ประวัติศาสตร์ไทย ได้จากพงศาวดารแบบอาณานิคม : สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น” โดยเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่คนชั้นนำของไทย สร้างสำนึกให้คนไทยทุกระดับยืดอกยกตนข่มท่านอย่างภาคภูมิและสง่าผ่าเผย

แท้จริงแล้วไทยไม่ตกเป็นอาณานิคม “อย่างเป็นทางการ” แต่ในทางสากลล้วนรับรู้ทั่วไปว่าไทยเป็นอาณานิคมอย่าง “ไม่” เป็นทางการ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกไว้ในบทความเรื่องภาวะอาณานิคม (มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 4-10 พฤศจิกายน 2559 หน้า 30) มีสาระสำคัญว่าไทยอยู่ใต้ผลกระทบของ “ภาวะอาณานิคม” ไม่ต่างอะไรจากประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกที่ไทยรับเข้ามา ถูกกำหนดจากเงื่อนไขของเศรษฐกิจแบบอาณานิคม, การเมืองแบบอาณานิคม, สังคมแบบอาณานิคม

รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ล้วนเป็นแบบอาณานิคม ตามที่ เบน แอนเดอร์สัน ค้นคว้าวิจัยพบหลักฐานอย่างละเอียดถี่ถ้วนจำนวนมาก ในหนังสือชุมชนจินตกรรม (ภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2552)

Advertisement

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ที่ครูอาจารย์สถานศึกษาบังคับให้ท่อง เพื่อกล่อมเกลาให้จำ (บางเรื่อง) ทำให้ลืม (หลายเรื่อง) จึงเป็นประวัติศาสตร์ไทย (ได้จากพงศาวดาร) แบบอาณานิคม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย เป็นพิพิธภัณฑ์แบบอาณานิคม (เมื่อศตวรรษที่แล้ว) จึงไม่ต้องประหลาดมหัศจรรย์ใจที่ไปดูพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ไม่ว่าในจังหวัดไหน?) แล้วไม่รู้เรื่อง

เพราะพิพิธภัณฑ์แบบอาณานิคม (และแบบหลังอาณานิคม) ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองคนพื้นเมืองในไทย แต่ทำไว้ตอบสนองความต้องการของชาวตะวันตกเจ้าอาณานิคม และคนชั้นนำของไทย โดยเก็บของเก่ามีค่าที่เรียกศิลปวัตถุของคนชั้นสูง แต่ไม่มีสิ่งของเกี่ยวข้องความทรงจำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสู่ประชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน 2475

Advertisement

ขณะเดียวกัน ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม กับกระทรวงศึกษาธิการ ตำหนิติเตียนนักเรียนและเยาวชน รวมทั้งสามัญชนคนทั่วไปว่าไม่รักชาติ ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของชาติเพราะไม่เข้าหาความรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยไม่สำรวจตนเองว่าพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นชวนเข้าไปหาความรู้หรือไม่?

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใกล้สนามหลวง กรุงเทพฯ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image