ชมฝูงนกพาเหรดหากินที่ทะเลบัวแดง “เป็ดหงส์” สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์โผล่

วันที่ 20 เมษายน 2560 ที่หนองหานกุมภวาปี หรือ “ทะเลบัวแดง” หลังฤดูท่องเที่ยวชมความงามดอกบัวแดง กำลังเข้าสู่ฤดูการชม “ดอกบัวหลวง” และฝูงนกนานาชนิดใน “ชุดวิวาห์” หรือช่วงนกเตรียมเข้าฤดูผสมพันธ์ุ ซึ่งหน่วยห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี สำรวจพบนก “เป็ดหงส์” ที่พบน้อยมากในประเทศไทย และอยู่ในกลุ่มสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ และ “เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย” ที่อยู่ในกลุ่มนกหายากมากติดต่อกันเป็นปีที่ 3

 

นายโนรี ตะถา หน.หน่วยห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี เปิดเผยว่า ก่อนที่หน่วยห้ามล่าฯจะเข้ามาตั้ง ชาวบ้านก็มีกติกาของชุมชน ดูแลและอนุรักษ์นกนานาชนิดอยู่แล้ว มีเพียงคนต่างถิ่นฝ่าฝืนอยู่บ้าง เราจึงเพียงทำให้การทำความเข้าใจ ตามด้วยการว่างกลางตักเตือน การตรวจยึดอุปกรณ์ใช้ล่า จนไม่พบว่ามีการล่านกแล้ว ที่นี่จึงเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ระบบนิเวศปลอดภัย นกนานาชนิดเพิ่มมากขึ้น การสำรวจล่าสุดพบมีนก 202 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพใกล้เคียงกัน

Advertisement

หน.หน่วยห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี เล่าต่อว่า ที่นี่เราพบนกกลุ่มสัตว์มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ เช่น “เป็ดหงส์” ที่ประเทศไทยเราพบน้อยมาก พ.ศ. 2529 พบ 10 ตัว ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จ.บุรีรัมย์ , พ.ศ. 2531 พบ 1 ตัว ที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ , วันที่ 14 เมษายน 2558 พบที่หนองหานกุมภวาปี 8 ตัว ในปีต่อมาสำรวจไม่พบ และเมื่อ 15 เมษายน 2560 พบอีกที่หนองหานกุมภวาปี 1 ตัว คาดว่าอาจจะเกิดจากหลงฝูง เพราะเป็ดหงส์ธรรมชาติจะไม่ค่อยอยู่กับที่ เชื่อว่าปีหน้าจะพบมากขึ้น

 

“ ยังมีกลุ่มนกหายากมากอีกหลายชนิด อาทิ เป็ดเทาพันธุ์อินเดีย ที่พบติดต่อกันเป็นปีที่สาม และจำนวนมากขึ้นด้วย เมื่อปี 58-59 พบเป็นฝูงใหญ่ราว 20-30 ตัว สามารถเก็บภาพได้ช่วงออกหากิน ในปีนี้ก็พบแต่ยังเก็บภาพชัดๆไม่ได้ เป็นช่วงออกหากินเป็นฝูงราว 17 ตัว และช่วงกลับเข้ามานอนรัง เป็นฝูงขนาดใหญ่ 40-50 ตัว นอกจากนี้ยังมี นกกระสาแดง , นกยางโทนใหญ่ , นกอีแจว , นกอีโก้ง , เป็ดกับแก , เป็ดอีเล็ก , เป็ดแดง และอื่นๆ ” นายโนรี กล่าว

Advertisement

นายโนลี เล่าด้วยว่า ช่วงนี้เป็นเวลาที่ “นกสวยที่สุด” เพราะเป็นช่วงก่อนฤดูผสมพันธุ์ นกต่างๆก็จะต้องทำตัวเองให้สวย เพื่อเรียกหาคู่ตามธรรมชาติ หรืออาจะเรียกว่านกกำลังใส่ชุด “วิวาห์” “ที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือกลุ่มนกยาง ถ้าเป็นนกยางโทนใหญ่ ก็จะเห็นขนสีขาวของมันจะเป็นปุย หรือนกยางควาย สีหัวของมันจะเปลี่ยนสี นกชนิดอื่นๆก็เช่นเดียวกัน จะต้องทำรังเตรียมวางไข่ให้ทันก่อนฝน

สำหรับ “เป็ดหงส์” ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Knob-billed duck, Comb duck ชื่อวิทยาศาสตร์ :Sarkidiornis melanotos) อยู่ในวงศ์นกเป็ดน้ำ (Anatidae) จัดเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Sarkidiornis ปกติเป็ดหงส์มีลำตัวประมาณ 76 เซนติเมตร มีจะงอยปากสีดำแถบบนปีกสีบรอนซ์สะดุดตา ตัวผู้มีส่วนหลังสีดำเหลือบสีเขียวแกมฟ้าและสีม่วง ส่วนหัวและลำคอสีขาว มีจุดประสีดำ แถบสีดำรอบด้านหลังคอพาดลงไปถึงด้านข้างของส่วนอก และอีกแถบพาดลงไปด้านข้างของส่วนหาง ขณะบินจะสังเกตเห็นแผ่นหลังส่วนล่างสีออกเทาชัดเจน

ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้มีปุ่มเนื้อที่โคนจะงอยปากด้านบนขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก จนเห็นได้ชัดเจน ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าและลำตัวสีทึมกว่า และไม่มีแถบสีดำสองแถบบนส่วนคอ และที่ใกล้หางลูกอ่อนที่อายุน้อยลำตัวไม่ค่อยมีสีเหลือบและบริเวณแถบขาวมีสีคล้ำ มีถิ่นอาศัยตั้งแต่ ปากีสถาน , อินเดีย , ศรีลังกา ,บังกลาเทศ , เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนตอนตะวันตกเฉียงใต้ ยังพบในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เป็ดหงส์มักอาศัยอยู่ในป่าดิบทึบ ชอบที่จะเกาะคอนไม้สูง ๆ อาศัยเป็นที่หลับนอน อาศัยอยู่รวมเป็นฝูง ซึ่งเป็นครอบครัวประมาณ 4-10 ตัว หากินโดยการไซ้กินหัวและยอดอ่อน ตลอดจนเมล็ดของพืชน้ำ, เมล็ดข้าว, แมลงน้ำ และอาจกินสัตว์น้ำอย่างกบ , เขียด และปลาได้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image