เขาอยากอยู่ยาว

หนังสือจากคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ รธ.122/2559 ลงวันที่ 29 มกราคม 2559

เรื่อง ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ ลงนามกำกับโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ที่มีถึง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

โดยใน ข้อ 16 ระบุว่า

“ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่ ครม. ห่วงคือ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้เกิดความยุ่งยากโกลาหลจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวเหมือนก่อน พ.ค. 57 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือภายหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ครม. จึงเห็นว่าบางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา

Advertisement

คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในระดับหนึ่ง อย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน

และช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก

ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้”

Advertisement

ข้อความดังกล่าว แม้จะทำให้ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และในฐานะประธาน กรธ. ออกตัวว่า “ยังไม่เข้าใจ”

ต้องสอบถาม นายวิษณุ เครืองาม ก่อน ว่าที่ ครม. เสนอให้ กรธ. เขียนบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา มีความหมายอย่างไร

แต่ เมื่อมีการนำเรื่องนี้ไปสอบถามลูกศิษย์ อย่าง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายทหารคว่ำไปอย่างเจ็บช้ำก่อนหน้านี้

กลับมีคำตอบชัดเจน

“เขาอยากอยู่ยาว”

เขาคือใคร

ว่าที่จริง นายบวรศักดิ์ แย้มๆ มาแล้ว ครั้งที่ถูกคว่ำรัฐธรรมนูญ

โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558

นายบวรศักดิ์แถลงขอขอบคุณ สปช. ที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบทั้ง 105 คน

โดยเฉพาะ ขอบคุณ สปช. สายทหาร พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ สปช. สายทหารคนอื่น

นายบวรศักดิ์ใช้คำว่า “คนอื่นท่านก็ต้องฟังผู้ใหญ่ของท่าน เป็นธรรมดาและธรรมชาติ เราเข้าใจกัน เพราะขนาด กมธ.ยกร่างฯ 1 คน ซึ่งเป็นพลเอกหมาดๆ ยังงดออกเสียงเลย เพราะท่านต้องอยู่ในราชการต่อไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ”

ฟังตามนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า เป็น “ทหาร”

และยิ่งชัดเจนมากขึ้น

เมื่อนายบวรศักดิ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 25559 กรณี ครม. เสนอข้อแนะนำในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อ 16 ว่า

“นี่คือ สิ่งที่ผมเรียกว่าประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน และเรื่องนี้มีการเสนอมาตั้งแต่ยุคที่ผมร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเสนอมาด้วยวาจา ไม่เปิดเผยเป็นหนังสือ”

“ตอนนั้นไม่ได้ทำมาเป็นหนังสือโจ๋งครึ่มแบบนี้ …แล้วสื่อก็ด่าผมใหญ่โตว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ เรื่องนี้ต้องไปถามคนเซ็นข้อเสนอของ ครม. ฉบับนั้น ใช่ท่าน พล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) เซ็นไปไม่ใช่หรือ ก็ไปถามท่าน ตอนนั้นผมโดนมาหนักมาก”

หนักกระทั่งฉีกร่างรัฐธรรมนูญทิ้ง

อันนำมาสู่ประโยคอันลือลั่น ของ นายบวรศักดิ์ ขณะนี้

“ทำมาตั้งนานก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา แต่เสียใจแค่วันเดียว พอวันอาทิตย์กลับไปบ้านคิดได้ว่า”

“อ้อ เพราะเขาอยากอยู่ยาว”

มิต้องตีความใดๆ อีกแล้ว

เพราะชัดเจนว่า เขา ในคำพูดของนายบวรศักดิ์ คือ ทหาร และทหารนั้นก็คือ รัฐบาล

รัฐบาลที่ต้องการ ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกใจ

คือร่างที่ทำให้ “เขาอยู่ยาว”

เมื่อทำให้ “เขา ไม่ถูกใจ” ก็เป็นธรรมดาที่เขาจะไม่เอา

แม้คำพูดของนายบวรศักดิ์ ดังกล่าว จะมีคำชี้แจงจาก พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในทันควัน ว่า

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีและทุกคนในรัฐบาล ได้พยายามอธิบายต่อสังคมมาตลอด คือ เรามีวัตถุประสงค์เพียงไม่กี่ประการ

1. เราไม่ได้ต้องการจะอยู่ในบทบาทหน้าที่เช่นนี้ และไม่คิดจะสืบทอดอำนาจใดๆ แต่ปฏิบัติภารกิจไปตามภาระหน้าที่ที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งทุกอย่างก็ยังเป็นไปตามโรดแม็ป ไม่มีอะไรผิดเพี้ยน

2. นายกฯ ได้อธิบายอยู่เสมอว่า อยากให้คนไทยคิดย้อนกลับไปก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ซึ่งช่วงเวลานั้นเรามีประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ความเป็นประชาธิปไตยแบบนั้นมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลย จึงเป็นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทหารต้องเข้ามา

แต่ คำชี้แจงนั้น ดูเหมือนจะหยุดแรงสั่นสะเทือน “เขาอยากอยู่ยาว” ไม่ได้

เมื่อ ข้อ 16 ตามการเสนอของ ครม. ถูกคนกันเอง เปิดโปง เช่นนี้

จึงไม่แปลกที่จะมี ข้อสันนิษฐาน ต่อ การอยู่ยาว จากฝ่ายต่างๆ อย่างคึกคัก

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชี้ว่า นี่ย่อมสัมพันธ์กับการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นภาระผูกพันให้รัฐบาลในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องปฏิบัติตาม นั่นเอง

หากทำอะไรผิดยุทธศาสตร์แล้ว จะถูกฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ตั้งข้อสังเกต 2 ประการ

คือ 1.ต้องการกลไกอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างแท้จริงในระหว่างจัดเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเป้าหมายการสืบทอดอำนาจ

2. เป็นเป้าหลอกให้มีเสียงคัดค้าน สุดท้าย กรธ. ก็ไม่ดำเนินการเพื่ออธิบายว่ารับฟังความเห็นที่แตกต่าง เพราะโดยข้อเท็จจริงการคงอำนาจตามมาตรา 44 ไว้ให้หัวหน้า คสช. จนมีรัฐบาลชุดใหม่ ถือว่าตอบสนองความต้องการได้ครอบจักรวาลอยู่แล้ว ดังนั้น ส่วนตัวจึงเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเป้าหลอกมากกว่า

ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รู้สึกไม่สบายใจกับข้อเสนอ 16 ข้อ ของคณะรัฐมนตรี แต่จะไม่ไปวิจารณ์เรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือ เต็มใบ รวมถึงการสืบทอดอำนาจ

แต่มองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของ ครม. ต่อสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่

เราคาดหวังให้ คสช. และองค์กรต่างๆ ที่มาจาก คสช. นั้น ได้จัดทำระบบสร้างสภาวะแวดล้อม เพื่อให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิม แต่วันนี้กลายเป็นว่า ครม. เองยังไม่มั่นใจว่า ที่ทำมาทั้งหมดและที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่นี้ แก้ปัญหาได้หรือไม่

จึงเหมือนกับประวิงเวลา หรือยืดเวลาของบางสิ่งบางอย่าง ทำให้ประชาชนไม่ได้คำตอบ จึงรู้สึกว่าเป็นห่วงในเรื่องนี้

ส่วน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จี้ไปยัง กรธ. ไม่ควรที่จะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย โดยหลีกเลี่ยงการบัญญัติ 3 ส่วนคือ

1. สร้างกลไกใดๆ ให้มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

2. การสร้างองค์กรหรือกำหนดบทบาทให้เกิดอำนาจแฝงทั้งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

3. ความพยายามทำให้สังคมเป็นห่วงจะมีบทบัญญัติที่ส่อเจตนาสืบทอดอำนาจของ คสช.

“ข้อเสนอ ครม. ข้อ 16 ที่ให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ระยะ ถือเป็นข้อที่ กรธ. ต้องระมัดระวัง และไม่บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะห้ามคนคิดว่าเป็นการต่ออำนาจไม่ได้” นายองอาจ ชี้

ด้าน นายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคไทยรักไทย ชี้ว่า ข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อ 16 ที่ให้มีช่วงเฉพาะกิจ-เฉพาะกาล ยกเว้นหลักเกณฑ์บางประการ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสถานการณ์นั้น คาดหมายว่าน่าจะมีการเพิ่มบทเฉพาะกาลให้มีเนื้อหาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เลือกตั้งปี 2522 คือ

1. ส.ส. ลงอิสระได้ 2.มี ส.ว. แต่งตั้ง 3.ข้าราชการเป็นนักการเมืองได้ คือเป็น ส.ว. รัฐมนตรี และนายกฯ 4.นายกฯ เป็นโดยการเลือกของรัฐสภา คือ ส.ส. บวก ส.ว. เท่ากับว่า ส.ว. เลือกนายกฯ ได้เช่นเดียวกับ ส.ส. จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในการลงมติเลือกนายกฯ โดยรัฐสภา เพราะ ส.ว .มี 200 คนอยู่แล้ว หากผนึก ส.ส. อีกเพียง 150 ก็เท่ากับครึ่งหนึ่งของรัฐสภาแล้ว

สามารถเลือก “นายกฯ” ที่ต้องการ หรือนายกฯ คนนอกได้

“เชื่อว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคสนใจที่จะร่วมสนับสนุนและเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเสียงข้างมาก กลายเป็นฝ่ายค้านไป” นายวิวรรธนไชยระบุ

ข้อสมมุติฐานข้างต้น ล้วนเป็นไปในเชิงร้ายทั้งสิ้น

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาอธิบายถึงข้อเสนอข้อที่ 16 ว่า

ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2 ขยัก แต่จะเป็นบทเฉพาะกาล ที่อาจมีคณะอะไรขึ้นมาดูแล การปฏิรูปในช่วงเวลาแรกที่เปลี่ยนผ่าน

เมื่อถึงเวลาสถานการณ์ปกติแล้ว ทั้งหมดก็กลับมาที่เดิม

โดยช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “ภายใน 5 ปี ถ้าทุกปีดีขึ้น ก็มีการผ่อนผัน ลดลงไป และเข้าสู่กลไกปกติ”

ฟังตามคำอธิบายนี้แล้ว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คงต้องนำข้อเสนอนี้ไปแปรให้เป็นรูปธรรม แล้วเขียนในรัฐธรรมนูญ

ออกมาเป็นอย่างไร มีเหตุผลฟังขึ้นหรือไม่ และจะผลักดันไปได้หรือเปล่า

คงต้องดูกันต่อไป

แต่ไม่น่าจะง่าย เพราะแค่เวลาคร่าวๆ ที่รัฐบาล คสช. จะอยู่ไปจนถึงเลือกตั้ง ก็ไม่น่าจะพ้น 3 ปี บวกกับระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอีก 5 ปี ก็ยาวไปถึง 8 ปีแล้ว

ยังไม่นับรวมกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องเดินตามอีก 20 ปี

ลากกันไปขนาดนั้น ชาวบ้านจะยอมหรือไม่

เพราะคำพูดเปิดไต๋ของนายบวรศักดิ์ มันสะกิดใจตลอดเวลา

“เขาอยากอยู่ยาว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image