ชาวแม่เมาะ ยังผวา โรงไฟฟ้าเพิ่มผลิต

นับจากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถูกล้มโต๊ะเวทีรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (Public Scoping) หรือรู้จักในชื่อ “ค.1” ของโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะเป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) เพื่อขอขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 55 เมกะวัตต์ รวมเป็น 655 เมกะวัตต์

การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนั้น เป็นไปอย่างกะทันหัน ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่เมาะ เพิ่งทราบไม่กี่วัน ทำให้เกิดการปลุกระดมมวลชนคนแม่เมาะออกมาชุมนุมคัดค้าน ตั้งเวทีหน้าวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ นำรถมาขวางทางเข้าที่ประชุมรับฟังความเห็น จนทำให้เวทีดังกล่าวร้อนระอุขึ้นทันที ขณะเดียวกันมีการเปิดห้องประชุมระหว่าง กฟผ. และชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมคัดค้านไม่ให้เปิดเวที ที่จะให้ผ่านการประชุม ค.1 ไปได้ โดยชาวบ้านให้เหตุผลว่าไม่ทราบเรื่อง และมีการเชิญคนมาประชุมเฉพาะคนกันเอง อาจไม่โปร่งใส่

โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ คือ การขอขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในขั้นตอนรวบรัด พร้อมเรียกร้องให้ กฟผ.ยุติการเปิดเวทีดังกล่าวออกไปก่อน จึงนำไปสู่การล้มโต๊ะเวทีดังกล่าวในที่สุด เพื่อให้ กฟผ.ไปสร้างความเข้าใจให้ครอบคลุมพื้นที่ ก่อนกำหนดเวทีอีกครั้ง รวมถึงให้ดำเนินงานศึกษาผลกระทบต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน

หลังการล้มเวทีประชุมผ่านไปนานกว่า 4 เดือน ล่าสุด กฟผ.ออกประกาศเชิญชวนประชาชนชาวลำปาง โดยเฉพาะชาว อ.แม่เมาะ ผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (ค.1) เข้าร่วมเวทีในวันที่ 29 เมษายน เวลา 08.00-12.00 น. ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ

Advertisement

ทั้งนี้ ทาง กฟผ.ยังให้บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งนี้เหมือนเดิม หลังจากครั้งก่อนที่ต้องถูกยกเลิกไป

การยกเลิกเวทีครั้งนั้น ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่ให้ทางบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการเชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุม แต่ไม่ครอบคลุม ทำให้ในครั้งนี้ กฟผ.ต้องลงมาช่วยประสานงาน เพื่อให้การแจ้งข่าว และสร้างความเข้าใจเป็นไปอย่างทั่วถึง

ที่ผ่านมา กฟผ.ได้เร่งลงพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องที่จะขยายกำลังการผลิต โดยให้เหตุผลว่า การที่ กฟผ.จะขยายกำลังการผลิตอีก 55 เมกะวัตต์ รวมเป็น 655 เมกะวัตต์ เนื่องจากผลการคำนวณทางเทคนิค และการจัดซื้อจัดจ้างทำให้ได้โรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 655 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งการใช้ถ่านหินมาผลิตกระแสไฟฟ้าที่น้อยกว่า และมีระบบที่จะสามารถคลุมและดักจับปากปล่องได้ดีกว่ามาก

Advertisement

ดังนั้น กฟผ.เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในเรื่องต้นทุนค่าเชื้อเพลิง จึงมีการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งตามกฎหมายต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ จึงต้องเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ในการขอขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 55 เมกะวัตต์ก่อนวันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวจะมาถึง กลิ่นอายแห่งความไม่เห็นด้วย ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสงสัย ไม่มั่นใจในผลการศึกษา การขอขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทดแทน จะมีความโปร่งใสและมั่นใจได้ว่าต่อไปพื้นที่ อ.แม่เมาะ จะไม่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนในอดีต จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

รวมทั้งความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของ กฟผ. ที่ขณะนี้ได้สร้างโรงไฟฟ้าทดแทนไปแล้วกว่าร้อยละ 40 ทำให้ประชาชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ยังหวั่นเกรงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา จึงต้องการให้ชะลอการประชุมรับฟังความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ออกไปก่อน เพื่อฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ น.ส.ณัฎฐศศิ หมูแก้วเครือ ทนายความใน อ.แม่เมาะ พร้อมชาวบ้านใน อ.แม่เมาะ 11 คน ยื่นเรื่องไปยังศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราวในการระงับการเปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่เรียกว่า ค.1 โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7

โดยกลุ่มชาวบ้านดังกล่าวมองว่าการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใน จ.ลำปาง เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร และมองว่าการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน ทาง กฟผ.ทำไม่ถูกต้อง ที่มีการขอขยายกำลังการผลิตขึ้นมาอีก 55 เมกะวัตต์ ทั้งที่ กฟผ.ดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้ว และมีการเดินหน้าเร่งสร้างอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความไม่โปร่งใสต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงหวังที่พึ่งเดียว คือขอความเมตตาจากศาล เพื่อให้ระงับการประชุมดังกล่าวออกไปก่อน

ถึงแม้ กฟผ.จะประกาศว่าจะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ป้องกัน และควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดย กฟผ.ยืนยันว่าจะเป็นระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดนับตั้งแต่มีการดำเนินงานมา แต่เนื่องด้วยในอดีตชาวบ้านยังฝังใจที่ต้องประสบพบเจอความบอบช้ำจากเหตุการณ์ที่เลวร้าย จึงไม่อาจเลิกวิตกได้ว่า ต่อไป อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง แห่งนี้ จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอดีตหรือไม่ ที่ทำให้ชาวบ้านที่เคยเจ็บป่วยต้องมานั่งคิดอีกครั้ง ซึ่งไม่เคยอุ่นใจ แต่กลับหวาดระแวงว่าโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7 โรงไฟฟ้าแม่เมาะแห่งนี้จะส่งผลดีหรือร้ายต่อคนแม่เมาะกันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image