับว่า ความคิดเรื่องการควบคุมอุณหภูมิของโลกได้ตามใจชอบนั้นเป็นความคิดที่น่ากลัว แต่ตอนนี้ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนยิ่งน่ากลัวและรุนแรงกว่า ทำให้การค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้มีความจำเป็นเพื่อให้เข้าใจให้ได้มากขึ้น รวมทั้งการหาคำตอบให้ได้ว่า หากมีใครพยายามทดลองควบคุมอุณหภูมิของโลกแล้วจะเกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นตามมา

คอทช์ ระบุด้วยว่า ความเสี่ยงใหญ่โตที่สุดของการพยายามปรับเปลี่ยนบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ก็คือ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมาเป็นผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าว เป้าหมายสำคัญของการวิจัยนี้จึงเป็นความพยายามทำความเข้าใจบางส่วนของความเสี่ยงที่ยังไม่มีใครรู้นั้น

คอทช์กับทีมวิจัยเตรียมการทดลองอย่างระมัดระวัง โดยกำหนดไว้ว่า ครั้งแรกสุดอาจจะเป็นในปี 2018 ที่จะถึงนี้ ในครั้งแรกกำหนดจะใช้บอลลูนติดเครื่องยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์และเซนเซอร์ในการตรวจวัดค่าต่างๆที่ต้องการปล่อยขึ้นไปอยู่ในระดับสูงเหนือพื้นดิน 20 กิโลเมตร โดยกำหนดจุดปล่อยบอลลูนเพื่อการทดลองนี้ในพื้นที่ใกล้กับเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา จากนั้นบังคับให้อุปกรณ์พ่นละอองน้ำขนาดเล็กออกสู่บรรยากาศ โดยกำหนดปริมาณให้จำกัดอยู่เพียงไม่เกินปริมาณที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ละอองน้ำดังกล่าวจะจับตัวเป็นผลึกน้ำแข็งที่กลายเป็นลำหมอกบนท้องฟ้าเป็นแนวยาว 1 กิโลเมตรและกว้าง 100 เมตรขึ้น

Advertisement

หลังจากนั้นทีมควบคุมบอลลูนภาคพื้นดินจะบังคับให้บอลลูนเคลื่อนผ่านละอองหมอกดังกล่าวอย่างช้าๆ เพื่อตรวจวัดค่าต่างๆที่ต้องการ

การทดลองด้วยน้ำในปริมาณจำกัดนี้ เป็นไปเพื่อทดสอบว่ากระบวนการทดลองและเทคโนโลยีต่างๆที่ใช้ในการทดลองนี้ทำงานได้ตามที่ต้องการหรือไม่ หลังเสร็จสิ้นการทดลองครั้งแรกนี้แล้ว จะมีการทดลองที่คืบหน้าเป็นลำดับขั้นต่อไป โดยเปลี่ยนสสารในการทดลองจากน้ำ เป็นสสารอื่น รวมทั้งแคลเซียม คาร์บอเนต, ซัลเฟต หรือแม้แต่กระทั่งผงกากเพชร

คอทช์ ยืนยันว่า กระบวนการในการทดลองทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพวะแวดล้อมและบรรยากาศของโลกน้อยมาก น้อยกว่าผลกระทบที่เกิดจากเที่ยวบินโดยสารหนึ่งเที่ยวด้วยซ้ำไป

Advertisement

แกร์นอท วากเนอร์ หัวหน้าโครงการวิจัยภูมิวิศวกรรมของฮาร์วาร์ด ยอมรับว่าปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของการทดลองหาเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมภูมิอากาศได้ก็คือ อาจลงเอยทำให้ผู้นำประเทศต่างๆเลิกดำเนินความพยายามเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญยิ่งกว่าไป แต่ทีมวิจัยเองเข้าใจดีว่า ภูมิวิศวกรรม ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้และเป็นทางแก้ของปัญหานี้ไม่ได้ เพราะถึงแม้จะทำงานได้สมบูรณ์แบบไม่มีที่ติ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ เช่น ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะการเป็นกรดของมหาสมุทรซึ่งเกิดขึ้นจากการสะสมของคาร์บอนได้เป็นต้น

วากเนอร์ เชื่อว่า โครงการวิจัยนี้เป็นเพียงวิธีการบรรเทาชั่วคราว เหมือนการให้ยาแก้ปวดกับผู้ป่วย มีผลระงับปวดชั่วคราวและมีความเสี่ยงตามมาเคล้ายคลึงกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image