สุจิตต์ วงษ์เทศ : รถกระบะใส่ถังน้ำสงกรานต์ สาดน้ำใส่ความเหลื่อมล้ำ บานฉ่ำทั่วไทย

(แฟ้มภาพ)

ระบบขนส่งมวลชนเป็นต้นเหตุ แต่รัฐบาลจัดการเอาผิดที่ผู้ใช้รถกระบะ ซึ่งเป็นปลายเหตุ

“รัฐไม่พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ไม่พัฒนาระบบรถไฟทั่วประเทศ แต่อาศัยหากินกับการผลิต และการขายรถยนต์นี่แหละ ที่ทำให้การบริโภครถกระบะเติบโตขึ้นมา” ยุกติ มุกดาวิจิตร (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เขียนบอกไว้ในเฟซบุ๊คชาติพันธุ์นิพนธ์ (เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2560)

สร้างถนน เพื่อสนองอุตสาหกรรมรถยนต์

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ พ.ศ. 2504 (ยังไม่มี “สังคม”) เป็นฉบับแรกของไทย โดยเผด็จการทหารที่ให้ความสำคัญการสร้างถนนรถยนต์ ทั้งรถส่วนตัวและรถบรรทุกสินค้า แต่ไม่พัฒนาระบบรถขนส่งมวลชนให้คนเดินทางคราวละมากๆ อย่างเสมอหน้าเท่าเทียม

Advertisement

งานใหญ่ของรัฐบาลเผด็จการทหารครั้งนั้น ได้แก่ ตัดต้นก้ามปู (จามจุรี) ขนาดใหญ่ที่ปลูกสองข้างทางตั้งแต่สมัย ร.5, 6 กับถมคูคลองสองข้างถนนทั่วกรุงเทพฯ เพื่อขยายให้ถนนกว้างขึ้นเป็นทางรถยนต์ส่วนบุคคลแล่น โดยไม่พัฒนารถเมล์ขนส่งมวลชน

ต่อมารัฐบาลเผด็จการทหารต่อต้านคอมมิวนิสต์ (ตามนโยบายโลกเสรี) กลับสนับสนุนสหรัฐทำสงครามเวียดนาม จึงรับเงินดอลลาร์ตัดถนนในอีสานขนานใหญ่เหมือนใยแมงมุม เพื่อการทหารขนอาวุธทำสงคราม โดยไม่ทำทางรถไฟและไม่พัฒนาระบบขนส่งมวลชน

ขณะเดียวกันก็ทำลายระบบขนส่งทางน้ำที่เคยมีมาต้องสูญหายไป เพราะมีถนนมาแทนซึ่งสะดวกกว่า

นโยบายเหล่านี้ถูกคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนพลเมือง, นักหนังสือพิมพ์, นักคิด, นักเขียน, กวี ฯลฯ แต่คนเหล่านั้นส่วนหนึ่งถูกจับกุมคุมขัง (ปรับทัศนคติ?) เรียก “ขังลืม” อีกส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าเขาลำเนาไพร และป่าคอนกรีต (มีทั้งอยู่กับเผด็จการและต่อต้าน)

นับแต่นั้นรัฐบาลเผด็จการทหาร ก็โหมลงทุนตัดถนนสนองอุตสาหกรรมรถยนต์ ด้วยการทอดทิ้งระบบขนส่งมวลชน ทั้งระบบราง และระบบเรือในแม่น้ำลำคลอง

รถกระบะใส่ถังน้ำ สาดใส่ความเหลื่อมล้ำ

มวลชนคนทั่วไปทั้งในเมืองและนอกเมือง ต้องพึ่งพาตนเองโดยไม่พึ่งขนส่งมวลชนของรัฐ ด้วยการซื้อพาหนะราคาที่จ่ายได้ คือรถกระบะ

“รถกระบะกลายเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม” ยุกติ มุกดาวิจิตร มองเห็นพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของรถกระบะ แล้วบอกอีกว่า “รถกระบะจึงกลายเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง”,

“รถกระบะถูกใช้เป็นพาหนะบรรทุกคน และถังน้ำในช่วงสงกรานต์” ฯลฯ

เพื่อ “สาดน้ำใส่ความเหลื่อมล้ำ” (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2560 หน้า 16)

แต่ความเหลื่อมล้ำแข็งแรง ระบบขนส่งมวลชนย่อมร่อแร่อยู่ร่ำไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image