“นารายา” สินค้าจากชุมชน

วาสนา ลาทูรัส กับผลิตภัณฑ์นารายา

ถ้าจะบอกว่าใน 23 หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ, ทำตามลำดับขั้น, ไม่ติดตำรา, ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด, ทำให้ง่าย, การมีส่วนร่วม, ประโยชน์ส่วนรวม

ขาดทุนคือกำไร, การพึ่งตนเอง, พออยู่พอกิน, ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน และทำงานอย่างมีความสุข

น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แบรนด์นารายาประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้ เพราะจุดเริ่มต้นของนารายาเกิดขึ้นเมื่อปี 2536 โดยสองสามีภรรยา (วาสิลิโอส-วาสนา ลาทูรัส) ด้วยการเช่าพื้นที่เพียง 2 ตารางเมตร ภายในห้างสรรพสินค้านารายณ์ภัณฑ์ เพื่อขายผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และอุปกรณ์ต่าง ๆ

โดยมีจักร 15 ตัว และมีพนักงาน 15 คน

Advertisement

แต่เมื่อเวลาผ่านมาเพียง 3 ปี ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอขายดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าไหม “วาสนา” มองเห็นโอกาสทางธุรกิจตรงนี้ แต่กระนั้น เธอยังไม่รู้ว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีขายทั่วไปตามภาคเหนือ และอีสาน

ตรงนี้จึงเป็นจุดคิดที่แตกต่าง ที่ทำให้เธอ และสามีศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งยังทำตามลำดับขั้นตอน และไม่ติดตำรา ด้วยการออกตระเวนไปตามชุมชนต่าง ๆ ทางภาคเหนือ และอีสาน เพื่อสำรวจดูว่ามีชุมชนไหนบ้าง มีฝีมือการออกแบบ ตัดเย็บผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสิ่งทอ

เพราะเขาต้องพึ่งชุมชน

Advertisement

ขณะเดียวกัน เขาต้องนำรายได้ไปให้กับชุมชนต่าง ๆ ด้วย เสมือนเป็นการทำงานร่วมกัน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน ทุกคนก็ได้ประโยชน์ส่วนรวม ที่สำคัญ เธอจะต้องวางแผนในการสร้างแบรนด์ด้วย

หาไม่เช่นนั้น สินค้าจะดาษ ๆ ทั่วไป

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ปี 2539 “วาสนา” จึงสร้างแบรนด์นารายา (NaRaYa) ขึ้นมา เพราะคำว่า “นารายา” เป็นภาษาฮินดู แปลว่า “พระนารายณ์” อันเป็นชื่อที่มีความหมายเป็นมงคล ทั้งยังเป็นชื่อที่ออกเสียงง่ายในหลายภาษาด้วย

“วาสนา” บอกว่าในการทำงานร่วมกับชุมชน เราต้องสอนเขาให้มีวิธีคิดแบบเถ้าแก่ จะต้องมีคณะกรรมการบริหาร มีเงินเดือน คิดต้นทุน ค่าแรง มีการแบ่งเงิน 5% เพื่อเข้ากองทุนของเขาเอง และต้องลงทุนเอง เพราะถ้าให้ทุกอย่างฟรี เขาจะไม่เห็นคุณค่า เราต้องสอนเขาให้เห็นคุณค่าของกระเป๋าที่เขาทำ

“ผ่านมานารายามีโรงงานตัดเย็บที่ร่วมงานกับชุมชนหลายแห่ง แต่มีกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ กลุ่มตัดเย็บกระเป๋าที่บ้านเชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ซึ่งบริษัทให้กู้เงินเพื่อลงทุนสร้างโรงงานขนาดเล็ก ซื้อเครื่องจักร โดยไม่คิดดอกเบี้ย ที่สำคัญ บริษัทจะจ่ายเงินให้ทุก 15 วัน ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ชุมชนจะนำไปใช้บริหารจัดการภายในกลุ่มธุรกิจของเขาเอง”

แต่กระนั้น “วาสนา” ยอมรับว่า จากการทำงานร่วมกับชุมชนทั้งหมด มีบ้างเหมือนกันที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้นำโครงการขาดธรรมาภิบาล เพราะเมื่อเขาได้เงินจากการส่งสินค้า กลับนำเงินไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ และมีบางรายที่เชิดหนีไป ดิฉันเองจึงต้องแก้ปัญหาตลอด

“หรือบางครั้งพวกเขาลางานเพื่อกลับไปสู่ภาคเกษตรกรรม จึงทำให้การทำงานหยุดชะงัก เราจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการนำงานไปให้เขาทำที่บ้าน ซึ่งถือว่าดีขึ้น เพราะเขาสามารถทำงานได้ตลอด อีกอย่างเราจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขาด้วย เพื่อให้ทำงานง่ายขึ้น และตอนนี้ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะหลายครอบครัวเริ่มหันมาสืบทอดการทำงานร่วมกับนารายา พวกนี้เป็นเจเนอเรชั่นที่สอง ตรงนี้ถือเป็นการสร้างอาชีพ โดยมีนารายาเป็นเหมือนเรือที่พาเขาขึ้นฝั่ง”

จนปัจจุบัน “นารายา” มีสาขาในประเทศไทย 24 สาขา และในปี 2560 จะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา ขณะที่สาขาในต่างประเทศมี 13 สาขา ทั้งยังมีการวางแผนขยายตลาดในฮ่องกง, มาเลเซีย, เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ อีกในอนาคต

นอกจากนั้นยังมีโรงงานทั้งหมด 4 แห่ง โดยโรงงาน 2 แห่งตั้งอยู่ที่ อ.ละลวด และ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ส่วนอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ ต.บางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี

โดยมีพนักงานประจำโรงงานทั้งหมด 3,000 กว่าคน ขณะเดียวกันก็มีการว่าจ้างแรงงานจากชนบทอีกกว่า 4,000 คนทั่วประเทศ เพื่อทำการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์นารายา, นารา บาย นารายา และลาลามะ บาย นารายา

“วาสนา” บอกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากชาวบ้านส่วนหนึ่ง เพราะเราฝึกชาวบ้านในการทอเสื่อ เย็บจักร และอื่น ๆ ทั้งยังมีความร่วมมือกับรัฐบาลในการสนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบทอีก เช่น การอบรมชาวบ้าน 45 วัน เพื่อสอนทำเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ และเมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรม หากผลงานมีฝีมือดี บริษัทจะรับซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
“ต้องบอกว่าเราสอนเขาให้เป็นมืออาชีพ ตั้งแต่การจัดตั้งโรงงานทอผ้าชุมชน การทำธุรกิจแบบครบวงจร การบริหารต้นทุนบุคคล โลจิสติกส์ และการตลาด เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพ จนมีรายได้ให้กับตัวเขาเอง และชุมชน เพราะเมื่อเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เขาจะมีกำลังใจทำงาน และพยายามสอนลูกหลานให้สืบต่อ เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องไปทำงานในเมือง ที่สำคัญ ยังทำให้เขาภูมิใจด้วยว่าผลิตภัณฑ์นารายาเกิดขึ้นจากฝีมือของพวกเขา”

ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะทุกวันนี้แบรนด์นารายา และแบรนด์อื่น ๆ ในเครือไม่เพียงสยายปีกไปต่างประเทศ และกลุ่ม CLMV หากยังมีการผนึกกำลังกับทีมไร่กำนันจุล ในการออกแบบลวดลาย และพัฒนาเส้นไหมร่วมกัน เพื่อต่อยอดสินค้าแบรนด์ลาลามะ บาย นารายา ที่มองเห็นโอกาสทางตลาด ด้วยการนำผ้าไหมอีสาน ผ้ามัดหมี่ มาพัฒนาเป็นกระเป๋า และเสื้อผ้า เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน และนักท่องเที่ยวที่ชอบอีกด้วย

สำคัญไปกว่านั้น “วาสนา” ยังให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์ด้วย เพราะบริษัทมีระบบตัวแทนจำหน่ายในแต่ละประเทศ ตรงนี้จึงเป็นโอกาสอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของนารายาทุกแบรนด์มีโอกาสเข้าถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น

เพราะตอนนี้ เธอได้สร้างคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ 20 ไร่ บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อรองรับการขยายตัวของดีมานด์สินค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการทำตลาดออนไลน์ที่น่าจะเติบโตต่อไปอีกแน่นอนในอนาคต

ฉะนั้น จะเห็นว่าจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ใช้ใจผสานใจ จนทำให้ธุรกิจดังกล่าวเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ได้มาจากการบริหารธุรกิจเก่งแต่เพียงอย่างเดียว หากยังใช้ความเข้าใจในวิถีของคนชนบท ที่เชื่อว่าเมื่อคุณมีความซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจต่อกัน คุณก็จะได้สิ่งเหล่านี้กลับไปทั้งหมดเช่นกัน

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นนานแล้ว ทั้งยังเป็น 1 ใน 23 หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย เพียงแต่ช่วงผ่านมาใครจะมองเห็นหรือเปล่าเท่านั้นเอง

แต่สำหรับ “วาสนา” เธอมองเห็น และรู้ด้วยว่าจะประยุกต์หลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจอย่างไร เพราะเมื่อเราอยู่ได้ เขาก็จะต้องอยู่ได้เช่นกัน

อันเป็นหลักคิด และหลักการทำงานของ “วาสนา” ผู้ที่สร้างแบรนด์นารายาจนขจรขจายไปในระดับโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image