เทศกาลงานแผดเสียง โดย แซมสุดา เข้มงวด

พูดถึงสงกรานต์ ฉันคิดถึงเสียงแหลมๆ จากเพลงวันสงกรานต์ของคณะสุนทราภรณ์ที่เปิดตามห้างร้านต่างๆ จนคุ้นหูทุกปี เป็นการบอกทุกคนให้รู้ว่าเวลาแห่งการเฉลิมฉลองได้เริ่มขึ้นแล้ว เป็นเสียงที่ร้องเรียกให้ประชาชนมาซื้อเสื้อลายดอกและปืนฉีดน้ำประจำปีกันอย่างคึกคัก แต่แน่นอน นอกจากเสียงเพลงสงกรานต์ที่คุ้นหูแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสงกรานต์ก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้หลายๆ คนคิดถึงเพลงวัยรุ่นเสียงดังๆ ที่มักถูกเปิดตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการ “มั่วสุม” และทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่สำหรับแค่วัยรุ่นและเด็กเที่ยวเท่านั้น หลายๆ คนไม่สามารถเข้าร่วมสนุกได้หรือหมดสนุกไป สงกรานต์กลายเป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย อึดอัด และหนวกหู

หากค้นคำว่าเสียงและสงกรานต์บนอินเตอร์เน็ตก็จะพบกระทู้มากมายที่บ่นถึงเสียงดังจากงานวันสงกรานต์ของบรรดาเพื่อนบ้าน (เช่นกระทู้นี้ นี่ และนี่) หลายคนมีเพื่อนบ้านที่เปิดเพลงเสียงดังเกินขนาดหรือเมาเหล้าแล้วตะโกนโหวกเหวกโวยวายจนเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ไม่ได้หลับนอน ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้สงกรานต์กลายเป็นเทศกาลความทุกข์ประจำปี ทำให้เพื่อนบ้านในหลายละแวกแทบจะมองหน้ากันไม่ติดหลังเทศกาลปีใหม่ไทย ทั้งที่ความจริงควรจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ด้วยสิ่งดีๆ และก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ในบางครั้งเราเองก็เป็นคนที่ทำเสียงดังให้คนอื่นรำคาญเช่นกัน

Advertisement

 

แน่นอนเสียงเป็นสิ่งที่สร้างความครึกครื้นให้แก่เทศกาลต่างๆ ไม่ใช่แค่สงกรานต์ ถ้าคิดถึงลอยกระทง เสียงพลุและขบวนแห่ต่างๆ ก็จะแว่วเข้ามาในหู หากนึกถึงงานแต่งงานแบบประเพณีไทยก็จะได้ยินเสียงขบวนขันหมากโห่มาแต่ไกล และหากนึกถึงตรุษจีนก็ต้องนึกถึงเสียงประทัดและกลองของขบวนเชิดสิงโต และอย่างที่เอมิลี่ แบดเจอร์ นักข่าวของ CityLab ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “เมืองคงไร้ความหมาย หากเราทุกคนนั่งอยู่ในกล่องเงียบๆ ของตนเองเหมือนฤษี”

แต่เสียงก็เป็นมลพิษได้เช่นกัน มลภาวะทางเสียงก็มีผลเสียที่เป็นรูปธรรมเสียด้วย และกำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีการกระจายเสียงยิ่งพัฒนาขึ้นไป ขณะนี้ “ปัญหารบกวนเรื่องมลพิษทางเสียงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับสองที่คนกรุงเทพฯแจ้งความกับตำรวจมากที่สุด” คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้จัดการโครงการ Noise Map Thailand กล่าว แม้ว่าการทำเสียงดังจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่ผู้อื่นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิและกฎหมายในประเทศไทย ก็ดูเสมือนว่ากฎหมายนี้จะไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับสิทธิของตนในด้านมลภาวะทางเสียง และแม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็อาจไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ปล่อยปัญหาพวกนี้ผ่านไปโดยไม่จัดการอะไรอย่างเด็ดขาด

ประชาชนจึงได้แต่มานั่งบ่นออนไลน์ หรือปลอบใจตัวเองว่าสงกรานต์มีแค่สามวันต่อปี…แล้วเสียงดังๆ ก็จะผ่านไป

เสียงดังฆ่าคนได้จริงหรือ?

แน่นอนที่สุด มลภาวะทางเสียงส่งผลกระทบโดยตรงกับความเสื่อมของระบบการได้ยินและอาการหูตึง โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังเกินกว่า 85 เดซิเบล เป็นเวลานาน

85 เดซิเบลนี้ดังพอๆ กับเสียงรถบรรทุกคันใหญ่ที่วิ่งอยู่บนถนนที่ค่อนข้างแออัด แต่พิษภัยของเสียงมีมากไปกว่านี้ไหม?

ผลวิจัยชี้วัดว่าการรับเสียงที่ดังเกินกว่า 50 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับเสียงที่ค่อนข้างเงียบ เงียบพอๆ กับที่ออฟฟิศเงียบๆ แห่งหนึ่งสามารถเพิ่มแนวโน้มของการเกิดภาวะหัวใจวาย และเมื่อความดังของเสียงที่เพิ่มมากขึ้น 10 เดซิเบล ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายก็จะสูงขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เสียงที่เกิดขึ้นจากรถและระบบขนส่งมวลชนก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ได้ยินอีกด้วย เสียงเหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับโรคซึมเศร้า และผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่ๆ มีเสียงดังกว่า 80 เดซิเบลเป็นเวลานานก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่รุนแรงและเป็นมิตรน้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ๆ มีระดับเสียงปกติ และเด็กๆ ที่เรียนใกล้สนามบินและได้ยินเสียงเครื่องบินขึ้นลงเป็นประจำนั้นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเด็กเหล่านี้มีระดับสารอะดรีนาลีนและคอซิทอลสูงกว่าปกติ ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นฮอร์โมนที่ผลิตออกมาเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียด (Kaid Benfield)

ไม่น่าเชื่อว่าแม้แต่โรคอ้วนก็เกี่ยวข้องกับระดับเสียงรอบตัวด้วยเช่นกัน เพราะการวิจัยทางการแพทย์ที่ทำการสำรวจกับประชาชนชาวสวีเดน 5,075 คน ได้แสดงให้เห็นว่าการได้ยินเสียงที่ดังจากรถเป็นเวลานานนั้นมีผลต่อการก่อตัวของไขมันในช่องท้อง เนื่องจากฮอร์โมนความเครียดที่เสียงเข้าไปกระตุ้นเป็นฮอร์โมนที่ผลิตไขมัน

โดยเฉพาะไขมันหน้าท้อง ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าความอ้วนที่สะสมอยู่บริเวณกลางลำตัวเป็นความอ้วนชนิดที่เป็นภัยมากที่สุด

ปัญหาที่รัฐเพิกเฉย

อาจเป็นเพราะว่าปัญหาเรื่องเสียงเป็นปัญหาที่มองด้วยตาไม่เห็น มลภาวะทางเสียงจึงเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐ ในกรุงเทพมหานคร รัฐบาลมีเครื่องวัดระดับเสียงเพียงแค่หกตัวกระจายอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ ทำให้ปัญหาเรื่องมลภาวะทางเสียงขาดข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอในการศึกษาและแก้ปัญหา (กรมควบคุมมลภาวะ) แต่ประเทศไทยก็ไม่ใช่ที่เดียวในโลกที่รัฐบาลไม่ให้ความสนใจกับมลภาวะทางเสียง หลายๆ เมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ถูกยกให้เป็นเมืองที่มีมลภาวะทางเสียงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน ในมหานครนิวยอร์ก ความดังของเสียงในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมีถึง 108 เดซิเบล นั่นคือระดับเดียวกันกับเสียงของเลื่อยไฟฟ้าในระยะหนึ่งเมตรและเสียงร้องไห้ของเด็กทารกบนเครื่องบิน (Kaid Benfeild) และจากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก เมืองที่มีมลภาวะทางเสียงสูงที่สุดคือเมืองกว่างโจวในประเทศจีน ตามด้วยเมืองเดลี ประเทศอินเดีย กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และมุมไบ อิสตันบูล ปักกิ่งก็ตามมาติดๆ โดยประชากรของเมืองเดลี สูญเสียการได้ยินไป 20 ปีโดยเฉลี่ย (Alex Gray)

ยิ่งถ้าพูดถึงเรื่องของเทศกาลและเสียงแล้ว เมืองต่างๆ ในประเทศอินเดียก็มีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมระดับเสียงในช่วงเทศกาลเช่นกัน ในปี 2015 หนังสือพิมพ์อินเดียหลายฉบับพาดหัวเกี่ยวกับเสียงที่ดังระหว่างงานเทศกาลพระคเณศ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการประสูติของพระพิฆเนศในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของอินเดีย ในปี 2013 ระดับเสียงเฉลี่ยของเทศกาลนี้อยู่ที่ 114.4 เดซิเบล

แต่ในปี 2015 ระดับเสียงของงานสูงถึง 123.4 เดซิเบลในวันสุดท้ายของงาน จนต้องมีการถกกันว่าเครื่องกระจายเสียงและกลองต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญในเทศกาลนี้ควรถูกเลิกใช้หรือไม่

หน้าที่ใหม่ของประชาชนคนเมือง

Awaaz เป็นหน่วยงานหนึ่งในอินเดียที่รณรงค์ให้คนตระหนักถึงมลภาวะทางเสียงมากยิ่งขึ้น และมีหลายโครงการที่พยายามเรียกร้องให้มหานครหลายแห่งในอินเดียหรี่เสียงลง โครงการ Get Well Soon Mumbai เป็นโครงการหนึ่งที่รณรงค์เรื่องมลภาวะทางเสียงของ มุมไบ ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีเสียงดังที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย

ปัจจุบัน เมื่อการเก็บข้อมูลทางเสียงและการร้องเรียกให้เมืองต่างๆ หรี่เสียงลงกลายมาเป็นหน้าที่ของประชาชนไปโดยปริยาย application ใหม่ๆ อย่าง NoiseTube ก็เพิ่มอำนาจของพลเมืองในการวัดระดับความดังของสภาพแวดล้อมที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งองค์กรอย่าง Awaaz ก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้รวบรวมข้อมูลเรื่องมลภาวะทางเสียงจากประชาชนเพื่อนำไปแสดงต่อฝ่ายปกครองของมหานครมุมไบรวมถึงศาลชั้นสูงของอินเดียเพื่อเรียกร้องให้เมืองเหล่านี้หรี่เสียงลง

ในเมืองไทยเอง คงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะหันมาปกป้องสิทธิทางการได้ยินของประชาชนหากประชาชนไม่ได้เป็นฝ่ายเรียกร้อง เพราะแม้แต่บริการขนส่งมวลชนสาธารณะหลายรูปแบบที่รัฐบาลมีส่วนร่วมในการจัดตั้งขึ้นก็มีค่าเสียงที่ดังเกินมาตรฐานเช่นกัน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสีลม ศาลาแดง พร้อมพงษ์ และสะพานควายล้วนมีระดับเสียงที่สูงเกิน 70 เดซิเบล (กรมควบคุมมลพิษ) แต่ก็ยากที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่คนไทยจะตระหนักถึงสิทธิในการเลือกฟังของตัวเองเพิ่มมากขึ้นและหันมาเรียกร้องให้เมืองของเรา “เงียบเป็น” กับเขาบ้าง เสียงที่ดังในช่วงสงกรานต์ ลอยกระทง งานแต่งงาน งานวัด ฯลฯ ส่งผลกระทบไปมากกว่าและยาวนานกว่าเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนั้นๆ ทั้งในด้านกายภาพและความทรงจำเกี่ยวกับเทศกาลเหล่านี้ ทำอย่างไรให้เทศกาลต่างๆ สนุกสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่ทนฟังเสียงเพลงดังๆ ได้? ปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการตั้งต้นใหม่ คิดเรื่องใหม่ๆ และตั้งมาตรฐานใหม่ๆ ให้แก่เมืองของเรา

ติดตามโครงการ Noise Map Thailand ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองได้ที่ www.facebook.com/NoiseMapTH โครงการที่สนับสนุนให้กรุงเทพฯหรี่เสียงลงด้วยเสียงของประชาชน

แซมสุดา เข้มงวด
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image