235 ปี กรุงเทพเมืองฟ้าอมร มหานครแบบไหนที่คนไทยต้องการ ?

21 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 235 ปี

“กรุงเทพ” กลายเป็นเมืองหลวงของสยาม ซึ่งภายหลังเรียกว่า ประเทศไทย

สุขสงบ ร้อนรุ่ม ร่มเย็น โกลาหล

สลับสับเปลี่ยนหมุนวน ตามแต่สถานการณ์ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมในห้วงเวลานั้นๆ

Advertisement

อดีตที่พ้นผ่าน ปัจจุบันที่กำลังเผชิญ อนาคตที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าใกล้หรือไกล

มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร และ มหานครแบบไหนที่คนไทยอยากให้เป็น ?

 

Advertisement

(คน)กรุงเทพ เป็นใคร มาจากไหน ?

เมืองใดๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะมีศิลปะอันวิจิตรสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ แต่หากไม่มีผู้คน ย่อมเป็นเมืองไม่ได้

แล้วคนกรุงเทพยุคแรกสร้างเป็นใคร ก่อนหน้านั้น  มีคนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้หรือไม่

ความจริงแล้ว กรุงเทพ สร้างขึ้นทับซ้อนอยู่บนกรุงธนบุรี ราชธานีก่อนหน้า แต่เปลี่ยนศูนย์กลางจากตะวันตกไปตะวันออก แล้วขยายคูน้ำ กำแพงเมืองให้กว้างกว่าเดิม ไพร่ฟ้าประชากรส่วนใหญ่อยู่ในหลักแหล่งเดิม ที่เพิ่มเติมคือการสร้างพระบรมมหาราชวังอันงดงาม วัดวาอาราม ขุดคูเมืองโดยเกณฑ์คนเขมร (จาม) สร้างกำแพงอีกทั้งป้อมปราการถึง 17 แห่ง โดยคนลาวจากอีสาน เวียงจันทน์ ตลอดจนหัวเมืองลาวริมน้ำโขง

คนเหล่านี้ ต่อมากลายได้สร้างครอบครัว มีลูกหลานเหลนลื้อ เป็นส่วนหนึ่งของคนกรุงเทพ และคนไทยโดยสมบูรณ์ สืบเผ่าพันธุ์ผสมผสานกลุ่มคนดั้งเดิมในพื้นที่ ไหนจะมีชาวจีนที่ทยอยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งถิ่นฐานอย่างนับไม่ถ้วน

นี่คือคนกรุงเทพในยุคแรกเริ่ม ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นไพร่หรือแรงงานรับใช้มูลนาย

ถามว่ายุคนั้น มีคนอยู่อาศัยในมหานครแห่งนี้มากมายมหาศาลดังเช่นปัจจุบันหรือไม่ ?

หลักฐานร่วมสมัย ไม่มีเด่นชัด แต่อาจสันนิษฐานจากบันทึกของ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ทูตอังกฤษที่เข้ามายังเมืองบางกอกในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ซึ่งระบุว่า  จำนวนประชากรทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสยามมีไม่เกิน 5 ล้านคน เป็นประชากรกรุงเทพฯ ไม่เกิน 3 แสนคน

ตลาดท่าเตียน มีทั้งชาวจีน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่กลายเป็น “คนกรุงเทพ” และคนไทยโดยสมบูรณ์

จากข้อมูลนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ มาจากไหน?” ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ว่า เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯ ย่อมต้องมีน้อยกว่านั้น จึงอาจมีเพียง 1 แสน หรือ 2 แสนคน ต่อมามีการกวาดต้อนเชลยศึกและเกณฑ์ไพร่พลเข้ามาคราวละมากๆ ยังไม่นับคนจีนที่ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ จนประมาณไม่ได้

สุจิตต์ ยังระบุไว้ในบทความต่างๆหลายครั้ง ว่าคนกรุงเทพฯ ยุคแรกไม่ได้เป็นชาติพันธุ์เดียวกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าไม่ได้เป็นคนไทยทั้งหมด และยังไม่มีสำนึกเป็นคนไทยเหมือนปัจจุบัน อาจจำแนกกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิม มีหลายตระกูลภาษาอยู่ปะปนกัน, คนต่างชาติภาษานานาประเทศ ซึ่งมีทั้งกลุ่มพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่ห่างไกล กับกลุ่มมาจากที่อื่น เช่น ตะวันออกกลาง, ยุโรป, รวมถึงหมู่เกาะ เช่น ญี่ปุ่น และคนไทยสยาม ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ส่วนสภาพบ้านเมืองมีมีพัฒนาการเรื่อยมา โดยเชื่อว่า “ความเป็นกรุงเทพที่แท้จริง” เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะการสงครามห่างหาย ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการค้าสำเภาผลิดอกออกผล ในรัชสมัยต่อมา กรุงเทพก็โอ่อ่าขึ้นตามลำดับ

ถนนสายแรกถูกสร้างขึ้น ได้ชื่อว่า “เจริญกรุง” อาคารบ้านเรือนมากมายถูกสร้างกระจายทั่วไปทั้งนอกและในพระนครแต่ยังมีพื้นที่รกร้าง ยาจกอนาถา แขกเลี้ยงวัว

การคมนาคมเริ่มเจริญก้าวหน้า นอกเหนือจากรถม้า ยังมีจักรยานนำเข้าจากยุโรปสมัยรัชกาลที่ 5 ตามด้วยรถยนต์ และรถเมล์ รวมถึงรถราง อีกทั้งรถไฟ ซึ่งพระยาชลยุทธโยธิน ชาวเดนมาร์ก ริเริ่มรวมทุนเปิดการเดินรถครั้งแรกจากกรุงเทพไปสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ.2436 ตามด้วย “รถไฟหลวง” สายแรกจากกรุงเทพถึงอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2440

นับแต่นั้นมา มหานครก็เติบโตขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นกรุงเทพอย่างที่เรารู้จักทุกวันนี้

คนกรุงเทพ ลอยเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา

แบงค็อกยุคใหม่ ห้วงสมัยแห่งการพัฒนา

ตัดภาพมายัง “แบงค็อก” ณ บัดนาว ที่เราเรียกกันว่าเป็นการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ พัฒนาการทางกายภาพที่เห็นได้ชัด นอกเหนือจากอาคารบ้านเรือนร่วมสมัยและจำนวนคนที่มากมายขึ้นทุกที ก็คือการคมนาคมขนส่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

รถประจำทางปรับอากาศแบบต่างๆ เกิดขึ้นเป็นอีกทางเลือก ร่วมกับรถเมล์ธรรมดา หรือที่เรียกกันแบบเอาฮาว่า “รถเมล์ร้อน”

รถไฟฟ้าสารพัดสาย รถใต้ดินแสนสะดวกสบาย หลากเส้นทางที่แม้ “ถนนลูกรัง” ยังไม่หมดไปจากประเทศ ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คน ไม่เพียงแค่คนกรุงเทพตามสำเนาทะเบียนบ้าน แต่รวมถึงคนไทยทุกคนที่ทำงาน เช่าบ้าน มีธุระปะปังอันเกี่ยวเนื่องกับเมืองหลวงของประเทศตัวเอง

ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ภาพคนโหนรถเมล์จนห้อยย้อยเป็นพวงออกนอกประตู จึงกลายเป็นภาพถ่ายเก่าในความทรงจำที่ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

ภาพคนโหนรถเมล์ออกมานอกตัวรถ แทบไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เนื่องจากการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพที่มีทางเลือกมากขึ้น (ไม่ทราบที่มาภาพ)

ในขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามที่จะ “จัดระเบียบ” ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หาบเร่ แผงลอย ที่ทำเอาแม่ค้าเสียวสันหลังวาบกันบ่อยๆ รวมถึง “สตรีทฟู๊ด” ที่กล่าวกันว่าเป็นสเน่ห์ของกรุงเทพ ก็ดูเหมือนจะถูกจัดการในบางจุด โดยละเว้นไว้ในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิดหน้าชูตา ทำให้คนกรุงเทพเริ่มตั้งคำถามถึงมาตรฐานที่เท่าเทียม

“ตลาด” หลายแห่งทั้งเก่าใหม่ ได้รับการจัดระเบียบเช่นกัน อาทิ ร้านรวงย่านสะพานเหล็กส่วนที่ยื่นรุกล้ำ “คลองโอ่งอ่าง” อันเป็นโบราณสถานของชาติ, ตลาดกลางคืนย่านสะพานพุทธ ที่เหลือเพียงตำนาน, ตลาดดอกไม้เลื่องชื่อ อย่างปากคลองตลาดที่ไร้แผงค้าบนทางเดินทั้งกลางวันและกลางคืน

เป็นปฏิบัติการที่ได้รับทั้งเสียงก่นด่า และสรรเสริญ

 

“ม็อบดอกไม้” ปากคลองตลาด ครั้งจัดระเบียบแผงค้า

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่อนุรักษ์และพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวตามแนวคิดที่เกิดขึ้นเมื่อราว 50 ปีก่อน โดยผลักดันชุมชนซึ่งถูกมองเป็นผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ นั่นคือ ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุน และคัดค้าน ชาวบ้านที่ต่อสู้มานานเข้าสู่ปีที่ 25 ก็ยังคงยืนหยัดต่อไป แม้บ้านในชุมชนถูกรื้อไปแล้วนับสิบหลัง

ฝ่ายค้านรื้อ ซึ่งมีทั้งสถาปนิก เอ็นจีโอ และอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มองว่านี่คือชุมชนชานพระนครที่หลงเหลือเพียงแห่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นความทรงจำสำคัญของคนกรุงเทพ เป็นร่องรอยพัฒนาการบ้านเมืองที่ไม่ควรถูกทำลาย

ผู้สนับสนุน มองว่าบริเวณดังกล่าว ควรถูกใช้ประโยชน์จากสาธารณะ ไม่ใช่ครอบครองโดยคนเพียงไม่กี่คนซึ่งไร้สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย ทั้งยังเป็นที่ซ่องสุม ลักลอบขายดอกไม้ไฟ ห่างไกลจากนิยาม “ชุมชนประวัติศาสตร์” เพราะคนส่วนใหญ่มาอยู่ใหม่แทบทั้งสิ้น

เครือข่ายชุมชนและกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จัดงาน “มหากาฬไม่โดดเดี่ยว” เพื่อสนับสนุนแนวคิดการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป้อมมหากาฬ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2559

อีกหนึ่งโปรเจ็คยักษ์ที่ก่อเกิดอุณหภูมิร้อนแรงก็คือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกตัดสายสะดือออกมาด้วยแนวคิด “เพื่อการเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียม” ถูกคัดค้านจากวิศวกร สถาปนิก นักวิชาการ ผู้ประกอบการ รวมถึงชาวบ้านริมน้ำในกรุงเทพที่ได้รับผลกระทบ โดยให้เหตุผลว่ามีความไม่กระจ่างใจในขั้นตอนที่ไม่โปร่งใส ขาดการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ขาดการศึกษาที่เพียงพอ ผิดหลักวิชาการหลากหลายด้าน และอื่นๆอีกมากมาย

ส่วนผู้สนับสนุน มองว่าเป็นการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมต่างชาติ ซึ่งล้วนมีทางเลียบแม่น้ำให้คนเข้าถึงแม่น้ำได้ ในขณะที่ในเมืองไทยต้องจ่ายเงินให้ร้านอาหารและโรงแรมริมน้ำเพื่อเข้าพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งนับเป็นความไม่เท่าเทียม ไม่อารยะ

กลุ่มค้านทางเลียบเจ้าพระยาแนวร่วมเพียบ ขณะที่ภาครัฐมั่นใจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

กรุงเทพวันพรุ่งนี้ที่ออกแบบ (ไม่) ได้ ?

สภาพการณ์ของกรุงเทพในปัจจุบัน ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แนวความคิดที่จะพัฒนาชุมชนของตัวเองถูกพัฒนาขึ้นตามลำดับ ความต้องการ “มีส่วนร่วม” ในฐานะคนกรุงเทพผุดขึ้นอย่างเข้มข้น ชี้เทรนด์ในอนาคตที่ผู้คนขอ “ออกแบบ” และพัฒนาเมืองอย่างที่ตัวเองอยากเห็น ไม่ใช่ที่ภาครัฐต้องการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

ตัวอย่างเด่นชัดคือถ้อยแถลงของชาวป้อมมหากาฬ ที่ขอโอกาสในการมีส่วนดูแลสวนสาธารณะซึ่งกทม.ต้องการสร้างขึ้นในพื้นที่ชุมชน กิจกรรมการออกแบบชุมชนถูกจัดขึ้นบ่อยครั้ง โดยมีชาวบ้านจากชุมชนต่างๆในกรุงเทพเดินทางมาเข้าร่วม ใช้เพียง ดินสอ ปากกา และสีเมจิก เนรมิตความคาดหวังบนกระดาษ

ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่ม มหากาฬโมเดล นำโดย ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการเกสต์เฮาส์ใกล้กับชุมชน ทดลองออกแบบอย่างมืออาชีพ นำเสนอต่อสังคมและภาครัฐหลายครั้ง แต่ยังไม่มีสัญญาณตอบกลับ เช่นเดียวกับกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถาปนิกจิตอาสาลงพื้นที่สำรวจชุมชนแล้วบุกมอบแบบพัฒนาชุมชนบางอ้อ ย่านจรัลสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ กลางงานประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นของโครงการฯ

กลุ่มมหากาฬโมเดล “ออกแบบ” ชุมชนในแบบที่อยากให้เป็น

ไม่เพียงแม่น้ำสายหลักอย่างเจ้าพระยา ลำคลองสายย่อยต่างๆในกรุงเทพฯ ที่เน่าเหม็นสะสมมานานก็ล้วนต้องการความใส่ใจอนุรักษ์และพัฒนา ไม่ใช่อย่างฉาบฉวย เร่งร้อน แต่ต้องต่อเนื่องและจริงจัง

กลุ่มรักษ์บางประทุน ที่ก่อตั้งโดย นาวิน มีบรรจง ชาวคลองบางประทุน ย่านบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรีที่ยังมีเรือกสวน และบ้านไม้ริมฝั่ง เล็งไว้ว่าอนาคตอันใกล้ จะถูกรุกคืบด้วยคอนโดมีเนียม และห้างสรรพสินค้าที่ค่อยๆคืบคลานมาตามสายรถไฟฟ้า ที่ตอนนี้ก็เริ่มผุดขึ้นอย่างตั้งตัวไม่ทัน

นาวินพร้อมด้วยเครือข่าย จึงก่อสร้างแหล่งเรียนรู้และกิจกรรมอนุรักษ์สายน้ำ ทั้งเก็บขยะ ลอกคลอง และเสนอมุมมองต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ

นับเป็นความพยายามในการร่วมออกแบบเมืองหลวงอย่างที่อยากให้เป็น

นี่คือส่วนหนึ่งของกรุงเทพในอดีต ปัจจุบัน และวันพรุ่งนี้ ที่ใครๆก็อยากให้เป็นเมืองฟ้าอมรในฝัน ทว่า ฝันของหน่วยงานราชการ และชาวบ้านที่อาจเหมือนหรือต่างกัน

ใครคือเจ้าของอำนาจในการเนรมิต ?

ชาวบางประุทุน ฝั่งธนบุรี ยังใช้ชีวิตแอบอิงกับสายน้ำ มีการทำกิจกรรมรณรงค์ด้านการอนุรักษ์อย่างสม่ำเสมอ
(ภาพจากเพจ “คลองบางประทุน”)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image