“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สถาบันใหม่ วิจัย-ผลิตแพทย์

หากพูดถึงสถาบันพัฒนาและผลิตแพทย์ในสาขาวิชาต่างๆ แล้ว หลายคนมักนึกถึงสถาบันการผลิตแพทย์อย่างรามาธิบดี ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทราบหรือไม่ว่า ในเร็วๆ นี้จะมีสถาบันแห่งใหม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ภายใต้ชื่อ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”

ทั้งนี้ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ : Chulabhorn Royal Academy of Science” จัดตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงเป็นประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นชอบให้รวมหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งประกอบด้วย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานใหม่ มีสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล และได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน นอกจากนี้ยังมีพระวินิจฉัยให้ใช้ชื่อหน่วยงานว่า

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ : Chulabhorn Royal Academy of Science” เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาคในการผลิตและพัฒนาบุคลากรชั้นสูง ทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ เผยแพร่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การสาธารณสุข และให้บริการทางการแพทย์เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทำงานประสานกับองค์การระหว่างประเทศ มีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ให้ข้อมูลว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดตั้งขึ้นโดยมีร่างพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และรอการโปรดเกล้าฯ เพื่อมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

Advertisement

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะรวม 3 หน่วยงานภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อทำงานขับเคลื่อนด้านต่างๆ อย่างการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่สาขาหรือเชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งเท่านั้น แต่จะมีแพทย์สาขาต่างๆ รวมอยู่ด้วย โดยจะผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล และนักเทคนิคทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาขาดแคลนตลอด

ในปี 2560 จะเป็นปีแรกที่จะมีการรับนักศึกษาแพทย์เข้าฝึกหัดทั้งในส่วนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และร่วมมือกับสถาบันผลิตแพทย์ชั้นนำต่างๆ อย่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยทางการแทพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยในการผลิตแพทย์เพิ่ม

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์นั้น ที่ผ่านมาจะมุ่งรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดต่างๆ แต่ล่าสุดเตรียมขยายรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไปเพิ่มเติม ขณะนี้เริ่มเปิดให้บริการบ้างในกลุ่มอายุรศาสตร์ การรักษาโรคทั่วไป แต่ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีทุกสาขาโรค ซึ่งอยู่ระหว่างขยายอาคารรักษาผู้ป่วยเพิ่มเติม จากเดิมมีเตียงรองรับผู้ป่วย 100 เตียง จะเพิ่มอีก 400 เตียง เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคต่างๆ ได้รับการบริการอย่างทั่วถึง

Advertisement

ส่วนสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์นั้น ได้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2548 เนื่องในโอกาสที่ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชันษา 4 รอบ โดยการก่อตั้งสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเอกชนแห่งนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติ และสนองพระปณิธานในการพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ของชาติ และเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนา ตลอดจนการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การแข่งขันระดับสากล

ดังที่ได้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของสถาบันคือโปรดิวซิ่ง ลีดเดอร์สอิน ไซน์ซ แอนด์ เทคโนโลยี (Producing Leaders in Science and Technology) สร้างผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อพัฒนาบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่สามารถนำไปประยุกต์ในสาขาวิชาต่างๆ ที่สำคัญยังมอบทุนการศึกษาแบบให้เปล่าทุกปี

สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ โดยมูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้ง เพื่อให้เป็นสถานศึกษานานาชาติทางวิทยาศาสตร์ ผลิตและพัฒนาบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความรู้ความสามารถในการวิจัย และเป็นผู้นำแห่งวงการวิทยาศาสตร์ เปิดหลักสูตรใน 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย

1.พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม (Environmental Toxicology) การศึกษาโดยการเรียนรู้จากงานวิจัย เช่น ศึกษาผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพอนามัย กลไกการเกิดพิษและความเป็นพิษของสารเคมีและชีววัตถุ ประเมินความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การเรียนรู้จากประสบการณ์และกรณีศึกษา ตลอดจนข้อตกลงการวางนโยบายและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

2.วิทยาศาสตร์ชีวภาพประยุกต์ (Applied Biological Sciences : Environmental Health) การประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมีในการศึกษาผลกระทบของการได้รับมลพิษจากสิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคต่างๆ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดพยาธิสภาพจะนำไปสู่แนวทางป้องกัน พัฒนายาใหม่ และรักษาโรคเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นนำในการศึกษาวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3.เคมีชีวภาพ (Chemical Biology) การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสาขาชีววิทยาและเคมี เป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก ดังหัวข้อของการวิจัย เช่น การใช้ความรู้ด้านเคมีเพื่อความเข้าใจโรคต่างๆ การออกแบบโมเลกุลขนาดเล็กสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับชีวโมเลกุลและสิ่งมีชีวิตต่างๆ การค้นคว้าหาสารใหม่ สังเคราะห์หรือปรับสูตรโครงสร้างของสารได้จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น

รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมีคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัยชั้นนำของโลกมาร่วมสอน เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกันด้านการศึกษาระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อประโยชน์ของการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์งานวิจัยทันสมัย อาทิ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐ มหาวิทยาลัยอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก และมหาวิทยาลัยอูเทร็ค ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น มีการจัดการเรียนการสอนแนวทางใหม่ ใช้วิธีบูรณาการองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการประยุกต์ใช้เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพรวม รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และสร้างความเข้าใจบนฐานความรู้ ตลอดจนสามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยใช้การวิจัยนำ สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง (Translational Research)

โดยสถาบันได้ครบรอบ 10 ปี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของประเทศได้กว่า 124 คน มีทั้งนักศึกษาทั้งชาวไทยและนักศึกษาชาวต่างประเทศ ในระดับปริญญาโท 98 คน และระดับปริญญาเอก 26 คน นอกจากนี้ บัณฑิตที่ศึกษาจบจากสถาบันยังได้มีโอกาสเข้าทำงานกับหน่วยงานที่มีชื่อเสียงและศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ดร.ศศิวดี บุญญะอุทธยาน อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งสายวิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดร.ศักรินทร์ ภูผานิล อาจารย์สาขาชีววิทยา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ดร.อัจฉราวดี แผนสนิท อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดร.พันธ์ทิพย์ หินหุ้มเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ล่าสุด สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์จะเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกผู้รับทุนการศึกษาโครงการผลิตนักวิทยาศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวม 30 ทุน และงานแนะนำหลักสูตรซีจีไอ โอเพ่น เฮาส์ 2016 (CGI OPEN HOUSE 2016) ขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2559 เป็นทุนแบบให้เปล่าครอบคลุมค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่นๆ ตลอดระยะเวลาของหลักสูตร รวมถึงมีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับผู้รับทุนอีกด้วย ตั้งแต่ 7,000-10,000 บาท ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครได้ด้วยตนเองในช่วงเช้า และรอฟังประกาศผลผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ได้ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2554-1900 ต่อ 2144 และ 2128 หรือเว็บไซต์ www.cgi.ac.th

เป็นอีกเรื่องน่ายินดีในการผลิตแพทย์และพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image