คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : สงครามกลางเมือง ที่ “เวสต์วิง”

REUTERS/Kevin Lamarque/File Photo

ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันดีกว่าในชื่อ “ทำเนียบขาว” หรือ “ไวท์เฮาส์” เป็นสถาปัตยกรรมแบบ “นีโอคลาสิค” มีอาคารขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง เปิดทางเข้าตึกทั้งสองด้าน ข้อสังเกตก็คือ ถ้าเราเห็นทำเนียบขาว มีหลังคาส่วนหนึ่งเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ก็แสดงว่าเรากำลังมองเข้าไปจากหน้าตึกด้านเหนือ ถ้าหน้าตึกโค้งเป็นครึ่้งวงกลม ก็แสดงว่านั่นเป็นด้านหน้าทำเนียบขาวทางทิศใต้

จากอาคารตรงกลาง มีปีกตึกขยายออกไป 2 ด้าน ปีกตึกทางด้านขวา กันไว้เป็นส่วนพำนักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและ “ครอบครัวหมายเลข1”

ด้านซ้าย ที่รู้จักกันดีในชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า ปีกตึกตะวันตกหรือ “เวสต์วิง” คือพื้นที่ซึ่งกันไว้สำหรับเป็นห้องทำงาน ทั้งของประธานาธิบดี (ห้องรูปไข่) และรองประธานาธิบดี เรื่อยไปจนถึงคณะทำงานสำคัญทั้งหมด

“เวสต์วิง” ทั้ง 2 ชั้นนี่แหละคือสถานที่กำหนดนโยบายของประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในปัจจุบัน

Advertisement

การตัดสินใจในชั่วเสี้ยววินาทีที่เกิดขึ้นที่นี่บางครั้งบางคราวหมายถึงความเป็นความตายและความโกลาหลปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลก

“เวสต์วิง” ประกอบด้วย “ห้องทำงาน” ต่างๆ มากมาย กั้นแบ่งกันจนบางห้องเล็ก คับแคบและไม่มีแม้หน้าต่าง จนคนที่ไม่คุ้นเคย หรือใครก็ตามที่เพิ่งได้ตำแหน่งใหม่ๆ ถึงกับประหลาดใจ ทั้งหมดนั่นเป็นผลมาจากการ “ปฏิสังขรณ์” ครั้งใหญ่ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ที่ต้องการเพิ่มห้องทำงานให้กับคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบแต่ไม่ต้องการขยายปีกตึกทั้งหมดออกไป

สงครามกลางเมืองครั้งใหม่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปอยู่ในปีกตึกแคบ-ยาวแห่งนี้ และว่ากันว่า เป็นที่มาของอาการ “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” เชิงนโยบายของฝ่ายบริหารชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกา ที่ลมเพลมพัดไปตามกระแสบ้าง ตามใจกลุ่มชาตินิยมผิวขาวอยู่บ้างเป็นครั้งคราว จนแวดวงเศรษฐกิจ ธุรกิจ กระวนกระวายไปตามๆกัน

Advertisement

ซาราห์ เอลลิสัน หยิบเอาเรื่องทั้งหมดมาบอกเล่าเอาไว้ ฉายให้เห็นภาพ “ศึกใน” หนนี้แบบกระจะๆ ผมเลือกเอาบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง

ใครอยากอ่านแบบจุใจ ก็ต้องไปหา เวอร์ชั่นยาวเหยียดใน “แวนิตี้แฟร์” ฉบับประจำเดือนพฤษภาคมนี้มาอ่าน

รับประกันความสนุก ประมาณ ดรามาซีรีส์ หรือ เรียลิตี้ ทีวีโชว์ ยังไงยังงั้น

******

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ได้รับรู้จากการอ่านข้อเขียนชิ้นนี้ก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงใหม่อย่างยิ่งกับงานบริหารกิจการของรัฐ ยังขาดการเตรียมตัว เตรียมการอย่างยิ่งยวด ตัวอย่างเช่น ทรัมป์ถึงกับประหลาดใจ เมื่อได้รับทราบจาก บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีที่ตนสืบทอดอำนาจว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ “เวสต์วิง” ส่งมอบให้กับผู้นำใหม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ผลจากการนั้นก็คือ ในบรรดาคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวในเวลานี้ แทบไม่มีใครที่เป็น “คนคุ้นเคยที่รู้ใจ” ทรัมป์มาเนิ่นนาน อย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงแค่คนที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ ทรัมป์ ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่ราว 2 ปีก่อนหน้านี้เท่านั้นเอง

และส่งผลให้เกิดสภาพอย่างที่คนใกล้ชิดทรัมป์บอกกับ เอลลิสัน ว่า “เวสต์วิง” ในเวลานี้ “ไม่มีอะไรแน่นอน” พร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ความดังกล่าวมีข้อยกเว้นอยู่เพียงคนหรือสองคนเท่านั้น หนึ่งคือ “อีวานกา ทรัมป์” ลูกสาวคนโปรดของท่านประธานาธิบดี ซึ่งเข้ามารับหน้าที่ผู้ช่วยที่ “ไม่รับเงินเดือน” กับ “จาเรด คุชเนอร์” ผู้เป็นสามีของอีวานกา ที่มีตำแหน่งเป็นทางการว่า “ที่ปรึกษาอาวุโส” ของประธานาธิบดี

ที่เหลือนอกจากนั้นว่ากันว่า เป็นไปในทำนอง “ด้นสด” กันทั้งหมด ทำนองเดียวกับตัวประธานาธิบดีเอง

ที่ปรึกษาทั้งหลายของทรัมป์ ถ้าไม่มารวมตัวกันเข้า “โดยบังเอิญ” หรือด้วย “อุบัติเหตุ” ก็เกิดขึ้นจากความ “จำเป็น” ต้องเชื้อเชิญเข้ามาทั้งสิ้น

ทั้งหมด “แสดงความภักดีต่อเจ้านายอย่างเต็มที่เมื่ออยู่ต่อหน้ากล้อง แต่พ้นหน้ากล้องเมื่อไหร่ก็มีการกระซิบกระซาบกันขึ้นมาเมื่อนั้น ทั้งต่อตัวประธานาธิบดีเอง และ คู่แข่งบารมีด้วยกัน”

หลายๆคนในจำนวนคณะทำงานชุดปัจจุบันนี้ ก่อนหน้านี้ไม่เคยแสดงความเชื่อมั่นในตัวทรัมป์มาด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่นคนที่ถูกจับตามองมากที่สุดอย่าง “สตีฟ แบนนอน” ที่ถูกเลือกให้เป็น “หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์” ประจำทำเนียบขาว ซึ่งพยายามแสดงตัวเป็น “ผู้นำเชิงอุดมการ” สำหรับ “ทีมทรัมป์” มาโดยตลอด

แบนนอน เคยให้สัมภาษณ์กับแวนิตี้แฟร์นี่แหละว่า หลังจากที่เคยพินิจพิจารณาว่า จะใช้ใครระหว่าง ซาราห์ เพลิน, ริค แซนโทรัม, เบน คาร์สัน และ เท็ด ครูซ เขาเลือกที่จะลงเอยที่้รัมป์

นั่นคือ ความชัดเจนอย่างถึงที่สุดว่า อย่างดีที่สุด ทรัมป์ ก็เป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการดำเนินการ “ตามวิถีของตัวเอง” ของแบนนอน เท่านั้นเอง

หรือในกรณีของคนอย่าง “รีนซ์” พรีบัส ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวของทรัมป์ ก็ไม่ใช่คนที่เคยแสดงความภักดี หรือมั่้นใจในตัวประธานาธิบดีทรัมป์มาตั้งแต่แรก

ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรีบัส ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการระดับชาติของพรรครีพับลิกัน (อาร์เอ็นซี) เคยกระทั่งบอกกับคนสนิทรายหนึ่งว่า ทรัมป์ ไม่มีวันชนะการเลือกตั้งหนนี้ และถ้าแพ้จริง ก็ไม่ควรจะมาโทษว่า อาร์เอ็นซี เป็นต้นเหตุ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงรายหนึ่งบอกกับเอลลิสันว่า เคยพบเห็น ทั้งสตีฟ แบนนอน และ รีนซ์ พรีบัส คุยโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวนานเป็นชั่วโมงๆ

ปล่อยข่าวใส่ไฟซึ่งกันและกัน รวมทั้งเพื่อนร่วมงานใน “เวสต์วิง” คนอื่นๆอีกด้วย

******

คนที่เคยทำงานอยู่ในเวสต์วิง บอกว่า คณะทำงานที่นั่น สะท้อนตัวตนของประธานาธิบดีที่พวกเขารับใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ ข้อสังเกตที่ว่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งใกล้ชิดกับทรัมป์อีกบางรายตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งนับวัน เวสต์วิง ยิ่งกลายเป็นเหมือนการบริหาร “กิจการอสังหาริมทรัพย์ในครอบครัว” ของท่านประธานาธิบดีมากขึ้นทุกที

เหตุผลหนึ่งนั้นเป็นเพราะในขณะที่ผู้นำทีมอย่างประธนาธิบดีเป็นประเภท “มือใหม่หัดขับ” บรรดาที่ปรึกษาทั้งหลายของทรัมป์ยังเป็นพวกที่ “พกวาระซ่อนเร้นของตัวเองมาเต็มกระเป๋า” และ “พร้อมที่จะใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นๆรอบตัว” ได้ทุกเมื่อ

ทรัมป์ถูกเปรียบเปรยมากที่สุดกับอดีตประธานาธิบดีอย่าง โรนัลด์ เรแกน (จากท่าทีสบายๆไม่อินังขังขอบ ตามสไตล์ของดาราภาพยนตร์เกรดบี) และ ริชาร์ด นิกสัน (จากความโน้มเอียงไปทางอำนาจนิยม, หวาดระแวง และไม่สนใจสื่อมวลชนทั้งหลาย) แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายนี้บอกว่า อย่างน้อยที่สุด อดีตประธานาธิบดีทั้ง 2 คนนั้น ก็ยังมี “อุดมการจริงๆ” และมี “วาระแห่งชาติจริงๆ” อยู่

แต่ทั้งสองอย่างนั้น ไม่มีอยู่ในคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาดชุดนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลที่สำคัญเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายชนิด “กลับหลังหัน” ในหลายๆกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์ จากที่เคยหาเสียงเอาไว้ ตั้งแต่เรื่องการถล่มโทมทาฮอว์ก 59 ลูกใส่ฐานทัพอากาศของซีเรีย ที่เป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย เรื่อยไปจนถึงการประกาศหน้าตาเฉยเลิกตราหน้าจีนอย่างเป็นทางการว่าเป็นชาติที่บิดเบือนค่าเงิน” และการ “อุ้มพันธมิตร” ทั้งหลายในเอเชียในการเผชิญหน้ากับนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เป็นต้น

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเวสต์วิง ในยามนี้ก็คือ ทรัมป์ เริ่มดึง “คนในครอบครัว” เข้ามาใกล้ชิดมากขึ้น มอบภารกิจและบทบาทสำคัญให้มากขึ้น

จาเรด คุชเนอร์ นั่งประจำอยู่ในสำนักงานที่แม้จะไม่ใหญ่ที่สุดในเวสต์วิง แต่ใกล้กับ “โอวัลออฟฟิศ” มากที่สุด

อีวานกา ได้รับมอบหมายบทบาทให้อย่างเป็นทางการ ทั้งๆที่เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ตั้งแต่แรกว่า ขอเป็นเพียง “ลูกสาว” คนหนึ่งเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือ ใครก็ตามที่สนิทสนมหรือได้รับการชื่นชมยกย่องจากทั้ง จาเรด และอีวานกา ล้วนมีบทบาทมากขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ที่ถูกเขี่ยตกกระป๋องไป อย่างน้อยก็ในเวลานี้ก็คือ “สตีฟ แบนนอน” นั่นเอง

******

ผู้ใกล้ชิดบอกว่า ทรัมป์ ไม่เคยลังเลที่จะจัดการกับใครคนหนึ่งคนใดในคณะทำงานของตน คนแรกที่กลายเป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ก็คือ ไมเคิล ฟลินน์ ผู้ที่ทรัมป์เลือกด้วยตัวเองให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง แต่เมื่อสร้างความเสียหายจากการทำให้ทำเนียบขาวเข้าใจผิดเรื่องการติดต่อกับเอกอัครราชทูตรัสเซีย ฟลินน์ก็จำเป็นต้องไป

ในกรณีของสตีฟ แบนนอน ความขัดแย้งดูเหมือนยืดเยื้อและละเอียดอ่อนมากกว่านั้น ว่ากันว่า ก่อนที่จะมีการปลดแบนนอน ออกจากการเป็นหนึ่งคณะที่ปรึกษาด้านความมมั่นคง แบนนอน เคยเปรยเป็นเชิงข่มขู่กลายๆว่า หากไม่มีบทบาทในสภาความมั่นคงแห่งชาติก็อาจถอนตัวออกจากทำเนียบขาวไปเลย

แบนนอน กับ คุชเนอร์ เคยเข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยระหว่างการรณรงค์หาเสียง แต่เมื่อถึงคราวดำรงตำแหน่ง ฝ่ายแรกรู้สึกเหมือนถูกคุชเนอร์ “หักหลัง” เมื่อคุชเนอร์มองว่า อุดมการ “ขวาชาตินิยม” ของแบนนอนคือ “ข้อจำกัด” ของประธานาธิบดี และจัดการ “แก้เผ็ด” ด้วยการปล่อยข่าวทางลบต่อทั้ง อีวานกาและจาเรด คุชเนอร์

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ “ฟางเส้นสุดท้าย” ในการตัดสินใจลดบทบาทของแบนนอนจริงๆ ผู้ใกล้ชิดของทรัมป์ ระบุว่า ในขณะที่แบนนอน เชื่อว่า ตนเองคือ “มือหนึ่ง” ของทรัมป์ในการรับมือกับสื่อกระแสหลักที่มองทุกอย่างเกี่ยวกับทรัมป์เป็นลบในเวลานี้ ในความเป็นจริง ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ต้องการภาพลักษณ์ที่เป็นบวกมากกว่า ต้องการได้รับความชื่นชมหรือชื่นชอบจากสื่อมากกว่า และ แบนนอน คืออุปสรรคสำคัญของเรื่องนั้น

ในเวลาเดียวกัน สตีป แบนนอน ยังทำผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงที่สุด ด้วยการอ้างเครดิตจากการที่ทรัมป์ได้รับความนิยมสูงจนได้รับเลือกตั้งมาเป็นของตนเอง ในการให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ฉบับที่นำเอาแบนนอนขึ้นปกหรา ในขณะที่มีการพาดพิงถึงติดตลกว่า นี่คือ “ประธานาธิบดีแบนนอน”

ซึ่งกลายเป็นเรื่องตลกที่ไม่ตลกและเป็นที่มาของการถูกลดบทบาท จนแทบจะเหมือน “ไม่มีตัวตน” อยู่ในเวลานี้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image