‘สาทรโมเดล’ขยายผล ต้นแบบแก้ปัญหาจราจร

นินนาท ไชยธีรภิญโญ

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานร่วมคณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า โครงการสาทรโมเดล โครงการต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาจราจร ริเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 โดยสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชน ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัดบนถนนสาทร

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 โครงการได้ศึกษาทดลองดำเนินงาน โดยใช้มาตรการแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบบนถนนสาทรและบริเวณโดยรอบ เช่น การริเริ่มรถบัสรับส่ง (Shuttle Bus) ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รวมถึงมาตรการจอดแล้วจร (Park & Ride) พื้นที่จอดรถเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะ และมาตรการควบคุมจัดการจราจร (Traffic Flow Management) บนถนนสาทร

ต่อมาเดือนเมษายน 2558 มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวนประมาณ 110 ล้านบาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการสาทรโมเดลให้มีขอบเขตการทำงานที่มากขึ้น กำหนดมาตรการในบริเวณถนนสาทร เช่น มาตรการจอดแล้วจร เพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ถนนสาทร จากความร่วมมือของสมาคมค้าปลีกไทย สมาคมห้างสรรพสินค้าไทยและบริษัท นิปปอน พาร์คกิ้ง ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แบ่งปันพื้นที่จอดรถ รวมถึงได้พัฒนาพื้นที่จอดรถขึ้นมาใหม่ ในทำเลเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าได้สะดวก มีผู้เข้าร่วมโครงการ 504 คน โดยเฉพาะจำนวนของผู้ใช้จุดจอดแล้วจรกรุงธนบุรีเฉลี่ย 280 คนต่อวัน

ในอนาคตจะให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างและดำเนินการจุดจอดแล้วจรในที่ดินของรัฐ และได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐควรมีหน่วยงานเจ้าภาพทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าให้มีจุดจอดแล้วจรเพียงพอ มาตรการรถรับส่ง เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบริเวณถนนสาทร ได้พัฒนาการให้บริการรถโรงเรียน (School Bus) ที่มีความปลอดภัยสูงในรูปแบบ สถานีถึงโรงเรียน (Station to School) ทั้ง 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานตามจุดจอดที่กำหนดไว้ แล้วเดินทางต่อสู่โรงเรียนด้วยรถรับส่ง

Advertisement

โครงการใช้รถร่วมกัน หรือทางเดียวกันมาด้วยกัน (ACP Car Sharing) สนับสนุนให้ผู้ปกครองเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ร่วมกันเดินทางมาโรงเรียน ทั้งสองมาตรการมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ 117 คน ประหยัดเวลาการเดินทางของผู้ปกครองได้มากและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้ ปัจจุบันทั้งสองโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนใช้บริการรับส่งจากบ้านถึงโรงเรียน 665 คน จากโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และ 801 คน จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

สำหรับมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน (Flexible Working Time) เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน โดยใช้ข้อมูลการเดินทางของพนักงานที่ได้จาก ลิงก์โฟลว์ แอพพลิเคชั่น (Linkflow Application) เพื่อออกแบบวางแนวทางการใช้มาตรการเหลื่อมเวลาทำงานในแต่ละบริษัทที่เข้าร่วม พนักงาน สามารถวางแผนการเดินทางเพื่อเข้าทำงานหรือเลิกงานได้เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความแออัดบนท้องถนนลงได้ มีพนักงานเข้าร่วมโครงการกว่า 4,300 คน จาก 12 บริษัท

และมาตรการบริหารจัดการจราจร การจัดช่องจราจรพิเศษ (Reversible Lane) ในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า โดยให้รถขาเข้าจากสะพานตากสินและจากถนนเจริญราษฎร์เข้าสู่ถนนสาทรเหนือโดยใช้ช่องทางพิเศษได้ 1 ช่องทางบนถนนสาทรใต้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ด้วยการหยุดรับส่งนักเรียนแล้วรีบเคลื่อนรถออกไป (Kiss & Go) กำหนดจุดรับส่งอย่างเป็นระเบียบ พร้อมทั้งการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้ปัญหารถชะลอตัวเนื่องจากการเปลี่ยนช่องทางเพื่อรับส่งนักเรียนเบาบางลง

รวมทั้งการบริหารควบคุมสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกสาทร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สามารถรับทราบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดสัญญาณไฟจราจร ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น คำนวณจากปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลาแบบเรียวไทม์ และระยะแถวคอยในแต่ละทิศทาง ช่วยให้กำหนดสัญญาณไฟจราจรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพจราจรและมีประสิทธิภาพสูงสุด

จากผลการดำเนินงานพบว่า สภาพการจราจรบนถนนสาทรเหนือขาเข้าจากบริเวณสี่แยกสาทร ถึงสี่แยกวิทยุ ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าคล่องตัวมากขึ้น มีค่าเฉลี่ยปริมาณการระบายรถเพิ่มขึ้น 422 คันต่อชั่วโมง หรือร้อยละ 12 ความยาวรถติดสะสมจากสะพานตากสินไปจนถึงฝั่งธนบุรีลดลงจากปกติ

สำหรับแผนที่นำทาง (Roadmap) จากโครงการสาทรโมเดล

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้ดำเนินมาตรการจนได้ขยายผลการดำเนินงานนำสู่แผนที่นำทางหรือโรดแมป (Roadmap) ตามมาตรการที่สำคัญ ได้แก่

1.สนับสนุนให้มีการทำแผนแม่บทการจอดแล้วจรและนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม

2.ปริมาณการจราจรมากช่วงเวลาเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนใหญ่ผู้ปกครองใช้รถยนต์ส่วนตัวรับส่งบุตรหลาน จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครอง และประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มผู้มีส่วนร่วม ช่วยลดปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างมีนัยสำคัญ

3.ส่งเสริมให้จัดทำข้อตกลงโดยสมัครใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้บริษัทนำมาตรการเหลื่อมเวลาทำงานไปประยุกต์ใช้กับพนักงานอย่างทั่วถึง

4.แนวทางบริหารจัดการจราจร ได้แก่

4.1 ขยายมาตรการต่างๆ เพื่อลดคอขวดบนท้องถนน ไปยังถนนสายหลักอื่นๆ เช่น พระราม 4 เจริญกรุง สุขุมวิท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอื่นๆ

4.2 สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับปรุงการบริหารสัญญาณไฟจราจร ด้วยมาตรฐานการปฏิบัติงาน ได้จากการรวบรวมองค์ความรู้และเทคนิควิธีการที่เหมาะสม

4.3 การผสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน (PPP) วางแผนและใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัดปริมาณจราจร (เซ็นเซอร์)

4.4 จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมวิศวกรรมจราจร เพื่อสนับสนุนงานแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image