‘คนท่าปลา’แฉนักการเมือง-นักธุรกิจเร่งดันเส้น 117 เชื่อมไทย-ลาว เพราะกว้านซื้อที่รอแล้ว

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 นายชุมพล ร่วมสุข นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) ร่วมจิต อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างและตัดถนนเชื่อมจุดผ่านแดนถาวรช่องภูดู่ ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ เชื่อมการค้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ที่แขวงไซยะบุลี โดยขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะทำการตัดถนนสาย 117 หรือจากสี่แยกป่าขนุน ต.คุ้งตะเภา อ.เมืองอุตรดิตถ์ หรือถนนสาย 11 อุตรดิตถ์-พิษณุโลก โดยให้เหตุผลว่าเป็นถนนตรง ไม่มีทางขึ้นและโค้งที่อันตรายบนเขาสูง ไม่มีบ้านเรือนประชาชนมากเท่าใดนักทั้ง 2 ข้างทาง ซึ่งจะทำให้ระบบการขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็วมากกว่าเส้นอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่มีธงอยู่แล้วด้วยประโยชน์หลายอย่างที่ทับซ้อนอยู่ของผู้ผลักดัน

นายชุมพลกล่าวว่า เหตุผลที่ทำไมหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ถึงมีความพยายามที่จะทำการผลักดันให้กระทรวงคมนาคมตัดสินใจและสรุปว่าจะดำเนินการก่อสร้างถนสาย 117 เพื่อเชื่อมการค้ากับ สปป.ลาว ด้วยเหตุผลลึกๆ คือทราบข้อมูลเป็นการภายในจากหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบโดยตรงว่าจะมีการตัดถนนสาย 117 เชื่อมกับด่านภูดู่กับ สปป.ลาว แต่ได้มีนักการเมือง พ่อค้า และคหบดีใน จ.อุตรดิตถ์ ไปทำการกว้านซื้อที่ดินริมถนนในราคาที่ถูกจากชาวบ้านที่ถูกปิดบังข้อมูลเอาไว้ ที่ดินจึงมีราคาค่อนข้างถูก แต่หลังจากเปลี่ยนมือมาเป็นของนักเก็งกำไรแล้วจะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงพยายามนำเสนอข้อมูลให้กับส่วนราชการในที่ประชุม เพื่อให้ตัดสินใจเลือกเส้น 117 เป็นเส้นตัดถนน

“ไม่อยากให้กระทรวงคมนาคมเชื่อหรือฟังข้อมูลของส่วนราชการหรือหน่วยงานใน จ.อุตรดิตถ์นำเสนอเข้าไป บางหน่วยงานได้รับผลประโยชน์โดยไม่คำนึงว่าผลประโยชน์ที่จะตามมากับถนนสาย 117 นั้นมีอะไรบ้าง มีข้อดีข้อเสีย หรือคุ้มค่ากับการลงทุน ประโยชน์ที่จะตกอยู่กับคนในท้องถิ่นจะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะข้าราชการที่สามารถตัดสินใจได้อยู่เพียงไม่กี่ปีก็โยกย้ายออกไป หรือบางรายก็เกษียณแล้วไปอยู่จังหวัดอื่น ดังนั้นกระทรวงคมนาคมควรที่จะทบทวนหรือลงมาหาข้อมูลโดยตรง ไม่ควรรับฟังหน่วยงานในพื้นที่มากจนเกินไป เนื่องจากการประชุมแทบจะทุกครั้งจะเป็นแบบเตรียมกันมาพวกมากลากไป ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่ถูกนำเสนอให้ได้รับทราบในที่ประชุม หากกระทรวงคมนาคมต้องการให้ประโยชน์ตกอยู่ที่ประเทศไทยและคนในชุมชนก็ควรยกเลิกโครงการถนนสาย 117” นายชุมพลกล่าว

นายกเทศมนตรีตำบลร่วมจิตกล่าวว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมถนนวาย 1045 หรือสายตั้งแต่ทางแยกวังสีสูบ ต.งิ้วงาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ หรือถนนสาย 11 ที่ผ่าน ต.งิ้วงาม ต.ผาจุก ต.บ้านอ่าน ต.วังดิน ต.หาดงิ้ว อ.เมือง ผ่าน ต.ร่วมจิต ต.ท่าปลา ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา สิ้นสุดที่สามแยกสักใหญ่ที่ ต.แสนตอ อ.น้ำปาด โดยทั้ง 2 ข้างทางจะมีบ้านเรือนประชาชนซึ่งสามารถก่อสร้างถนนแบบ 4 ช่องทางจราจรได้ เพราะมีการกันที่และเป็นที่ดินทางหลวงชนบท จึงเหมาะที่จะตัดถนนเส้น 1045 เป็นเส้นที่เชื่อมกับด่านภูดู่เข้าสู่ สปป.ลาว น่าจะมีความเหมาะสมที่สุด เพราะบริษัทที่ปรึกษาด้านออกแบบและก่อสร้างถึง 3 บริษัท ต่างก็สรุปไปในทิศทางเดียวกันว่าคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

Advertisement

“หากเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่จะได้และตกอยู่ในประเทศไทยและคนในท้องถิ่นคือ ด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจของชุมชน หากตัดผ่านเส้น 1045 อย่างน้อยจะมีนักท่องเที่ยวซึ่งรู้จักและคุ้นเคยเส้นทางนี้ดีอยู่แล้ว ก็จะแวะท่องเที่ยว จับจ่ายสินค้าของคนในชุมชน อย่างน้อยโอกาสที่ความเจริญจะตกอยู่กับคนท่าปลาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่เสียสละอย่างแท้จริงที่ยกพื้นที่อุดมสมบูรณ์ให้กับการสร้างเขื่อน เพื่อสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง แต่ทุกวันนี้คนท่าปลาได้อะไรบ้างจากการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ศิลปวัฒนธรรมของคนท่าปลาก็จะมีโอกาสได้โชว์และอวดสายตานักท่องเที่ยว อีกทั้งคนท่าปลาไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร มีอย่างเดียวคือจะต้องขายผลิตภัณฑ์จากชุมชนเท่านั้น” นายชุมพลกล่าว

นายชุมพลกล่าวด้วยว่า หากตัดถนนสาย 117 ประโยชน์ที่จะได้ไม่ใช่ตกอยู่ที่ประเทศไทย จ.อุตรดิตถ์ หรือชาวบ้านร้านค้าในท้องถิ่น แต่ประโยชน์จะตกอยู่ที่นักการค้าการขายของประเทศพม่า ประเทศจีน และ สปป.ลาว เพราะตราบใดถ้าการคมนาคมดี สะดวกสบาย ระบบการขนส่งสินค้าของ 3 ประเทศก็จะสะดวกยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็จะเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่มีสินค้าที่เป็นที่ต้องการของ 3 ประเทศ แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยเสียอีกที่จะต้องบริโภคสินค้าของประเทศเหล่านี้โดยปริยาย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำเสนอข้อมูลความจริงมาเปิดเผยกัน ไม่ใช่มัวแต่ปกปิดเก็บข้อมูลไว้แล้วรอดูความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง วันนั้นจะมีใครรับผิดชอบบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image