รถไฟไทย-สังคมไทย โดย ปราปต์ บุนปาน

 

“หมอนรถไฟ” เป็นชื่อของภาพยนตร์สารคดีไทยเรื่องหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาค้นคว้าข้อมูล, ถ่ายทำ, พัฒนาเรื่องราว และหาทุนสนับสนุน รวมแล้วถึง 8 ปี

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ซึ่งจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านภาพยนตร์ที่สหรัฐ และเคยมีชื่อเป็นทีมงานในหนังหลายเรื่องของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

หนังสารคดีที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “รถไฟไทย” เรื่องนี้ ไปเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลก ณ เทศกาลภาพยนตร์ปูซาน เมื่อปลายปี 2559 ก่อนที่ช่วงต้นปี 2560 จะได้รับการคัดเลือกไปจัดฉาย ณ เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน

Advertisement

ล่าสุด “หมอนรถไฟ” ได้เข้าฉายในเมืองไทย ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา

ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และเอสเอฟ เมญ่า เชียงใหม่

“หมอนรถไฟ” ยังคงนำเสนอ “คุณลักษณะดั้งเดิม” ของระบบขนส่งมวลชนอย่าง “รถไฟ” ที่เคยมีปรากฏบ่อยครั้งในภาพยนตร์สารคดีแทบทุกยุคสมัย

นั่นคือ “รถไฟ” หรือการขนส่งมวลชนในระบบ “ราง” ซึ่งตัดผ่านพื้นที่ของประเทศต่างๆ อย่างครอบคลุมและกว้างขวางนั้น มีส่วนสำคัญยิ่งในกระบวนการสร้าง “ชุมชนจินตกรรม” ที่เรียกว่า “ชาติ”

ด้วยการช่วยยึดโยงผู้คนหลายกลุ่มจากหลากพื้นที่ ให้กลายเป็น “สมาชิกร่วมชาติเดียวกัน”

ดังจะเห็นได้จากการที่หนังสารคดีเรื่องนี้มุ่งถ่ายทอดและร้อยเรียงภาพกิจวัตรของกลุ่มผู้โดยสารอันหลายหลากบนรถไฟหลากหลายขบวน ออกมาอย่างเปี่ยมชีวิตชีวา

ไล่เรียงจากตู้รถไฟชั้น 3 ไปถึงชั้น 2 และชั้น 1

จากรถไฟสายเหนือลงไปใต้ จากตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ตะวันตก โดยพยายามพร่าเลือน/ไม่กล่าวถึงเส้นแบ่งแยกหรือความแตกต่างระหว่างภูมิภาคอย่างจำเพาะเจาะจง

นอกจากนี้ หนังได้พูดถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่สอดคล้องกัน ระหว่างการเริ่มต้นตั้งไข่กิจการ “รถไฟไทย” กับกระบวนการก่อร่างสร้างรัฐสยามสมัยใหม่ในยุครัชกาลที่ 5

แต่ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า ในเมื่อ “รถไฟไทย” ยังคงวิ่งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับกระบวนการสร้างชาติ ที่ยังมีพลวัตเคลื่อนไหวไปโดยไม่เคยหยุดหย่อน จนต้องเผชิญหน้ากับบริบทและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมแบบใหม่ๆ นานัปการ

แล้วการสร้างหรือธำรงรักษา “ชุมชนในจินตนาการ” ที่เรียกว่า “ชาติ” จะยังสามารถดำเนินไปในรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ได้หรือไม่?

ดูคล้ายสมพจน์จะครุ่นคิดถึงคำถามดังกล่าว ผ่านหนังสารคดีของเขาเช่นกัน

เพราะด้านหนึ่ง หนังก็ถ่ายทอดภาวะกึ่ง “เหนือจริง” กึ่ง “สมจริง” ที่ “ขบวนรถไฟไทย” ไม่เคยเดินทางผ่านพ้นออกมาจากยุคสมัยแรกเริ่มของมัน ได้อย่างน่าสนใจและมีอารมณ์ขัน

ขณะเดียวกัน หนังก็แตะประเด็น “รถไฟความเร็วสูง” ที่ต้องชะงักงันและยังเดินทางมาไม่ถึง

หากเปรียบ “รถไฟไทย” เป็นดังภาพจำลองของ “สังคมไทย”

หนังสารคดีเรื่อง “หมอนรถไฟ” ก็เหมือนกำลังบอกผู้ชมว่า เราควรจะลงมือสร้างและจินตนาการถึง “ชาติ” ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ๆ กันได้แล้ว

แต่พร้อมๆ กันนั้น พวกเรา (บางคน) ก็ไม่ยอมสลัดตนเองให้หลุดพ้นออกจากความคุ้นชินเดิมๆ และกรอบความคิดเก่าๆ บางประการ

เราจึงวนเวียนอยู่ในโลกของอดีต ท่ามกลางปัจจุบันอันเคว้งคว้าง และยังมองไม่เห็นความชัดเจนของอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image