ทุกการ “ร่วมเดินทาง” ของคุณ คือวัน Earth Day

“Earth Day” หรือ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” กำเนิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนทุกคนมีจิตสำนึกในการปกป้องและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก การกระทำของคนเพียงคนเดียวมีผลต่อสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยมลภาวะมีหลายประเภท แต่ที่สร้างปัญหาและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ มลพิษทางอากาศ องค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี พ.ศ. 2557 รายงานว่ามลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนประมาณ 7 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่ในปี พ.ศ. 2555 คนไทยจำนวนมากกว่า 50,000 คนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือเราจะมีบทบาทอย่างไรเพื่อช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทย

ศิริภา จึงสวัสดิ์

ปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยมีฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งเกิดจากการขนส่งสัญจรเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศสำคัญในเขตเมือง โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นต้นเหตุที่สำคัญของมลภาวะทางอากาศ ซึ่งสถิติจำนวนรถจดทะเบียนสะสมจากกรมการขนส่งทางบก ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้นำรถใหม่ (ป้ายแดง) มาจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 2,456,686 คัน เฉลี่ยเดือนละกว่า 240,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกัน 100,949 คัน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.28

การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่มากขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของมลภาวะทางอากาศ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนที่ต้องสูดเอาฝุ่นละอองหรืออากาศเป็นพิษ จากสถิติตั้งแต่ปี 2548 พบว่าแนวโน้มโรคระบบทางเดินหายใจเช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นต้น เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 20,000-30,000 ราย ดังนั้น ถึงแม้รถยนต์ส่วนตัวแต่ละคันจะสร้างผลกระทบน้อยแต่ในปริมาณที่ถูกใช้งานบนถนนด้วยจำนวนมากทำให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะเดียวกัน รายงานคุณภาพการจราจรจากหลายองค์กรระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าการจราจรในกรุงเทพมหานครติดขัดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อาทิรายงานของอินริกซ์ โกลบอล ทราฟฟิก สกอร์การ์ด ระบุว่ากรุงเทพฯ มีจราจรติดขัดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยในปีที่แล้วผู้คนต้องใช้เวลากับรถติดบนท้องถนนเฉลี่ยถึง 64.1 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 23% ของเวลาทั้งหมด และ 33% ของเวลาที่อยู่กับรถติดนั้นอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนี้ ทอมทอม ผู้ผลิตระบบนำทางจีพีเอสชั้นนำของโลกยังบอกกว่าสถานการณ์รถติดในกรุงเทพฯ นั้นอาจจะเลวร้ายกว่านี้อันเนื่องมาจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา

Advertisement

รวมทั้งนโยบายของรัฐให้ความสำคัญกับรถยนต์ซึ่งวัดได้จากการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างและซ่อมแซมถนนสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทในปี 2559 ขณะที่การลงทุนด้านอื่นอย่างรถไฟ รถเมล์ ทุกอย่างถูกตั้งคำถามกลับไปเรื่องกำไรขาดทุน ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีรถยนต์ส่วนตัวประมาณ 4 ล้านคัน (และเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเกิดของประชากรในช่วง 8 ปีหลัง) รถเมล์ 5,000 คัน ขณะที่รถตู้โดยสารมี 5,000 คัน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าท้องถนนถูกจับจองโดยรถส่วนตัว

ดังนั้น หากเราสามารถนำเอารถยนต์ในกรุงเทพฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญของรถส่วนบุคคลดังที่กล่าวมา ภายใต้การให้บริการร่วมเดินทางหรือ Ride Sharing คือการร่วมโดยสารกันไปในเส้นทางเดียวกัน หรือเส้นทางใกล้เคียงกัน และมีผู้โดยสารมากกว่าหนึ่งคนบนยานพาหนะด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีอยู่บนท้องถนน ซึ่งจริงๆ แล้วสังคมไทยมีการใช้บริการร่วมเดินทางมานานแล้ว รถสองแถว รถตุ๊กตุ๊ก หรือรถตู้ได้ให้บริการขนส่งร่วมกันในหลายจังหวัดของประเทศไทย แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์ในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ที่มีมากกว่า 5.7 ล้านคนได้อย่างเพียงพอ จึงทำให้รูปแบบการเดินทางในการนำเอารถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาให้บริการร่วมเดินทางผ่านทางแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน จึงเป็นที่นิยมในสังคมปัจจุบัน

ทำไมการให้บริการร่วมเดินทาง เช่น อูเบอร์ (Uber) จึงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับสภาพแวดล้อมและเมืองที่จะเพิ่มการใช้งานของจำนวนรถยนต์บนถนน อธิบายได้ง่ายๆ คือ การให้บริการร่วมเดินทางทำให้มีการแบ่งปันการใช้รถยนต์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Advertisement

สำหรับประเทศไทยแล้ว สาเหตุที่การให้บริการร่วมเดินทางเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเพราะในปี 2560 คนไทยประมาณ 20 ล้านคนหรือหนึ่งในสามของประชากรไทยทั้งหมดที่ใช้สมาร์ทโฟนโดยการใช้เวลาโดยเฉลี่ย 160 นาทีต่อวัน (หรือ 14% ของ เวลารวมต่อวัน) หากหนึ่งในสามของประชากรไทยมีตัวเลือกมากขึ้นที่สามารถเลือกใช้การบริการร่วมเดินทางผ่านสมาร์ทโฟนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยกัน ความจำเป็นที่จะต้องใช้รถยนต์ส่วนก็จะลดลง เพราะสามารถเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น การจราจรจะติดน้อยลงถ้ามีคนเดินทางจำนวนมากขึ้นโดยใช้รถยนต์น้อยลง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเพราะไม่ต้องจ่ายค่าดูแลรักษารถยนต์และค่าจอดรถ และทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างที่จอดรถให้มากขึ้นแต่สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวไปสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนรวมได้มากกว่าเดิม ตัวอย่างของความพยายามในการบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่เป็นสีเขียวนเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อเป็นแหล่ง กรองอากาศพิษโดยมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 5,025 ไร่ ภายในระยะเวลา 4 ปีจากปี 2556 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2575 หรือประมาณ 20 ปี ข้างหน้าจะต้องเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวให้ได้เป็น 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งเป็น ค่ามาตรฐานต่ำสุดที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก ในปัจจุบันเมืองในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมากได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (12.0 ตารางเมตรต่อคน) และสิงคโปร์ (19.4 ตารางเมตรต่อคน)

ท้ายที่สุด การใช้บริการร่วมเดินทางยังช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เพราะสามารถพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญกว่า คนเหล่านี้สามารถใช้สิทธิในการเลือกวิธีการในการเดินทางและสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับอากาศบริสุทธิ์เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีซึ่งมาจากสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาเหล่านั้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image