วงเสวนา ชี้ สื่อยุคดิจิทัล เสี่ยงละเมิดสิทธิผู้อื่น นักกฎหมาย เตือนระวังผิด พ.ร.บ.คอมพ์

รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Digital Media (fx) Privacy ใคร? ที่ถูกละเมิด” ซึ่งจัดโดยนักศึกษา ปริญญาโท สาขาวิชาการสื่อสารการตลาดและแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ขอบเขต และข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิของบุคคลทั่วไปและบุคคลสาธารณะผ่านสื่อดิจิทัล ที่ห้องสัจจาเกตุทัต 1 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันจันทร์ที่24 เมษายน 2560 เวลา 13.30 -16.00 น.

โดยมี แปม ศิลปินวงไกอา หรือ นางสาว ศิรภัสรา สินตระการผล หน้ากากโพนี่ จากรายการ The Mask Singer เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ พร้อมเปิดเผยประสบการณ์การเข้าร่วมประกวดร้องเพลงในรายการ The Mask Singer หลังเปิดหน้ากากว่ามีกระแสข่าวต่างๆเกิดขึ้น มีทั้งชื่นชม ให้กำลังใจ แต่ก็มีหลายคนวิจารณ์ว่าไม่รู้จักตัวเอง จึงรู้สึกเฟลเล็กน้อย และคนรอบข้างก็ได้รับผลกระทบจากบุคคลที่มาแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียที่มีบางคนต่อว่าด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม

ด้าน แตงโม นิดา ภัทรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อดัง ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ภายในงานสัมมนา ว่าที่ผ่านมาเคยถูกบุคคลอื่นละเมิดโดยการบิดเบือนคำพูด และการกระทำอื่นๆ หลายครั้ง แต่ด้วยตัวเองเป็นบุคคลสาธารณะก้าวเข้ามาอยู่ในสายอาชีพนี้ยิ่งเราถูกเหยียบลงเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้เมล็ดพันธุ์เรางอกงามมากขึ้น และสิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ก็อย่าเก็บขยะมาใส่สมองของเรา แต่เห็นว่าสื่อยุคดิจิทัล เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากใครๆก็เป็นสื่อได้ และถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ และยังใช้เป็นเกราะป้องกันการกระทำความผิดด้วย

ขณะที่ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ รองอธิการบดีสายงานสื่อสารแบรนด์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าในฐานะผู้ผลิตนักสื่อสารมวลชน ก็ต้องการให้คนที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงด้านอื่นๆ เน้นเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพ เนื่องจากสื่อสารมวลชนจะต้องควบคู่มากับความรับผิดชอบ แม้ว่าขณะนี้สังคมจะอยู่ในยุคดิจิทัลมีการแข่งขันกันสูงก็ตาม และส่วนตัวยังต้องการให้มีการศึกษาเรื่องนี้ทุกๆคณะการศึกษา

Advertisement

ด้านอาจารย์วันชัย สอนศิริ นักกฏหมายชื่อดัง หนึ่งในวิทยากร ระบุว่า หากมีบุคคลกล่าวหาส่วนตัวจะต้องย้อนมาดูตัวเองว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหาจริงไม่ หากเป็นความจริงก็นำมาปรับปรุงแก้ไข แต่หากผู้ที่กล่าวหามีเจตนาที่ต้องการให้เสื่อมเสียก็สามารถใช้หลักกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของบุคคลว่าด้วยหลักความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนสามารถ คิด อ่าน เขียน แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น และหากทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลอื่นได้รับการดูถูกถือว่าเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท หากมีการกล่าวหาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก็เข้าข่ายการดูหมิ่นซึ่งหน้า มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาท คือการกล่าวหาบุคคลอื่นต่อไปยังบุคคลที่สาม ทำให้ผู้รับฟังดูหมิ่นเกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากนำไปแสดงต่อในโซเชียลมีเดีย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และยังเข้าข่ายความผิดทางแพ่งฐานละเมิดด้วย ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีแพ่งได้ และความผิดยังรวมไปถึงบุคคลที่แชร์ต่อ เผยแพร่ ขยายความต่อ และกดถูกใจด้วย

นอกจากนี้อาจารย์วันชัย ยังระบุว่า หากมีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะ และมีการพิสูจน์ได้ว่าเรื่องที่กล่าวถึงเป็นเรื่องจริง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน แม้ว่าจะเข้าข่ายความผิดอาจจะไม่ต้องรับโทษซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดีความ ส่วนบุคคลทั่วไปและบุคคลสาธารณะ สามารถแยกโดยหลักการว่าบุคคลใดก็ตามที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น ทั้งการพูด การกระทำ การปฏิบัติ การแสดงออก ที่ส่งผลถึงบุคคลอื่นถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image